มุมมองใหม่สู่กฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์
ห้วงเวลาที่การต่อสู้ทางการเมืองลดความร้อนแรงลง และทิศทางของประเทศกำลังมุ่งสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ ส่งผลให้ประเด็นสำคัญ ๆ ที่มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน และเคยหล่นหายไป เช่น สิทธิผู้หญิง เรื่องสุขภาพ หรือการคุ้มครองผู้บริโภค ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดและมีพื้นที่แห่งการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ร่วมกับ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) จัดแถลงข่าวเรื่อง "สุขภาพผู้หญิง: มุมมองใหม่สู่กฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์"
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักต่อสังคมถึงความสำคัญของสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ โดยนำเสนอผ่านประเด็นปัญหาที่ผู้หญิงในสังคมต้องเผชิญ รวมทั้งความคืบหน้าในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ ฉบับภาคประชาชนด้วย
ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ กล่าวถึงสถานการณ์ด้านประชากรของประเทศไทยว่า สังคมไทยเริ่มมีอัตราการเกิดที่ลดลง ขณะเดียวกันแนวโน้มของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์กลับสูงขึ้น การที่ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี จำเป็นต้องส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักและใช้สิทธิด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ของตนเองอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน และเป็นสิทธิที่ได้รับการประกาศเป็นวาระสำคัญระดับโลกในการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยประชากรและการพัฒนาที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อ 20 ปีก่อน โดยไทยเข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนภาคนโยบายจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความเข้าใจและความตระหนักแก่สังคมในด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยกฎหมายที่จะขับเคลื่อนต้องเป็นกฎหมายที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมนั้นๆ และต้องเคารพสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของบุคคลโดยไม่ละเมิดผู้อื่น
จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้ประสานงานมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ ฉบับภาคประชาชน ว่า เป็นกฎหมายที่ยกร่างขึ้นจากการระดมข้อมูลและความคิดเห็นที่สะท้อนปัญหาที่แท้จริงของประชาชนกลุ่มต่างๆ กฎหมายนี้จะเป็นหลักประกันสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์สำหรับประชาชน โดยสาระสำคัญเน้นการจัดให้มีข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องครบถ้วนและใช้การได้จริง รวมทั้งบริการที่มีความละเอียดอ่อน เข้าถึงได้สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม
ที่ผ่านมา สคส.ร่วมกับ UNFPA และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับภาคประชาชนเสร็จเรียบร้อย และเตรียมผลักดันเข้าสู่กระบวนการจัดทำกฎหมายตามช่องทางสำหรับภาคประชาชน รวมถึงการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนคนไทยตระหนักถึงปัญหาและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ โดยมีเว็บไซต์ http://thairhlaw.net เป็นหนึ่งในช่องทางสื่อสารและการรณรงค์
ทั้งนี้ ระหว่างการแถลงข่าว มีการนำเสนอประเด็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคทำให้ผู้หญิงไม่สามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม ผ่านประสบการณ์ของตัวแทนผู้หญิงกลุ่มต่างๆ
