มิติใหม่ อบต.ร่วมสร้างเสริมสุขภาพชุมชน
“สุขภาวะ” หมายถึง การมีสุขภาพที่ดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและปัญญา โดยคนส่วนใหญ่มองเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือการจัดการด้านสุขภาพต้องเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่กรอบความคิดนี้กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะท้องถิ่น ที่ทำเรื่องถนนหนทาง กำลังจะเพิ่มบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ลูกบ้าน ภายใต้โครงการการพัฒนาทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่บุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่เน้นการสร้างความเข้าใจที่จะไปแก้สภาพแวดล้อมทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมการจัดการปัญหาด้านสุขภาวะชุมชน
เมื่อเร็วๆ นี้ในงานสัมมนาตลาดนัดความรู้ “อปท. :หัวใจการสร้างสุขชุมชน” Local government “at the heart of the health and wellbing agenda” ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี มีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และทีมสร้างเสริมสุขภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมกว่า 500 คนเข้าร่วม จัดโดยสำนักสร้างสรรค์และนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่ง ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวเป็นประธานในพิธีเปิดว่า ภาพของ สสส.ที่หลายคนเข้าใจคือการทำเรื่องที่เน้นการงดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แต่ความจริงแล้ว สสส.ทำมากกว่านั้น คือการพยายามให้คนไทยหันมาสนใจเรื่องสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องของหมอ พยาบาลเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน การสร้างเสริมสุขภาพเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ โดยการประกอบอาชีพทำให้คนป่วยเป็นโรคมะเร็งมากถึง 80% จากการสำรวจตลาดมีการพบว่ามีการใช้ยาฆ่าแมลง ที่เป็นสารสำคัญก่อให้เกิดมะเร็ง นอกจากผู้บริโภคจะได้รับสารแล้ว ผู้ปลูกจะได้รับสารโดยตรงอย่างมาก ดังนั้นจะเห็นแล้วว่าเรื่องสุขภาพไม่เพียงออกกำลังกายอย่างเดียว แต่รวมถึงการอยู่รวมกันในสังคม การประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมด้วย
“มีงานวิจัยว่าคนออกกำลังกาย เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญ สสส.อยากให้ทุกคน ทุกชุมชน ทุกท้องถิ่นทั่วประเทศหันมาสนใจสร้างเสริมสุขภาพด้วยตนเอง อย่าง อบต.ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุดจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยจัดระบบ ดูแลเรื่องอาชีพ ดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาภาพของ อบต.จะทำงานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง การทำถนน แต่ต่อไปท้องถิ่นสามารถทำให้คนมีสุขภาพดีได้” ทพ.กฤษดากล่าว
ด้านนายสุรพล เหลี่ยมสูงเนิน หัวหน้าโครงการพัฒนาทักษะการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ทีมสร้างเสริมสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บอกเล่าถึงโครงการนี้ว่า สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมฯ ได้เข้าไปพัฒนา อปท.ขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกับ สสส.โดยเน้นเรื่องวิธีคิด การบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพ โดยที่ทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องสุขภาวะองค์รวม ความเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคนที่กระทบต่อสุขภาวะองค์รวมทั้งสิ้น ที่มีปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ เมื่อท้องถิ่นเกิดความเข้าใจส่วนนี้แล้ว เราก็ชวนวิเคราะห์สถานการณ์ที่อยู่ในบริบทพื้นที่ และรับทราบว่าสถานการณ์ใดที่ต้องได้รับการแก้ไข และให้มีการวางแผน 3 ปี ซึ่งในกระบวนการจัดการความรู้นี้ เราเน้นกระบวนการเชิงปฏิบัติมากกว่าเชิงบรรยาย โดยมีพี่เลี้ยงที่เป็นนักวิชาการเป็นที่ปรึกษาให้กับ อบต.อย่างต่อเนื่อง และเมื่อครบ 3 ปีแล้ว ก็ให้ อบต.เขียนโครงการขึ้นมาและชวนร่วมลงทุนกับ สสส.ในระยะแรกลงทุน 30% และ สสส.70% แต่ผลลัพธ์ของ 3 ปีที่ผ่านมาพบว่าในแง่การลงทุนมีการลงทุนเองมากขึ้น โดยท้องถิ่นทำเองถึง 70% และ สสส.30% ซึ่งเหตุผลที่ยังขออยู่เพราะการต้องมีพี่เลี้ยงและที่ปรึกษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
