ม่วนซื่นอีสาน “ตัวหนัง” ดงบัง
สืบสานวัฒนธรรมด้วยเยาวชน
หากกล่าวถึงหนังตะลุง ใครหลายคนคงนึกถึงการแสดงประจำถิ่นของภาคใต้ ไม่ค่อยมีใครทราบว่าหนังตะลุงเดินทางไกลเข้ามาถึงภาคอีสาน ใช้แสดงในงานมหรสพต่างๆ เหมือนภาคใต้
ที่นี่เรียกกันว่า “หนังบักตื้อ” หรือ “หนังประโมทัย” ศาสตร์และศิลป์อีกแขนงหนึ่งของชาวอีสาน ณ หมู่บ้านดงบัง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม
เยาวชนจากโรงเรียนดงบังพิสัยนวการณุสรณ์ ร่วม 20 คน จะเป็นตัวแทนผู้สืบสานตำนานหนังประโมทัยนี้ โดยการนำเอาฮูปแต้ม หรือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในสิมหรือโบสถ์วัดโพธาราม จากวรรณกรรมท้องถิ่น เรื่องสังข์ศิลป์ชัย (สินไซ) มาบอกเล่าผ่านการแสดงหนังตะลุงอีสาน
การร้อยเรียงเรื่องราวจากฮูปแต้มไปเป็นหนังประโมทัยแสนสนุกครั้งนี้ จะช่วยให้คนในชุมชนตระหนักถึงคุณค่าศิลปะการแสดงพื้นบ้านดั้งเดิมของบรรพบุรุษ พร้อมทั้งทำให้ฮูปแต้ม ภาพวาดที่มาจากฝีมือของบรรพชนคนรุ่นหลัง กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้คนในชุมชนอีกครั้ง
งานนี้มีพี่ยอด เจริญพงศ์ ชูเลิศ วิทยากรจากกลุ่มละครคนหน้าดำ เป็นผู้รับผิดชอบการประสานงานระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเชิญพ่อครูแม่ครูที่มีความรู้ความสามารถ มาอบรมให้เด็กๆ หัดร้อง หัดเชิด หรือแม้กระทั่งการตัดและแกะตัวหุ่นที่จะนำไปใช้แสดง เรียกว่าเด็กๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ
กลุ่มเด็กๆ ตั้งชื่อคณะว่า “เพชรอีสาน” โครงการของพี่ยอดมีจุดประสงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนในการสืบทอดประเพณีดั้งเดิม ส่งเสริมทักษะการร้องการรำที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น
หนังประโมทัย เป็นการละเล่นที่ผสมผสานระหว่างหนังตะลุงกับหมอลำ ประยุกต์การร้องรำแบบทางใต้ มาเป็นการร้องหมอลำแบบอีสาน จะมีด้วยกันสองแบบ คือ ลำเต้ย กับ ลำล่อง แตกต่างกันที่จังหวะ ลำเต้ยมีท่วงทำนองที่เร็วและสนุกสนานกว่าลำล่อง ส่วนลำล่องจะเป็นบทพูด ที่ใช้บอกเล่าเรื่องราว ลำเต้ยนั้นจะเป็นบทร้องที่ใส่ทำนองเพื่อเพิ่มความครึกครื้น
พ่อครูบุญลี พลคำมาก ผู้ให้ความรู้เรื่องฮูปแต้มก่อนจะมาเป็นตัวหนังที่โลดแล่นบอกว่า “หนังตะลุงอีสานส่วนใหญ่จะชอบเล่นเรื่องสินไซ เพราะสามารถพูดภาษาอีสานและเล่นกับแคนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำภาคอีสาน”
พ่อครูสมบัติ ยอดประทุม หรือพ่อครูโป้งเป้ง ศิลปินแห่งคณะมีชัยหนังตะลุง ผู้อบรมเด็กๆ เกี่ยวกับการตัด แกะ และฉลุลายตัวหนัง พูดถึงวรรณกรรมชิ้นเอกแห่งภาคอีสานว่า “สินไซ” เป็นเรื่องที่สนุกสนาน น่าตื่นเต้น น่าติดตาม ได้ผจญภัยกันทั้งเรื่อง เจอทั้งสิงสาราสัตว์ ยักษ์ ได้ต่อสู้กันตลอดเวลา ครึ่งต่อครึ่งของเรื่องนี้ มีทั้งบทดั้งเดิมและบทเพิ่มเติมแต่งขึ้นมาใหม่ ต้นตำรับจะเป็นกลอนร้อง เพิ่มสีสันด้วยบทพูดใหม่จากเด็กๆ มีการใช้เพลงลูกทุ่งเข้ามาสร้างสีสันในบางตอน เด็กๆ เขาก็ประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย”
