มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือน “3 ระวัง! เพื่อรถโดยสารปลอดภัย”
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค เดินรณรงค์ถือป้ายแจกเอกสารที่หมอชิต 2 เรียกร้องประชาชนที่มาใช้บริการ รวมทั้งพนักงานของ บขส. และบริษัทรถร่วม ให้ร่วมกันป้องกันปัญหารถโดยสารไม่ปลอดภัย ด้วยการไม่ซื้อตั๋วไม่ขึ้นรถผี ร้องเรียนเมื่อพบการขับรถอันตราย และให้คำแนะนำผู้โดยสารรถปรับอากาศรัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเมื่อต้องเดินทาง
วันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา ที่บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต 2 นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมอาสาสมัครผู้บริโภคจากเครือข่ายผู้บริโภค 24 จังหวัด ได้มาจัดกิจกรรมเนื่องในวันสงกรานต์ “3 ระวัง! เพื่อรถโดยสารปลอดภัย” เรียกร้องประชาชนผู้ใช้บริการ และผู้ประกอบการรถโดยสาร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมกันป้องกันภัยอันตรายจากการใช้บริการรถโดยสารที่ไม่เหมาะสม
โดยนายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า จากการรับเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิฯ และเครือข่ายผู้บริโภคที่ผ่านมา พบว่าปัญหาเร่งด่วนที่ผู้โดยสารต้องระมัดระวังและควรหลีกเลี่ยงมีอยู่ 3 เรื่อง คือ
ระวัง! รถผี รถเถื่อน เนื่องจากในช่วงเทศกาลที่ผ่านมา แม้บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามจัดหารถโดยสารมาเสริมให้บริการแก่ประชาชน ที่ต้องการเดินทางสู่ต่างจังหวัดอย่างเต็มกำลัง แต่มูลนิธิฯยังพบว่า มีประชาชนจำนวนหนึ่งถูกล่อลวงด้วยวิธีการต่างๆ ให้ขึ้นใช้บริการรถโดยสารที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก บขส. ซึ่งถือเป็นรถโดยสารผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่า “รถผี รถเถื่อน”
ที่ผ่านมารถประเภทนี้ จะไม่ปฏิบัติตามกฏระเบียบการเดินรถที่ บขส. ได้กำหนดไว้ มีการเรียกเก็บค่าโดยสารที่แพงเกินกำหนด เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และเมื่อเกิดเหตุร้ายกับผู้โดยสารแล้ว มักจะหาผู้รับผิดชอบได้ยาก จึงขอเรียกร้องให้ บขส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดกวดขันเฝ้าระวังมิให้ผู้ใดมาชักชวนประชาชนไปใช้บริการรถโดยสารที่ผิดกฎหมายได้
ระวัง! ขับอันตราย ทั้งนี้การเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากพนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท หรือมีสภาพร่างกาย จิตใจที่หย่อนความสามารถ หรืออ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการทั้ง บขส.และรถร่วมทุกบริษัท ได้กำชับให้พนักงานขับรถปฏิบัติตามระเบียบและคู่มือการเดินรถของ บขส. อย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ขับรถในเวลาที่ร่างกาย หรือจิตใจหย่อนความสามารถ, ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกโดยเคร่งครัด
ในรอบยี่สิบสี่ชั่วโมงให้ผู้ขับรถ ขับรถติดต่อกันไม่เกินสี่ชั่วโมง เว้นแต่ได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมงก็ให้ปฏิบัติหน้าที่ ขับรถต่อไปได้อีกไม่เกินสี่ชั่วโมงติดต่อกัน, ต้องหยุดหรือจอดรถตามที่กำหนดไว้ตามตารางการเดินรถ, ต้องขับรถตามเส้นทางที่กำหนดไว้ หากไม่มีเหตุสุดวิสัย, ต้องนำรถออกจากสถานีเดินรถตามเวลาที่กำหนดให้หรือตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ประจำอยู่ ณ สถานีนั้น, ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร, ไม่รับบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งผู้โดยสาร, ไม่ขับรถช้าเกินควร เพื่อหาผลประโยชน์หรือเพื่อกลั่นแกล้งรถคันหลัง, ต้องหยุดรับผู้โดยสารจากรถร่วมหรือรถของ บขส. ที่เกิดเสีย หรือเกิดเหตุอื่นๆ ในระหว่างทาง เป็นต้น
ระวัง! ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย รถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถประจำทางปรับอากาศที่เดินทางระหว่างจังหวัดหรือข้ามจังหวัด ควรจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยแก่ผู้โดยสารทุกที่นั่ง และควรให้พนักงานประจำรถแนะนำผู้โดยสารให้ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกคน การที่ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยหากรถเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะทำให้ร่างกายของผู้โดยสารไม่หลุดจากที่นั่งไปชนกระแทกกับผู้โดยสารคนอื่นหรือวัสดุสิ่งของต่างๆในรถได้ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี
“จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้โดยสาร มูลนิธิฯ จึงจัดกิจกรรมรณรงค์ “3 ระวัง! เพื่อรถโดยสารปลอดภัย”ในครั้งนี้ขึ้น โดยได้แจกเอกสาประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ไม่ได้คาดหวังให้ทำกันเฉพาะวันสงกรานต์เท่านั้น แต่อยากให้ทำกันตลอดไป ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มีหนังสือเชิญชวน บขส.และบริษัทรถร่วมทุกบริษัทให้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้” นายอิฐบูรณ์ กล่าว
ที่มา: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค