มูลนิธิเมาไม่ขับจี้รัฐใช้กม.

หวั่นเหล้านอกทะลักช่วงปีใหม่

 

มูลนิธิเมาไม่ขับจี้รัฐใช้กม.

          มูลนิธิเมาไม่ขับหวั่น “เหล้านอก” ทะลักหลังปีใหม่ เหตุข้อตกลงทางการค้าเสรีอาเซียนมีผล ไม่มีกำแพงภาษีกั้น บริษัทยักษ์ใหญ่หัวใสย้ายฐานผลิต หวังรุกตลาดเต็มรูปแบบ เล็งยึดไทยเป็นฐานที่มั่นส่งเสริมนักดื่มหน้าใหม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนเหล้าถูกระวังการผลิตไม่ได้มาตรฐาน จี้รัฐบังคับใช้ กม.-รณรงค์ต่อต้านอย่างเป็นรูปธรรม

 

          เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน นายดำรง พุฒตาล ประธานมูลนิธิเมาไม่ขับ แสดงความห่วงใยการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ได้รับประโยชน์ทางด้านอัตราภาษี จากข้อตกลงทางการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า ที่จะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในเดือนมกราคมปี 2553 ซึ่งจะทำให้ราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้ามีราคาถูกลง อาจส่งผลให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ โดยเฉพาะเยาวชนเพิ่มมากขึ้น ว่า เป็นเรื่องน่าหนักใจ เพราะเมื่อเวลามีการลงนามเซ็นสัญญา จุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนในอาเซียนบริโภคสินค้าที่ถูกลง ซึ่งพูดตามความเป็นธรรมสินค้าที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ไม่น่าจะรวมอยู่ในข้อตกลง แต่มันก็ยกเว้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อสุราถูกลงก็จะทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้า มีการลดราคาทำให้ผู้บริโภคได้ซื้อสุราในราคาถูกลง ก็จะกลายเป็นการเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่ โดยเฉพาะบรรดาเยาวชนอย่างไม่ต้องสงสัย

 

          นายดำรงกล่าวต่อว่า แต่ก่อนประเทศไทยใช้มาตรการทางภาษีจำกัดการเข้าถึงสุราของบรรดานักดื่ม อย่างไวน์ในประเทศไทย ภาษี 300-400 เปอร์เซ็นต์ ต่อไปนี้ไม่มีกำแพงภาษีกั้น ก็จะทำให้การเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญบริษัทผลิตสุราระดับโลก ก็จะย้ายฐานการผลิตเข้ามาตั้งโรงงานในกลุ่มอาเซียน เพื่อจะได้ประโยชน์จากภาษีอาฟต้า อย่างในประเทศฟิลิปปินส์ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้รู้ดีว่าไทยคือ ฐานการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

 

          “เราคงห้ามการไหลทะลักของเหล้านอกไม่ได้แน่ๆ ดังนั้น มาตรการที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการคือ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เอาจริงเอาจัง และจะต้องเป็นตัวหลักในการร่วมรณรงค์โทษของการดื่มเหล้า เพื่อให้เป็นอันตราย ร่วมกับภาคเอกชนและมูลนิธิที่ทำงานเพื่อสังคมต่างๆ นอกจากนั้นอาจจะออกกฏหมายสั่งห้ามโฆษณาเหล้า ผ่านสื่อทุกชนิด ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ เหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลจะต้องหัรนมาจริงจังกับเรื่องเหล่านี้อย่างเข้มข้น เพราะคงทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว” นายดำรง กล่าว

 

          ขณะที่ น.พ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า เรื่องของธุรกิจคงเป็นเรื่องที่จะกล่าวโทษหรือห้ามปรามขอร้องลำบาก เพราะผู้ประกอบการย่อมแสวงหากำไรทางธุรกิจ แต่ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราภาษีในกรอบการค้าเสรีคงต้องมีการเตรียมการเพื่อรองรับ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาจากภายใน ก็คือการเข้มข้นกับการบังคับใช้กฎหมาย ที่จะต้องมีการกำหนดกรอบและสร้างกลไกในการบังคับใช้ให้มากยิ่งขึ้น

