มีครูที่สอนดี โอกาสของเยาวชนไทยจะพัฒนายิ่งขึ้น


สังคมวันนี้ การจะยกย่องหรือชมเชยใครสักคน ไม่ใช่อยู่ที่การมองเชิงเดี่ยวเท่านั้น เพราะสังคมของมนุษย์ทุกวันนี้ มีความสับสนในการดำรงชีวิตมากเกินกว่าที่จะมองคนเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ตัวอย่างเช่น สมัยก่อน เมื่อจะดูใครว่าน่าคบหาสมาคม หรืออยากจะฝากชีวิต ฝากอนาคตเอาไว้กับเขาคนโบราณอาจจะมองเพียงว่า “ขอให้เขาเป็นคนดี” ก็เพียงพอแล้ว แต่วันนี้การมองเพียงแค่ เป็นคนดีเพียงอย่างเดียวไม่คุ้มค่าจะต้องมองไปที่ “เขาเป็นคนที่ทำดี” ด้วย


ในแวดวงการศึกษา สมัยก่อนเราเคยมองกันว่าครูต้องเป็น คนดี เพื่อเป็นตัวอย่างและเพื่ออบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์เป็นคนดีต่อไป มาถึงสมัยนี้ครูนอกจากจะต้องเป็นคนดีแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือต้องเป็น “ครูที่สอนดี”ด้วย ถึงกับมีการเรียกร้องให้ผู้บริหารประเทศ คืน “ครูสอนดี” ให้สังคม


“สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง” เป็นสโลแกนสั้นๆ แต่กินความลึก สะท้อนถึงคำจำกัดความ “ครูสอนดี” ที่ไม่ได้มีเฉพาะจิตวิญญานของความเป็นครูเท่านั้นหากแต่จะต้องถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเพียรพยายามที่จะพัฒนาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับศักยภาพและข้อจำกัดของผู้เรียน ช่วยลูกศิษย์ให้เติบโตเป็นเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ไม่สร้างภาระให้สังคมด้วย


“จังหวัดและชุมชนท้องถิ่นจะปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้อย่างไร”เพื่อปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา เป็น การประชุมสัมมนา ของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยูนิเซฟ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานส่งเสริมธุรกิจ เพื่อทำความเข้าใจกับคณะกรรมการ ในการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในระดับจังหวัดและในระดับท้องถิ่น ให้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของการคืนครูสอนดีให้สังคมและท้องถิ่น ภายใต้ “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี” โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และองค์กรสาธารณประโยชน์ ร่วม 600 คน


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดประชุมเอาไว้ว่า “ผมอยากจะขอเน้นย้ำว่าการปฏิรูปการศึกษาหัวใจสำคัญก็คือคุณภาพคน ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่และชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นถือว่ามีความสำคัญมาก ทุกวันนี้ แม้รัฐบาลจะพยายามผลักดันนโยบายเรียนฟรีให้กับเด็กไทยทุกคน แต่ช่วยเยียวยาปัญหาเด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบการเรียนจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งได้เพียงบางส่วนเท่านั้น การตั้ง สสค. ขึ้นมา ก็เพื่อระดมพลังจากหลายภาคส่วน โดยเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่สุดในการยกระดับคุณภาพการศึกษา คือ ครู ปัจจัยสำคัญคือ คุณภาพของครู จึงเป็นที่มาของโครงการครูสอนดี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่น ร่วมกันคัดเลือกครูที่ได้รับการยกย่องเป็นต้นแบบได้เพื่อให้รางวัล และขยายผลสู่การมีครูคุณภาพมากขึ้น โดยหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง


โครงการครูสอนดีจะสำเร็จหรือไม่ คำตอบอยู่ที่ท้องถิ่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกลไก 2 ระดับ คือ คณะกรรมการในระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่นในการดำเนินการ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นที่ปรึกษา แต่ในการขับเคลื่อนจะอยู่ที่ท้องถิ่นคือ หัวใจของการทำงานร่วมกัน โดยจะประสานเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆเพื่อให้เกิดเครือข่ายครูสอนดี ซึ่งในปี 2554 จะเกิดครูสอนดีขึ้น 20,000 คน หรือเฉลี่ยตำบลละ 2-3 คน ซึ่งจะช่วยต่อยอดและส่งเสริมให้มีครูสอนดีเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากในสังคมไทย


สำหรับขั้นตอนในการคัดเลือกครูสอนดีจะเป็นเช่นไร เรื่องนี้นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน คนที่ 2 กล่าวว่า ขั้นตอนในการคัดเลือกครูสอนดี ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ


1) การสรรหาครูสอนดี โดยสถานศึกษาและท้องถิ่นจะเป็นผู้เสนอชื่อครูสอนดีในท้องถิ่นของตัวเองไปยังคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับท้องถิ่น


2) การคัดเลือกครูสอนดี โดยคณะกรรมการระดับท้องถิ่น จะทำการคัดเลือกครูสอนดีตามคุณสมบัติที่กำหนด โดยต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 4 ของจำนวนในพื้นที่ ในจำนวนนี้หากมีครูที่สอนเด็กด้อยโอกาส จะได้รับการเสนอชื่อในจำนวน 1 ใน 4 ของรายชื่อทั้งหมด จากนั้นจะส่งรายชื่อมายังคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อคัดเลือกครูสอนดีให้ได้ตามสัดส่วนของจังหวัด รวมถึงการคัดเลือกรางวัลทุนครูสอนดี โดยเฉพาะครูที่สอนเด็กด้อยโอกาส จำนวน 600 รางวัล รายละ 500,000 บาท เพื่อขยายผลการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี


3) กระบวนการตรวจสอบและรับฟังข้อทักท้วง เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดและท้องถิ่นจะเป็นผู้รับฟังข้อทักท้วง ซึ่งจังหวัดที่มีกระบวนการคัดเลือกที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และดำเนินการอย่างมีส่วนร่วม จะได้รับรางวัลเพื่อขยายผลการทำงานด้านการศึกษา จำนวน 10 จังหวัด จังหวัดละ 5 ล้านบาท โดยจะมีการมอบรางวัลครูสอนดี ทุนครูสอนดี และจังหวัดดีเด่นในช่วงปลายปี 2554 นี้


เมื่อโครงการนี้สำเร็จลงด้วยดี เยาวชนไทย น่าจะมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพราะ มีทรัพยากรบุคคลที่เป็นครู มีประสิทธิภาพ ซึ่งวันนั้น เราจะทำ ให้ประเทศไทยพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างไร โอกาสก็พอจะมีให้เห็นได้ง่ายมากขึ้น


 


 


 ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