มุมมองทางออกของนักวิชาการวงการสื่อ ในช่วงวิกฤตโควิด-19
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
โรคระบาดโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน ขณะที่ความทันสมัยของเทคโนโลยีก็ทำให้อาชีพต่างๆ ต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกับอาชีพสื่อมวลชน ที่ต้องหันมาทำสื่อออนไลน์ และ Social Media กันมากขึ้น
ความจริงวงการสื่อมวลชนไทย ได้รับรู้ถึงภัยคุกคามในอาชีพมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เพราะการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (Digital Tranformation) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าถูก Disrupt แต่มาเจอภัย จากโควิด-19 ซ้ำ ทุกข์ของคนทำธุรกิจสื่อและคนทำสื่อก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก
วันก่อนนี้มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมวิชาชีพสื่อและเพื่อนพ้องสื่อมวลชน จัดประชุมระดมความคิดเห็นใน หัวข้อ "สุขภาวะและทางรอดสื่อมวลชนไทยฝ่าภัยโควิด-19" ได้รับเชิญให้เข้าร่วมระดมความเห็นหาทางช่วยเหลือด้วย มีความเห็นและข้อเสนอที่น่าสนใจ
รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและโควิด-19 ทำให้สื่อต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดโดยหันมาทำสื่อออนไลน์ และ Social Media กันมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่ทำงานมานานมีประสบการณ์สูง จะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่อย่างนั้นจะอยู่ไม่ได้ ทุกคนต้องเชื่อมั่นในศักยภาพและเติมจุดแข็งให้กับตัวเอง เพราะโควิด-19 ทำให้คนอยู่กับบ้านมากขึ้น ทีวีก็จะมาอยู่บนโลกออนไลน์กิจกรรมของคน อยู่บนโลกออนไลน์
บอร์ด สสส.ยังย้ำว่า ผู้บริโภคสื่อปัจจุบันมีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นข่าวและข้อมูลที่นำเสนอจะต้องมีความลึกมีความน่าเชื่อถือ แล้วผู้บริโภคจะเป็นผู้เลือกว่าต้องการแบบไหน ควบคู่ไปกับการมีจริยธรรม จรรยาบรรณและคุณธรรมพร้อมที่จะถูกตรวจสอบได้ อนาคตหลัง โควิด-19 ธุรกิจสื่อและคนทำงานด้านสื่อจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง เพราะผู้บริโภคจะรู้เท่าทันสื่อ จึงต้องคำนึงว่าจะผลิตสื่อให้มีคุณภาพมากขึ้นได้อย่างไร ในสังคมแห่งความรู้หรือ Knowledge Society" จึงจะอยู่รอดได้
ด้านนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ยอมรับว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและ โควิด-19 มีผลมากต่อวงการสื่อมวลชน นอกจากตกงานแล้วส่วนที่ยังอยู่ก็ต้องปรับตัวมีการจัดอบรมเพื่อยกระดับทักษะต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตสื่อทางออนไลน์นอกจากเนื้อหาแล้วต้องสร้างรายได้ด้วย ส่วนการช่วยเหลือ สื่อมวลชนที่เดือดร้อน ใครตกงานสมาคมวิชาชีพ มีกองทุนฉุกเฉินช่วยอยู่ รวมทั้งมีโครงการเสนอขอรับทุนจากผู้สนใจ เพื่อทำข่าวเจาะในเชิงลึกเป็นรายประเด็น ส่วนเรื่องการหางานทำนั้นมีการเปิดช่องทางออนไลน์ เพื่อจับคู่กับบริษัทเอกชน ที่สนใจคนทำงานที่มีประสบการณ์ทำสื่อไปทำงาน ก็พอจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้
ส่วนนางสาวชามานันท์ สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ในฐานะภาคีของ สสส. กล่าวว่า ได้ทำงานร่วมกับ สื่อมวลชนในรูปแบบต่างๆ เพราะถือว่าสื่อมวลชนก็เป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาวะทั้ง 4 มิติ เช่น สุขภาวะทางกาย จากพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องแอลกอฮอล์ บุหรี่ ด้านจิตใจเช่นความเครียด สื่อก็ต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและร่วมกันผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้พร้อมกับทำหน้าที่สร้างการเรียนรู้และการรู้เท่าทันให้กับประชาชนจากภัยออนไลน์ทั้งการพนัน การหลอกลวงต่างๆ อยากให้สื่อมีบทบาทชี้นำสังคมในทิศทางที่ดี และเปิดพื้นที่ให้มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาวะ มีการทำงานร่วมกันกับภาคีอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการร่วมรณรงค์ในประเด็นต่างๆ
นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ ได้เสนอแนวทางการว่า ควรหาทางช่วยเหลือสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการร่วมมือกันทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อ ภาคเอกชน องค์กรต่างๆ ในการเยียวยาลดผลกระทบทั้งเฉพาะหน้าและในอนาคต โดยการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยเหลือ โดยมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะพร้อมจะร่วมมือกับทุกฝ่ายในการดำเนินการในเรื่องนี้
จากนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่าง เข้มข้น เช่น นายศักดา แซ่เอียว หรือเซีย นักวาดการ์ตูน จาก นสพ.ไทยรัฐ สะท้อนข้อมูลว่า นักวาดการ์ตูนมีการรวมตัวกันและช่วยเหลือกันก็พอบรรเทาความเดือดร้อน ไปได้บ้างแต่สื่อมวลชนไม่น้อยที่ออกจากงานแล้วยังไม่มีงานอยู่ด้วยความยากลำบาก โทรมาหาก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร จึงอยากจะให้สำรวจข้อมูลและช่วยคนเหล่านี้ด้วย ส่วนผู้ดำเนินรายการทีวีชื่อดังอย่าง เจก รัตนตั้งตระกูล ผู้ประกาศข่าวจาก TNN บอกว่า เวลานี้ปัญหาเรื่องสุขภาพใจของสื่อจึงสำคัญมากเพราะมีความเครียด กังวลจึงอยากให้มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันทางออนไลน์บ่อยๆ หรืออย่าง รัชนีวรรณ ดวงแก้ว โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ อดีตผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ เล่าว่า มีสื่อที่เดือดร้อนจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งสอดคล้องกับอีกหลายความเห็นที่ออกมาคล้ายกันในวันนั้นว่านี่คือสิ่งที่คงจะต้องทำอย่างเร่งด่วน
ครับ…คนทำธุรกิจสื่อและคนทำงานด้านสื่อมวลชนทำหน้าที่รายงานข้อมูลข่าวสาร เบื้องหน้าเบื้องหลังต่างๆ ให้ผู้บริโภคได้รับรู้กันมาอย่างต่อเนื่อง
ถึงเวลาต้องทำหน้าที่เป็นกระจกส่องดูตัวเองว่า จะต้องช่วยเหลือกันมากขึ้น ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ เติมความรู้ เพิ่มพลังทางปัญญาเพื่อจะก้าวไปข้างหน้าอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 และต้องไปต่อให้ได้