 

          ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงศา ผู้ประสานงานฝ่ายเผยแพร่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า การค้าเสรีในข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการกำหนดให้เกิดการค้าเสรีไว้ลอยๆ แต่กำหนดเรื่องของความเป็นธรรมเอาไว้ด้วย ซึ่งหมายรวมไปถึงความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และความเป็นธรรมในเชิงซีเอชอาร์ สุขภาพและสังคม เรื่องนี้รัฐบาลควรนำไปใช้เป็นข้อต่อรอง โดยเฉพาะที่กำลังจะมีกลยุทธ์ทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบรรจุในปริมาตรที่ล่อใจผู้ซื้อ การปรับเปลี่ยนสูตรผสมสุราในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการย้ายฐานการผลิตมาตั้งในประเทศกลุ่มอาเซียน เพื่อไม่ต้องเสียภาษี เป็นเรื่องที่น่าวิตกเกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ยิ่งจะทำให้เสียหายอย่างร้ายแรง

 

          อนึ่ง ข้อมูลศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 1 ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดในภาคพื้นเอเชีย โดยที่ 2 คือเกาหลี และที่ 3 คือญี่ปุ่น และไทยยังอยู่ในอันดับ 2 ของโลกจาก 137 ประเทศที่ประชากรดื่มสุราในอัตราขยายตัวมากที่สุด ในระหว่างปี 2513-2539 ถึง 133% และอยู่ในอันดับ 5 ของโลกที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทสุราวิสกี้มากที่สุด นอกจากนั้น ยังพบว่า การดื่มสุราน้ำเมา เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 72.7%, และ 59.1% ของผู้ก่อคดีทำลายทรัพย์สิน, 45.3% ของคดีความผิดเกี่ยวกับเพศและข่มขืนกระทำชำเรา, 20.8% ของผู้กระทำความผิดต่อร่างกาย, 16.1% ของคดีบุกรุก

 

          ศวส. ยังมีข้อมูลด้วยว่า ต้นทุนจากการตายก่อนวัยอันสมควร ต้นทุนจากประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ต้นทุนจากการรักษาพยาบาล ต้นทุนทรัพย์สินเสียหาย และต้นทุนการบังคับใช้กฎหมายและการฟ้องร้อง รวมสูญเสียทั้งสิ้น 150,677.4 ล้านบาท ทั้งประชาชนยังต้องจ่ายเงินซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกถึงปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท เทียบกับภาษีที่รัฐจัดเก็บได้แค่ 72,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น

 

          ด้านนพ.พงษ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน จ.น่าน กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์ประสานงานประชาคม จ.น่าน ได้ประชุมหารือกัน โดยพบว่าในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ทาง จ.น่าน จะมีการจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ 2 งาน คือ งานแข่งขันฟุตบอลบริเวณสนามกีฬาจังหวัดน่าน และงานกาชาดจังหวัด ที่บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาสมเด็จพระราชินีนาถ โดยทั้ง 2 งานมีแนวโน้มว่าจะมีการจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งหากมีการกระทำดังกล่าวจริงจะเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

 

          “นพ.คณิต ตันติศิริวิทย์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน เตรียมทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดน่านในอีก 2-3 สัปดาห์นี้ เพื่อยื่นข้อเสนอไม่เห็นด้วยกับการจัดงานที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งจะทำหนังสือชี้แจงข้อกฎหมายที่ห้ามจำหน่ายหรือดื่มสุราในสวนสาธารณะ หากมีการละเมิด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเข้าจับกุม” นพ.พงษ์เทพ กล่าว

 

          ด้านนพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน กล่าวว่า ได้มีการทักท้วงการจัดงานที่จะมีการจำหน่ายหรืออนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯเป็นผู้ตัดสินใจ

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

 

update: 16-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