มีชื่ออยู่ในบ้านเลขที่..ความหวัง ศักดิ์ศรี ‘คนไร้บ้าน’

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


มีชื่ออยู่ในบ้านเลขที่..ความหวัง ศักดิ์ศรี 'คนไร้บ้าน' thaihealth


ณ บ้านเลขที่ 79/2 ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ คือบ้านใหม่ของคนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่ ที่มีพิธีขึ้นบ้านใหม่ เปิดศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่ หรือ "บ้านเตื่อมฝัน" (เติมฝัน)


โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ นับเป็นศูนย์แรกในภูมิภาคที่จะเป็นที่อยู่และที่พัฒนาศักยภาพในมิติต่างๆ ให้แก่คนไร้บ้าน เพื่อให้สามารถคืนกลับเข้าสู่การอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งการมี "บ้านเลขที่" เป็นความหวังหนึ่งของคนไร้บ้านเพราะจะเป็นใบเบิกทางให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ 


"วันที่ศูนย์คนไร้บ้านกรุงเทพฯ มีบ้านเลขที่ ลุงดำและพี่น้องคนไร้บ้านได้มีชื่ออยู่ในบ้านหลังนั้น ลุงร้องไห้เพราะนี่คือความหวังของพวกเราที่จะทำให้ได้รับสิทธิต่างๆ จากรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของคนไร้บ้านจะได้เรียนหนังสือ จากเดิมที่เคยถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียน เพราะไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือพูดง่ายๆ ว่าเราไม่มีหัวนอนปลายเท้า แต่วันนี้เด็กที่อยู่ที่นี่ ได้เรียนถึงระดับปริญญาตรีแล้วเพราะเรามีบ้านเลขที่" ลุงดำ สุชิน เอี่ยมอินทร์ อายุ 64 ปี นายกสมาคมคนไร้บ้าน เริ่มต้นเรื่องราวความภูมิใจหนึ่งในชีวิต  


ลุงดำ เล่าย้อนว่า เป็นคนกรุงเทพฯ อาชีพเดิมเป็นลูกจ้างชั่วคราว แต่โดนนายจ้างกลั่นแกล้ง จึงตกงาน เคยไปอาศัยกับพี่น้อง ซึ่งเขารวมเงินกันแต่ละวันมาวางไว้ที่หัวนอนเราวันละ 100-200 บาท ในฐานะพี่คนโตทำให้คิดว่าทำไมต้องมาเป็นภาระของน้องๆ ทั้งที่แขนขายังดี จึงตัดสินใจออกมาและมาอยู่ที่สนามหลวง ทำอาชีพเก็บของเก่าขาย ในช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ตรวจจับหนักที่สนามหลวง ก็ต้องหนีหัวซุกหัวซุนขึ้นรถไฟฟรีไป จ.พระนครศรีอยุธยา บ้าง ไปมหาชัยบ้าง เมื่อเรื่องเงียบลงก็กลับมาอยู่ใหม่  วนเวียนอยู่แบบนี้  ถึงขั้นต้องรวมตัวกัน 4-5 คนเพื่อสลับกันเฝ้าเวรยาม


มีชื่ออยู่ในบ้านเลขที่..ความหวัง ศักดิ์ศรี 'คนไร้บ้าน' thaihealth


ตอนนั้นเริ่มคิดว่า หากเราหนีอยู่แบบนี้ก็ต้องหนีตลอดไป เลยตัดสินใจไม่หนี เอาปัญหาเข้าสู้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้มีโอกาสรู้จักกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่สร้างความไว้วางใจให้กับเราด้วยการลงมาคลุกคลีใช้ชิวิตกินนอนด้วยกัน จึงตัดสินใจเข้าร่วมทำงานกับมูลนิธิ จนนำเสนอปัญหาต่อรัฐบาลได้สำเร็จ ทำให้มีศูนย์คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ซึ่งการมีศูนย์คนไร้บ้าน ทำให้จากเดิมที่อยู่ตาม ที่สาธารณะ อยู่แบบปัจเจกคนเดียว  แต่ที่ศูนย์จะอยู่แบบเอื้ออาทรเป็นพี่น้องกัน การแต่งกายต่างๆ ก็สะอาดขึ้น ที่อยู่สะอาดปลอดภัยขึ้น


ลุงนรินทร์ เอื้ออมรรัตน์ อายุ 54 ปี ประธานเครือข่ายคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ ตัดสินใจขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2545 โดยไม่เกี่ยวข้องกับพี่น้องอีก ช่วง 4-5 ปีแรกเข้าหาหน่วยงานรับในการสงเคราะห์ หลังจากนั้นออกมาใช้ชีวิตเองอาศัยอยู่แถวประตูท่าแพ มีอาชีพค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะมาเดินเก็บของเก่าขาย รายได้พอให้อยู่รอดไปวันๆ ขณะที่ชีวิตค่อนข้างอันตราย บ่อยครั้งที่พี่น้องถูกขโมยเงิน


