ม.ขอนแก่น “เดินตามรอยเท้าพ่อ ถักทอความฝัน สร้างสรรค์สังคม”
กลุ่มนักศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ ชุมนุมวิทยเศรษฐกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท ภายใต้ชื่อโครงการค่ายเศรษฐศาสตร์สู่สังคม ครั้งที่ 1ตามรอยเท้าพ่อ ถักทอความฝัน สร้างสรรค์สังคม เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ ปีที่ 6มูลนิธิโกมลคีมทองร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นที่ชุมชนบ้านห้วยเสือเต้น หมู่ 3 และหมู่ 16 ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งการจัดกิจกรรมจะอยู่ในรูปแบบของค่ายอาสาพัฒนา นักศึกษาใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนร่วมกับชาวบ้าน โดยพักอาศัยแบบโฮมสเตย์ มีพ่อฮักแม่ฮักเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอดจนการร่วมทำกิจกรรมผ่านการเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน พร้อมกับการเก็บ ข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ชุมชน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมย่อยประกอบด้วย กิจกรรมรู้จักมักคุ้น ผักลอยฟ้า ฝึกสุขภาพจิตสุขภาพกาย ด้วยโยคะ กีฬาซ่าท้ากึ๋น อโรคาปาร์ตี้ คืนป่าให้ชุมชน พัฒนาชุมชน ดนตรีสร้างสุข ตามรอยเกษตรกรรม มูลมังอีสาน วิถีแห่งการพัฒนา ชิงช้าสวรรค์สัญจร ตลาดนัดสร้างสุข กีฬาฮาเฮ และบายศรีสู่ขวัญ
หมู่บ้านห้วยเสือเต้น หมู่ 3 และหมู่ 16 ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่สามารถสร้างความเข้มแข็ง มีการบริหารจัดการภายในชุมชนที่ดี ผู้นำมีความเข้มแข็ง มีการประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อพัฒนาชุมชน ก่อให้เกิดความร่วมมือในระหว่างชุมชน จนสามารถเป็นชุมชน ที่สามารถพึ่งตนเอง สภาพภายในชุมชนประชาชนช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน อยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข จึงนับว่าเป็นชุมชนหนึ่งที่มีความโดดเด่นน่าสนใจในการศึกษา
นายสุรพงษ์ วงษ์ปาน ประธานโครงการกล่าวว่า “เป้าหมายหลักค่ายคือ การให้นักศึกษาซึ่งถูกเรียกว่า ปัญญาชน ได้ลองสัมผัสกับวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน ผ่านการศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรมของชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพควบคู่กับการสังเคราะห์ วิเคราะห์และถอดบทเรียนจากประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน
ซึ่งจากการใช้ชีวิตอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ตลอดเวลากว่า 7วัน ทำให้ทราบว่า บ้านห้วยเสือเต้นเป็นหมู่บ้านที่มีความโดดเด่นในหลายด้าน ได้แก่ ด้านความพอเพียงในชุมชน ซึ่งแม้จะเป็นชุมชนที่อยู่ติดกับเมืองคืออำเภอน้ำพอง แต่มีการจัดระบบของการอยู่ร่วมกันในชุมชนด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเกื้อกูลกัน ประชาชนยึดหลักความพอเพียง มีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน การทำการประมงน้ำจืดที่เป็นมิตรกับลำน้ำพอง มีการปลูกผักสวนครัวในหมู่บ้าน ที่สามารถลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ อีกทั้งยังเป็นผักที่ปลอดสารพิษ
ในด้านเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นชุมชนที่มีการบริหารจัดการภายในชุมชนได้เป็นอย่างดีและมีความเข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เช่น การทอเสื่อ การแปรรูปถั่วลิสงภายใต้ตราสัญลักษณ์ “เสือยิ้ม” การตั้งโรงสีชุมชน การจัดการปุ๋ยร่วมกันของคนในชุมชน การรวมกลุ่มเพาะเห็ด และการผลิตน้ำดื่มในชุมชน
อีกทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม ชุมชนแห่งนี้มีศิลปินท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้านในหลายแขนง ทั้งการนวด หมอยาสมุนไพร หมอสู่ขวัญทำขวัญและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงการขับร้องสรภัญญะ และการจ่ายผญา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงอยู่คู่กับชุมชนแห่งนี้ และนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง”
น.ส.นิภาวรรณ ชลพอง พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลน้ำพอง ในฐานะพยาบาลชุมชนกล่าวว่า”เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมากๆ เห็นนักศึกษาชาวค่ายเศรษฐศาสตร์สู่สังคม มาช่วยชาวบ้านปลูกผัก พาออกกำลังกาย ทำกิจกรรมให้คนในชุมชนได้ยิ้ม หัวเราะ มีความสุข ขอขอบคุณที่มาทำสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมายกับสังคมแบบนี้”
นางจันทร์เพ็ญ เที่ยงตรงจิตรแม่ฮักที่ให้การดูแลนักศึกษากล่าวถึงความประทับใจว่า “แม่รู้สึกมีความดีใจที่ลูกนักศึกษามาออกค่ายอยู่บ้านของแม่ๆ ประทับใจหลายอย่าง อยู่ด้วยกันหลายวัน รู้ใจรู้รัก เมื่อจากกันก็คิดถึง วันจากกันก็ใจหาย”
ค่ายเศรษฐศาสตร์สู่สังคม ครั้งที่ 1 ตาม รอยเท้าพ่อ ถักทอความฝัน สร้างสรรค์สังคม นอกจากจะก่อให้เกิดผลเชิงประจักษ์ต่อชุมชนแล้ว ยังได้สร้างจิตสาธารณะและเปลี่ยนแปลงความคิดนักศึกษาอีกด้วย
น.ส.มนทิรา ภูบุตรตะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่เข้าร่วมกิจกรรมกล่าวว่า “เป็นค่ายที่ดีที่สุดและประทับใจมากที่สุด มาค่ายนี้ได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง จากคนที่ทำอะไรไม่เป็น จากคนที่ไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าแสดงออก ไม่รู้อะไรในบางเรื่อง ก็ได้รู้ ทำได้ กล้าทำ เปลี่ยนเป็นอีกคนเลยค่ะ” เช่นเดียวกับ
นายยงยุทธ กิตติฤทธิชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 หนึ่งในชาวค่ายที่กล่าวว่า “รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยไปออกค่ายที่ไหนเลย ค่ายนี้จึงเป็นค่ายแรกของผม พอได้มาอยู่ค่ายนี้แล้วรู้สึกสนุกกว่าที่คิด ทีมงานบ้าน the star ทุ่มเทกับงานมาก ผมขอขอบคุณบ้าน the star ที่เสียสละเวลาจัดเตรียมงานให้เราทำกิจกรรมในแต่ละวัน มาอยู่ค่ายนี้คุ้มค่ามาก ได้ทั้งความรู้ การพบปะพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งแม้จะคนละภาษา แต่ก็เป็นชีวิตที่สนุกและมีคุณค่ามากๆ”
อาจารย์ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ อาจารย์ที่ปรึกษาชุมนุมวิทยเศรษฐกิจกล่าวว่า “การออกค่ายครั้งนี้ คงจะเป็นโอกาสที่นักศึกษาได้ใช้วิชาความรู้จากที่ได้เล่าเรียน ในการประยุกต์ใช้กับสภาพจริง ตลอดจนการได้เรียนรู้และเข้าใจสังคมที่เป็นอยู่ มากกว่าการเรียนหรือมองในห้องแคบๆ สุดท้ายแล้ว นักศึกษาจะสามารถหาคำตอบได้เองว่า ตอนนี้เราเรียนอะไร เรียนไปทำไม เรียนไปเพื่ออะไร และต่อไปเราควรจะทำอย่างไร”
การออกค่ายครั้งนี้ คงจะเป็นเครื่อง การันตีว่า ชีวิตนักศึกษาทุกคนในครั้งนี้ จะไม่ได้เพียงแค่กระดาษแผ่นเดียวที่เรียกว่า ปริญญาบัตร อย่างแน่นอน
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง