“มูลมังอีสาน” พึ่งพาตนเองด้วยความพอเพียง

แนวคิดดีๆจากชุมชน

 

“มูลมังอีสาน” พึ่งพาตนเองด้วยความพอเพียง

          การทำนาในปัจจุบันที่มีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวสายพันธุ์ใหม่เพียงไม่กี่สายพันธุ์ทั่วประเทศโดยไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศภูมิประเทศหรือสิ่งแวดล้อม ทำให้ชาวนาต้องใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก

 

          ปัจจัยการผลิตเหล่านี้ได้สร้างรายจ่ายในด้านต่างๆตามมาอย่างมหาศาลสภาพสิ่งแวดล้อมที่เคยอุดมสมบูรณ์ในอดีตก็ค่อยๆ ถูกทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและอาหารก็สูญหายไปซ้ำร้ายยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรเอง

 

          มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงร่วมกับ แผนงานฐานทรัพยากรอาหารดำเนินงาน “โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน”เพื่อสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนในด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้แนวคิดการพึ่งพาตนเองโดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

          การส่งเสริมเครือข่ายอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี”เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของโครงการที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง นางสาวชลิตา ศรีแก้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของโครงการฯ กล่าวว่า พันธุ์ข้าวพื้นบ้านเป็น “มูลมัง” หรือมรดกของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมา ซึ่งในปัจจุบันเริ่มสูญหายไป ชาวนาไม่สามารถที่จะสืบต่อวิธีการรักษาเมล็ดพันธุ์ของชุมชนดั้งเดิมที่มีการคัดเลือกและเก็บรักษาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการใช้เครื่องนวดข้าวก็ทำให้คุณภาพของข้าวที่จะเป็นต้นพันธุ์ลดลง ผลผลิตก็ลดลงตามไปด้วย

 

          ชาวนาส่วนใหญ่จะใช้วิธีการซื้อพันธุ์ข้าว 2-3 ปีต่อหนึ่งครั้ง ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องของปัจจัยการผลิต ซึ่งแต่เดิมชาวนาจะมีข้าวกินแต่ละครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 3 สายพันธุ์แต่ละสายพันธุ์ก็จะมีคุณค่าทางอาหารที่แตกต่างกันไป แต่ด้วยวิถีของการบริ โภคที่เปลี่ยนไปเป็นการปลูกและกินข้าวพันธุ์เดียวต่อเนื่องยาวนานได้ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพ มีชาวนาป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยหนึ่งก็มาจากการกินข้าวเพียงพันธุ์เดียวประกอบกับพืชอาหารท้องถิ่นเริ่มลดจำนวนลงการซื้อหาจากข้างนอกก็ไม่ปลอดภัยเพราะเต็มไปด้วยสารเคมีและยังเป็นการเพิ่มค่าครองชีพ แต่ถ้าชาวนาสามารถเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์เองคัดเลือกเอง ปลูกและกินข้าวของตัว เองก็จะทำให้ชาวนาสามารถพึ่งพาตนเองได้ในวิถีการผลิต ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้” นางสาวชลิตา ระบุ

 

          ด้านนายไพบูลย์ ภาระวงศ์หรือ “พ่อบูลย์” อายุ 54 ปี เกษตรกรจากบ้านหนองพรานคาน ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ ที่ปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำนาไปเป็นแบบพึ่งพาธรรมชาติด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ เล่าว่า เมื่อก่อนก็ปลูกข้าวที่ท้องตลาดนิยมเหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วไป แต่เริ่มมาสนใจการทำนารูปแบบใหม่เมื่อปุ๋ยและยามีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆและเห็นเพื่อนชาวนาเริ่มป่วยเป็นโรคเบาหวานที่มีสาเหตุมาจากกินข้าวพันธุ์เดียวนานนับปี ในข้าวไม่เหลือสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ถูกขัดสีไปจนหมด

 

          ปัจจุบันปลูกข้าวพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานี และที่อื่นๆ รวม10 สายพันธุ์ ได้แก่ มะลิแดง, มะลิดำ, หอมเสงี่ยม, สันป่าตอง, หอมพม่า, ข้าวเหนียวแดง, แสนสบาย, ยืนกาฬสินธุ์, ข้าวเหนียวอุบล และนางนวล ซึ่งข้าวพื้นบ้านจะให้ผลผลิตมากกว่าข้าวพันธุ์ กข.ไม่ต้องใช้ปุ๋ยและยาเพราะทนทานต่อโรค และขยายพันธุ์ข้าวไว้ปลูกเองโดยไม่ต้องซื้อ โดยมีค่าใช้จ่ายในการทำนาต่อไร่เพียง 200 บาทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าวัตถุดิบต่างๆ ในการทำปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ” พ่อบูลย์กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

 

update: 08-12-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