กระทั่งปี 2551 คิดว่าการอยู่คนเดียวแบบนี้ต่อไป อนาคตต้องไปไม่รอดแน่ถ้าไม่เข้าสังคม มองว่าเราต้องเข้าสังคม จึงจะนำพาตัวเองให้ก้าวหน้าในอนาคตจึงได้มีการก่อตั้งเครือข่ายคนไร้บ้านเชียงใหม่ หลังจากที่ลุงสุชิน เอี่ยมอินทร์ เครือข่ายคนไร้บ้านกรุงเทพฯ ขึ้นมาให้ข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการรวมตัวเพื่อผลักดันให้เกิดที่อยู่ของคนไร้บ้าน ในรูปแบบการอยู่ที่บริหารจัดการกันเอง โดยรัฐเพียงแค่ประสานงานในบางเรื่องเท่านั้น เพราะเราต้องการมีชิวตเองและประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเอง จนสามารถของบจากรัฐมาก่อสร้างศูนย์นี้ได้


"ศูนย์นี้จะเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของพี่น้องคนไร้บ้าน ที่จะนำพาตัวเองให้ก้าวหน้าในอนาคต เพราะไม่เพียงเป็นที่อยู่ที่มีความปลอดภัยกว่าการอยู่ในที่สาธารณะ แต่จะช่วยพัฒนาเราในมติอื่นๆ ด้วย จากเดิมอยู่อย่างไร้ความฝัน มีชีวิตอยู่ไปวันๆ มันแห้งแล้งในจิตใจ แต่วันนี้มีบ้านมีที่อยู่ เป็นการเติมฝันทำให้หัวใจได้น้ำ มีความชุ่มชื้นขึ้นมา คนไร้บ้านไม่ใช่คนที่ไร้ที่พึ่งพิง ไร้ญาติมิตร แต่ตอนนี้เรามีเพื่อนและมิตรที่รวมตัวกันในทุกภาค" นรินทร์กล่าว   


ขณะที่ ลุงดี พันธะชัย อายุ 74 ปี เล่าว่า บ้านเกิดอยู่บนที่สูงใน จ.แม่ฮ่องสอน มีฐานะค่อนข้างลำบาก จึงตัดสินใจเดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่เพื่อหวังหาอาชีพที่ดีทำและมีรายได้ที่ดีขึ้น แต่กลับไม่เป็นอย่างที่หวัง เมื่อมาอยู่เชียงใหม่ต้องอาศัยที่สาธารณะหลับนอน ทำงานรับจ้างทั่วไปและเก็บของเก่าขาย จนได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายคนไร้บ้านเชียงใหม่ และทดลองเข้าอยู่ร่วมกันที่อาคารพาณิชย์เช่า จึงค้นพบตัวเองว่าไม่ชอบอยู่ร่วมกับคนจำนวนมากๆ เว้นแต่จะอยู่ร่วมกันสัก 2-3 คน เมื่อมีศูนย์และมีพื้นที่ทำการเกษตรของศูนย์ที่ อ.สันป่าตอง ในเนื้อที่ราว 1 ไร่ จึงสมัครใจไปอยู่ที่แปลงเกษตร ปลูกผัก ปลูกพืชซึ่งเป็นงานที่ชอบ โดยผักที่ปลูกจะนำไปประกอบอาหารที่ศูนย์ฯ เชียงใหม่ หากเหลือก็ขายในตลาดชุมชน พอมีรายได้บวกกับค่าจ้างดูแลแปลงผักจากศูนย์ โดยลุงดีได้รับรางวัลคนไร้บ้านเชียงใหม่ที่มีการออมอย่างดีเยี่ยมจาก รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในวันที่เดินทางมาเปิดศูนย์ เนื่องจากนำส่งเงินออมตามโครงการของศูนย์เดือนละ 10-30 บาท ต่อเนื่องทุกเดือนเป็นเวลากว่า 1 ปี


ชีวิตคนไร้บ้าน นายสมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้ข้อมูลว่า คนไร้บ้านใน 3 เมืองใหญ่ คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และเชียงใหม่ มีประมาณ 1,300 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชายมีเพศหญิงราว 10% อาจเพราะการใช้ชิวิตเป็นคนไร้บ้านของผู้หญิงจะมีอันตรายมากกว่าและการตัดสินใจออกจากบ้านของผู้หญิงยากกว่า โดยสาเหตุหลักที่ทำให้กลายเป็นคนไร้บ้าน ได้แก่ 1.การไม่มีงานทำหรือตกงาน จากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้ถูกเลิกจ้างไม่สามารถทำงานได้จึงต้องอยู่รองานตามจุดต่างๆ 2.มีปัญหาครอบครัวไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ 3.ชอบอิสระ พึงพอใจกับการท่องเที่ยวพเนจร ไม่ชอบอยู่ร่วมกับคนอื่น และ  4.มีปัญหาเรื่องสุขภาพ พิการ มีโรคประจำตัว ครอบครัวรังเกียจหรือไม่พร้อมดูแล เป็นต้น คนไร้บ้านส่วนใหญ่จะมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ค่าจ้างขึ้นอยู่กับนายจ้าง และเก็บของเก่าขาย มีรายได้ 80-100 บาทต่อวัน เพราะมักเป็นการเดินเก็บ ส่วนใหญ่มีอายุในช่วง 40-70 ปี เมื่อต้องอาศัยในที่สาธารณะจึงมีปัญหาสุขภาพได้ง่าย โดยเฉพาะปอดติดเชื้อและวัณโรค


แนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน คือ  มีศูนย์ฟื้นฟูศักยภาพที่ไม่เพียงเป็นที่อยู่ แต่ยังเป็นสถานที่ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การอบรมอาชีพทั้งเกษตรกร การทำเบเกอรี่ และการทำเฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ ด้วย โดยศูนย์จะให้หยิบยืมทุนและเครื่องมือต่างๆ เมื่อมีรายได้ก็นำเงินมาคืน เพื่อให้เขามีส่วนร่วมรับผิดชอบตัวเอง รวมถึง เรียนรู้การอยู่ร่วมกันเป็นสังคมโดยมีกติการ่วมกัน เป็นการฝึกการอยู่ร่วมในสังคม ก่อนที่กลับเข้าสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรีและพึ่งพาตนเองได้ ขณะที่สังคมควรจะมองคนไร้บ้านใหม่ว่าไม่ใช่ภาระ แต่ควรเข้าใจและให้กำลังใจคนที่หลุดออกมา เพราะถ้าเขาไม่มีปัญหาเขาคงไม่หลุดออกมาแน่นอน 


    มีชื่ออยู่ในบ้านเลขที่..ความหวัง ศักดิ์ศรี 'คนไร้บ้าน' thaihealth


นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในส่วนของคนไร้บ้านเชียงใหม่ แม้จะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร (1,307 คน) แต่ก็มีสภาพปัญหาทั้งในทางคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ย่ำแย่กว่าคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร เช่น คนไร้บ้านเชียงใหม่ติดสุราสูงถึงร้อยละ 64 ขณะที่คนทั่วไปมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 คนไร้บ้านเชียงใหม่สูบบุหรี่สูงถึงร้อยละ 62 ขณะที่คนทั่วไปที่สูบบุหรี่เป็นประจำมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 18 คนไร้บ้านเชียงใหม่กว่าร้อยละ 70 เป็นโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคกระเพาะ โรคมะเร็งปอด เป็นต้น นอกจากนี้ พบว่าคนไร้บ้านเชียงใหม่มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงประมาณร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 20 ของคนไร้บ้านรวมในแต่ละปี สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดมาจากโรคปอดและการติดเชื้อทางเดินหายใจ สะท้อนให้เห็นว่าการอาศัยในพื้นที่สาธารณะเป็นความเสี่ยงทางสุขภาพที่สำคัญ


มีชื่ออยู่ในบ้านเลขที่..ความหวัง ศักดิ์ศรี 'คนไร้บ้าน' thaihealth


ขณะที่ นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน  ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สสส. กล่าวว่า สภาวะด้านสุขภาพจิตของคนไร้บ้าน บางกรณีจะมีอยู่เดิม แต่บางคนเกิดขึ้นเมื่อตอนใช้ชิวิต อยู่ในที่สาธารณะ เพราะสภาพแวดล้อมที่อยู่ทำให้จิตประสบปัญหา จากการที่หลับไม่สนิทในแต่ละคืนจากเสียงรถหรืออื่นๆ หรือนอนไม่หลับติดต่อกันเป็นสัปดาห์ ห่วงกังวลเรื่องต่างๆ ทำให้จิตตก รวมถึง การอยู่แบบปัจเจกตัวคนเดียว ไม่เข้าสังคม ทำให้เริ่มที่จะพูดคุยกับตัวเองและหลอนตามมา


5 ศูนย์คนไร้บ้าน


1.ชุมชนใหม่คนไร้บ้าน  พุทธมณฑลสาย 2


2.ศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย


3.ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่


4.ศูนย์ขอนแก่น (อยู่ระหว่างดำเนินการ)


5.ศูนย์รังสิต (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

Shares:
QR Code :
QR Code