นุชนารถ (สงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี เล่าถึงประสบการณ์ขณะที่ตนเองยังเป็นวัยรุ่นเมื่อ 30 ปีก่อนว่า เคยผ่านประสบการณ์ท้องไม่พร้อมและการทำแท้ง เนื่องจากไม่มีความรู้ในด้านการคุมกำเนิด เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้
"รู้แค่ 'หน้า 7 หลัง 7' และการหลั่งภายนอกเมื่อไม่แน่ใจว่าจะท้องหรือไม่ ต้องหาข้อมูลจากหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ไม่กล้าถามพ่อแม่ ไปแอบถามคนข้างบ้านก็โดนนินทา มีคนแนะนำสถานที่ทำแท้งก็ไป ทั้งที่อันตรายมาก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร"
นุชนารถ เล่าว่า ในอดีตเรื่องเพศเป็นสิ่งที่น่าอับอายและไม่กล้าที่จะพูดถึง หากสามารถย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศตั้งแต่เด็ก เพราะเรื่องเพศ รวมถึงเพศสัมพันธ์เป็นธรรมชาติของมนุษย์
จุรีรัตน์ (สงวนนามสกุล) นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กล่าวว่า แม้วัยรุ่นยุคนี้จะสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลเรื่องเพศในอินเทอร์เน็ตได้ แต่ข้อมูลไม่ได้ถูกต้องเสมอไป ขณะเดียวกันเรื่องเพศที่เคยเป็นเรื่องน่าอายในอดีต ถึงปัจจุบันนี้ก็สามารถพูดคุยได้แต่กับเพื่อนเท่านั้น
"เพื่อนมีอิทธิพลมาก สงสัยว่ายาคุมกินอย่างไร จะท้องหรือไม่ก็ถามเพื่อน ปรึกษาเพื่อน แต่เพื่อนก็รู้ไม่จริง จะปรึกษาพ่อแม่หรือครูอาจารย์ก็ไม่กล้า กลัวโดนด่า โดนไล่ออก ทำให้วัยรุ่นปัจจุบันรู้จักวิธีคุมกำเนิดในแบบตื้นๆ ประกอบกับการไม่ตื่นตัวในเรื่องปัญหาสุขภาพทางเพศ ทำให้วัยรุ่นปัจจุบันยังเผชิญปัญหาไม่ต่างจากในอดีต แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะค่านิยมและการใช้ชีวิตต่างไปจากเดิม โดยวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันง่ายขึ้น"
"อยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของคนยุคนี้ พ่อแม่ ครู หมอ มีความรู้และประสบการณ์ที่ให้คำแนะนำได้ แต่ถ้ามองว่าวัยรุ่นต้องไม่มีเพศสัมพันธ์ เลยไม่พูดเรื่องนี้ เด็กก็หันไปถามกันเอง"
อาภาณี (สงวนนามสกุล) เล่าว่า ประสบอุบัติเหตุ ทำให้ไม่สามารถเดินได้ ช่วงแรกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รู้สึกไม่สบายใจที่มีเจ้าหน้าที่ผู้ชายมาเห็นเนื้อตัวร่างกาย แต่ก็ต้องทำใจให้ชิน ต่อมาเมื่อตั้งครรภ์ ยังประสบกับทัศนคติเชิงลบ ถูกพยาบาลกล่าวต่อหน้าว่า "เดินไม่ได้ ยังจะท้องอีกหรือ" และ "คุณรู้ไหมคุณสร้างภาระให้เจ้าหน้าที่ต้องมายกคุณขึ้นเตียง" รวมถึงทัศนคติของคนทั่วไปของคนในสังคมที่มักมองว่าหากผู้หญิงที่พิการตั้งครรภ์ ก็จะทำให้ลูกในครรภ์พิการไปด้วย ทั้งที่ไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ ผู้หญิงพิการก็เข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์บางอย่างในขณะที่ตั้งครรภ์ เช่น ไม่มีเครื่องชั่งเพื่อวัดน้ำหนักตัวเด็กในครรภ์สำหรับคนพิการ และการขึ้น-ลงเตียงเพื่อตรวจภายในก็มักจะถูกเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลมองว่าเป็นภาระจึงไม่บริการให้
ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนลูกจ้างแรงงาน เล่าถึงปัญหาที่แรงงานหญิงต้องเผชิญว่า นายจ้างไม่ต้องการจ้างแรงงานที่ตั้งท้อง แต่ด้วยเหตุที่มีกฎหมายลาคลอดในปัจจุบัน ทำให้นายจ้างไม่สามารถไล่ออกด้วยเหตุตั้งครรภ์ได้ จึงมักอ้างเหตุผลอื่นแทน การฟ้องร้องก็เป็นภาระเกินกว่าแรงงานจะแบกรับได้
ทั้งนี้ การที่แรงงานอยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินค่าคลอดบุตร 13,000 บาท แต่ระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์จะไม่ได้รับเงินเลย ทำให้แรงงานต้องจ่ายเงินค่าตรวจสุขภาพครรภ์ หรือค่าผดุงครรภ์เอง ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต