มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง? หลังเผชิญ COVID-19
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ใครจะไปคิดว่าในยุคที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ มี AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ คอยช่วยอำนวยความสะดวกในทุกหนทุกแห่ง แต่แล้วโลกกลับต้องมาเผชิญกับโรคระบาดครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจทุกประเภท การดำเนินชีวิตประจำวัน และสภาพจิตใจของผู้คน
มาตรการต่าง ๆ ในการสกัดโควิด-19 ถูกนำมาใช้ มีทั้งขั้นเด็ดขาด เช่น การประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกบ้าน 4 ทุ่มถึงตี 4 การขอความร่วมมือทุกคนให้พยายาม “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” รวมไปถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing
หลายสิ่งหลายอย่างเราไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น เช่น ร้านตัดผม, โรงหนัง, ห้างสรรพสินค้า, สวนสาธารณะและสายการบิน ปิดให้บริการทั่วประเทศ, ร้านอาหารไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง, ไม่มีสาดน้ำสงกรานต์, หน้ากากอนามัยกลายเป็นของหายาก
แต่จากแนวทางการรับมือโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์ไทย และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน หรือเดินทางไปในที่สาธารณะ ทำให้เริ่มเห็นผลที่เป็นรูปธรรม เมื่อยอดผู้ป่วยโควิดลดลงต่อเนื่อง จนหลายคนเริ่มมั่นใจ และออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเวลานี้สิ่งที่ทุกคนอยากรู้มากที่สุดคือ เมื่อไหร่จะได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ และถ้ายังไม่มีวัคซีน เราจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างไร
นับเป็นโอกาสดีที่ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้เตรียมจัดงานสัมมนา “ทิศทางประเทศไทย : ฝ่าวิกฤตโควิด -19 สู่ชีวิตวิถีใหม่” ขึ้น โดยเชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียง จำนวน 5 ท่าน มาร่วมพูดคุยให้ความรู้
วันนี้เรามีคำคมจากวิทยากรแต่ละท่าน ที่ได้เคยกล่าวเอาไว้ในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งอาจนำมาเป็นหลักคิด สำหรับการใช้ชีวิตในยุคโควิด-19 ให้ปลอดภัยและเป็นสุข ถือเป็นการเรียกน้ำย่อยกันก่อนจะถึงวันงาน ลองไปดูกันเลย
“แต่ก่อนนี้เราเอามือแตะใบหน้า เช็ดถู ลูบคลำ ตอนนี้เราทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ต้องล้างมือก่อน ทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ทำให้เรามีสติในการดำเนินชีวิต เป็นโอกาสที่จะได้เจริญสติ” “พระไพศาล วิสาโล” เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต
“อย่าคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะพื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างต้องใช้เวลา และก็จะเป็น ชีวิตวิถีใหม่ เช่น รูปแบบการขายของออนไลน์มากขึ้น ทักษะแรงงานที่ตลาดต้องการเปลี่ยนไป” “รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ” กรรมการในคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
“ต่อจากนี้เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิต เพราะถ้าย้อนกลับไปทำแบบเดิม โควิด-19 ก็จะกลับมา และจะเดือดร้อนกันอีก” “นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์” ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“คนไทยผลิตอาหารเหลือล้นให้คนทั้งโลก เราเป็นแหล่งสำรองอาหารให้เพื่อนทั่วโลก ไม่ใช่ว่าเกิดวิกฤติแล้ว เราต้องสั่งอาหารจากนอกประเทศ คนไทยต้องไม่อด ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย” “นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร” หรือ อาจารย์ยักษ์ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์
“สสส. ตั้งใจและเข้าร่วมการสร้างชีวิตวิถีใหม่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา นี้ให้เป็นบรรทัดฐานในสังคมรูปแบบใหม่ และคิดว่าจะนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่ในอีกหลายๆ เรื่อง” “ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์” ผู้จัดการกองทุน สสส.
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจมากมาย อาทิ สถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องเผชิญหลังวิกฤตในทุกมิติ (เศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ/การแพทย์สาธารณสุข/ชุมชน/สังคม), เราจะต้องปรับตัว เตรียมความพร้อมอย่างไร เพื่ออยู่กับโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย, ข้อเสนอแนะมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ที่ภาครัฐและภาคเอกชน จะร่วมกันฟื้นฟูประเทศไทย
โดยเฉพาะใครที่อยากรู้ว่า New Normal คืออะไร เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร มาร่วมไขคำตอบ กับงานสัมมนา “ทิศทางประเทศไทย : ฝ่าวิกฤตโควิด -19 สู่ชีวิตวิถีใหม่” รับชมพร้อมกัน วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม 2563 เวลา 10.00 – 12.30 น. ผ่านทาง Live ในเพจเฟซบุ๊กของ สสส. : ThaiHealth เท่านั้น ทั้งนี้ ไม่เปิดให้ประชาชนเข้ามา ณ สถานที่จัดงาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
สสส. ขอสนับสนุนให้ประชาชนมีความรอบรู้ ปฏิบัติตามคำแนะนำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันตัวเองจากโควิด-19 และโรคระบาดต่าง ๆ