“เราชวนท้องถิ่นคิดก่อนเลย ว่าให้มองวิเคราะห์ข้อมูลไล่มาตั้งแต่การเก็บข้อมูล การจัดทำแบบสอบถามประชาชนในพื้นที่ สังเคราะห์ข้อมูลและคืนข้อมูลเข้าสู่เวทีประชาคม เมื่อประชาคมสนใจ ก็จะกลายมาเป็นคณะทำงานโดยปริยาย เพราะเขาเริ่มมองเห็นปัญหาและคิดว่าเป็นสิ่งที่เขาต้องร่วมแก้ไข โดยขณะนี้มี อปท.เข้าร่วมแล้ว 116 แห่ง และที่กำลังเข้ามาใหม่อยู่ประมาณ 65 แห่ง ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สิ่งที่เป็นผลลัพธ์ที่น่าสนใจของการเป็นพี่เลี้ยงคือ อบต.รุ่นแรก ขยับฐานะตนเองให้กลายมาเป็นพี่เลี้ยงให้ อบต.รุ่นอื่น และขยับฐานะมาเป็นผู้จัดการโครงการแทนเรา ถ้าคิดในมุม สสส.คือการทำงานที่เกิด change agent โดยที่ผมก็แค่เป็นที่ปรึกษาเฉยๆ” อาจารย์สุรพลกล่าว
อาจารย์สุรพล เล่าว่า แม้ในช่วงแรกจะเกิดปัญหาเรื่องความร่วมมือ ผู้บริหาร หากนายก อบต.ปลัด อบต.ไม่เข้าใจก็จะทำงานยาก ดังนั้น เราจึงต้องทำความเข้าใจไปยังผู้บริหารหลักก่อน แต่ปัจจัยสำคัญคือทีมสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาที่เป็นเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน แม้นายก อบต.จะเปลี่ยนคน ก็ไม่มีผลกระทบ เพราะทีมยังอยู่ และมีความเข้มแข็ง
สำหรับ อบต.ที่จะได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนั้น อาจารย์สุรพลบอกว่า ลำดับแรกเลยคือเป็น อปท.ขนาดกลางและขนาดเล็ก และยังไม่เคยมีโอกาสเข้าร่วมกับ สสส.ซึ่งก็เป็นการเปิดภาคีหน้าใหม่ให้กับ สสส.ด้วย รวมทั้ง ไม่ใช่ อบต.ที่เป็นต้นแบบของประเทศเพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เข้าถึงแหล่งทรัพยากรของประเทศได้ง่ายอยู่แล้ว และเป็น อบต.ที่อยู่ระหว่างการเข้าแผนกองทุนสุขภาพตำบล นอกจากนี้ทาง อบต.จะต้องส่งทีมเข้ามาจำนวน 4 คนที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง และเงื่อนไขสุดท้ายคือการแสดงความเป็นเจ้าของ
อย่างไรก็ตามเบื้องต้นมีพื้นที่ อปท.10 แห่งที่ได้รับมอบประกาศเกียรติคุณเป็น อปท.ต้นแบบ ยกตัวอย่างเช่นที่เทศบาลตำบลเมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ อาจารย์สุรพลบอกว่า เดิมทีการบริหารงานในพื้นที่ของเทศบาลนี้เป็นการบริหารงานแบบแนวดิ่ง เมื่อทางเทศบาลฯ เข้าร่วมโครงการ ก็มีการปรับเปลี่ยนการบริหารงานโดยเป็นการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลสุขภาพตำบล และงานของ อบต.ชุมชนและประชาชนมาร่วมกันพัฒนา สุดท้ายรูปแบบการบริหารงานของเทศบาลเมืองแกเป็นเรื่องของสุขภาวะทั้งสิ้น โดยให้ประชาชนบริหารจัดการเอง ซึ่งก็นับเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง
ขณะเดียวกันนายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. ยังกล่าวภายในการเสวนาเรื่อง “เปิดมิติใหม่งานสร้างสุขภาวะด้วยศักยภาพของทีมงานสร้างสุข อปท.” ว่า วันนี้จะเห็นแล้วว่าการดำรงคงอยู่ เราต้องเปลี่ยนการรวมศูนย์อำนาจมาเป็นการสร้างฐาน และฐานที่สำคัญคือชุมชนท้องถิ่นทั้งกว่า 7 พันแห่ง จะถูกโยงเข้าหากันเป็นประเทศไทย ซึ่งอำนาจจริงๆ คือการคืนอำนาจให้ประชาชนเช่นเดียวกันการสร้างเสริมคือการสร้างสุขภาวะใน 4 มิติ ที่สุดแล้วสังคมก็จะเป็นสุข การมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญ ท้องถิ่นต้องสร้างการมีส่วนร่วมและดึงภาคประชาชนให้เข้ามามีบทบาทในการสร้างเสริมสุขภาพให้ได้ เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ท้องถิ่นก็จะดูแลตัวเองได้
เมื่อเริ่มต้นสร้างเสริมสุขภาพ โดยมองปัญหาท้องถิ่นเป็นสำคัญและจัดการแก้ไขตามลำดับ ท้องถิ่นที่เคยถูกโยงกับเรื่องของสาธารณูปโภคของชุมชนเพียงอย่างเดียว บทบาทของการนำเรื่องสุขภาพจะกลายเป็นมิติใหม่ที่น่าสนใจ เพราะหากชาวบ้าน ชาวชุมชนท้องถิ่นแข็งแรง พื้นที่ก็จะเกิดสุขภาวะที่ดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th