มูลนิธิหญิงชายฯ รณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว
หญิงไทยยุคใหม่รับได้หากถูกผู้ชายกระทำความรุนแรง อึ้ง! 13.5% ถูกข่มขืนก็ยังรับได้ “จะเด็จ” เผยสาเหตุเพราะผู้หญิงเลือกอดทน เพราะอาย กลัวถูกทำร้ายซ้ำ ทนเพื่อลูก และไม่รู้ช่องทางช่วยเหลือจากภาครัฐ
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. เวลา 10.00 น. ที่ลานวิคตอรีพอยต์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวระหว่างการเสวนา “ถอดรหัสชีวิต เมื่อผู้หญิงลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองและผู้อื่นจากความรุนแรง” ว่า จากผลการสำรวจผู้หญิงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อถามถึงพฤติกรรมความรุนแรงแบบไหนที่คิดว่าผู้หญิงสามารถยอมรับได้ กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 48 ระบุว่าการเงียบไม่พูดไม่จา ร้อยละ 45.5 การหึงหวง ห้ามไม่ไห้ออกไปไหน ร้อยละ 25 การใช้คำพูดตะคอก ส่อเสียด ด่าทอ ร้อยละ 23.4 ไม่รับผิดชอบครับครัว ร้อยละ 19.9 ทำลายข้าวของ ร้อยละ 13.5 การบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ และร้อยละ 8 คือ ทุบตีทำร้ายรางกาย ขู่ฆ่า ประจาน ส่วนพฤติกรรมที่ไม่ถือว่าเป็นความรุนแรงทางเพศ ร้อยละ 61.9 ระบุว่าการหยอกล้อ แซว ร้อยละ 35.8 การใช้สายตาแทะโลม ร้อยละ 27.6 จ้องมองเรือนร่าง และร้อยละ 10.8 จับเนื้อต้องตัวหรือ แตะอั๋ง
นายจะเด็จ กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หึงหวง นอกใจ การแสดงอำนาจ การเล่นการพนัน และการใช้สารเสพติด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้หญิงส่วนมากเลือกที่จะอดทน หากมีความรุนแรงและพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นกับตัวเอง เนื่องจากว่าอาย ยอมทนเพื่อลูก กลัวถูกทำร้ายซ้ำ ไม่รู้ช่องทางการให้ความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ และไม่รู้เรื่องของกฎหมายที่สามารถคุ้มครองผู้หญิงได้
ดังนั้น ปัญหาความรุนแรงจะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นกระบวนการ คือ ให้คำปรึกษากับผู้ที่กระทำความรุนแรงแบบต่อเนื่อง ทำให้ผู้กระทำความรุนแรงคลี่คลายความรู้สึกคับแค้นใจต่อภรรยา รวมถึงจะต้องมีการให้คำปรึกษาต่อผู้ที่กระทำด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูด้านสภาพจิตใจสามารถแยกแยะปัญหา มีทางเลือกในหารแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น
“กระบวนการเหล่านี้รัฐต้องสร้างกลไกขึ้นมาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการพัฒนากลไกช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ถูกกระทำไม่ให้ถูกกระทำซ้ำ ดังนั้น กระทรวงการพัฒนาความสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะต้องมีการทำงานแบบเร่งด่วน สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารช่องทางการช่วยเหลือให้มากขึ้น เพราะหากสังคมปล่อยให้ผู้หญิงถูกทำร้ายและอยู่ในวัฒนธรรมของความอาย ความกลัว หรือสังคมนิ่งเฉย จะยิ่งส่งผลให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นผู้หญิงจะต้องไม่อาย กล้าลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองในการแก้ปัญหาความรุนแรง” นายจะเด็จ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง 2556 ตอน ลุกขึ้นปกป้องตัวเอง ร่วมก้าวข้ามความรุนแรง ได้มีการป้ายตาสีแดงโดยใช้ลิปสติก เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายแค่ไหน และต่อไปนี้ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับสิ่งที่ถูกกระทำ พร้อมแจกสติกเกอร์รณรงค์บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์