จะเห็นได้ว่าสินไซเป็นนิทานพื้นบ้านที่คนอีสานนิยมนำมาใช้เล่นกันมาก แต่ถ้าจะให้เล่นกันทั้งเรื่อง ใช้เวลา 3 วัน ก็ยังไม่รู้ว่าจะเล่าให้ครบถ้วนกระบวนความได้หรือไม่ เด็กๆ คณะเพชรอีสานจึงเลือกมาแสดงเพียงตอนเดียวเท่านั้น คือตอน “สินชัยปราบมาร“
ก่อนคืนวันแสดงจริงจะมาถึง หน้าที่ของเด็กๆ คณะเพชรอีสาน คือการเดินแห่บอกกล่าวรอบหมู่บ้าน เชิญชวนพ่อแม่พี่น้องไปชื่นชมการแสดงหนังประโมทัยฝีมือของลูกหลาน ที่พร้อมเรียนรู้และเต็มใจที่จะสืบสานประเพณีดั้งเดิมนี้ไว้ต่อไป
เด็กๆ ใช้เวลาเกือบร่วมอาทิตย์ฝึกซ้อม ทั้งท่องจำบท ร้องและการเชิดหุ่น รวมไปถึงการจัดสถานที่ จัดฉาก จัดไฟ ดูจังหวะในการแสดง ทั้งเรื่องเข้าบทและดนตรีประกอบ ทุกอย่างช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี
พอวันซ้อมใหญ่มาถึง หนึ่งในสมาชิกคณะเพชรอีสาน น้องแมว ด.ญ.ภารตี ภารตุ้มเหลา ผู้แสดงเป็นตัวเอกอีกคนหนึ่งจากเรื่องสินไซ คือ นางเจียงเงิน หญิงคนรักของสินไซบอกว่า “บรรยากาศวันซ้อมใหญ่สนุกค่ะ เราต่างคนต่างเล่น แต่พอรวมกันแล้วมันสนุก การเชิดถึงจะพลาดแต่ก็น้อย” นั่นเพราะคณะเพชรอีสานฝึกฝนมาอย่างต่อเนื่อง ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจึงไม่สร้างปัญหาต่อการแสดงของเด็กๆ
วันแสดงบรรยากาศในงานคึกคักไปด้วยผู้คน ก่อนแสดงพ่อครูโป้งเป้ง และ แม่ครูติ๋ม ลัดดาวรรณ ยอดประทุม สองนักแสดงจากคณะมีชัยหนังตะลุง ผู้ที่มาช่วยอบรมให้ความรู้กับเด็กๆ คณะเพชรอีสาน นำเด็กๆ ทำพิธีไหว้ครูกันหลังจอผ้าใบสีขาวผืนใหญ่ เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนการเชิดหนังในค่ำคืนนี้จะเริ่มขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่ด้านหน้าก็แน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่มารอชมการแสดง
พ่อเฒ่าแม่เฒ่าหอบลูกหอบหลาน พกเสื่อจากบ้านมาปูนั่งเต็มลานวัดโพธาราม เมื่อเสียงแคนเครื่องดนตรีแห่งแดนดินอีสานดังขึ้น ทุกสายตาต่างจับจ้องมายังจอผ้าใบสีขาว เฝ้ารอดูเรื่องราวสินไซ จากหนังประโมทัยของเด็กๆ ตัวหนังที่ตัดและแกะลวดลายเองกับมือจะได้มาโลดแล่นอยู่เบื้องหน้าผู้ชมหลากวัยทั้งชายหญิง
การแสดงของเด็กๆ คณะเพชรอีสาน จบลงท่ามกลางความภาคภูมิใจของเด็กๆ นักแสดง และชาวบ้านที่มาชม แต่กิจกรรมของเด็กๆ ยังไม่จบไปตามหนังประโมทัยในค่ำคืนแห่งความสุขที่ผ่านมา เพราะตามประเพณีแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นเด็กๆ จะต้องเดินแผ่ข้าวตามหมู่บ้าน นั่นคือพอได้ชมการแสดงของลูกหลานแล้ว ชาวบ้านต้อง เตรียมข้าวเปลือก หรือข้าวสาร ตามสะดวก ไว้ให้กับเด็กๆ เป็นการแลกเปลี่ยนที่ได้ไปเยี่ยมชมการแสดง
ปัจจุบันหนังประโมทัยกำลังจะหมดบทบาทไปจากท้องถิ่นอีสาน เนื่องจากมีความบันเทิงสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ การปลูกฝังให้เด็กๆ รุ่นใหม่รู้จักและสืบทอดหนังประโมทัยจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ร่วมสืบสานตำนานหนังประโมทัยไปกับคณะเพชรอีสาน ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน เพชรอีสานม่วนซื่น วันเสาร์ที่ 23 ม.ค. เวลา 06.25 น. ช่อง 3 www.payai.com
ที่มาข่าว/ภาพ: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update: 22-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร