มิติใหม่ “สิงห์รถบรรทุก” สร้างสุขหลังพวงมาลัย

ทำไม รักสิบล้อต้องรอ 10 โมง!!! คงเป็นคำถามเล่นๆ ที่ถามกันมานานว่า ทำไมต้องรอ 10 โมง…เพราะหลังช่วงเวลาเร่งด่วนหรือหลัง 10 โมงเป็นต้นไป รถประเภทบรรทุกหนักจึงจะสามารถวิ่งได้ตามกฎหมายนั่นเอง

เมื่อพูดถึงคนขับรถบรรทุกที่มีพาหนะคู่กายคันยักษ์ เป็นเพื่อนคู่ชีพในการทำมาหากิน คงไม่ต้องบอกว่าคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนทำงานเหล่านี้เป็นอย่างไร เชื่อว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่พอจะสังเกตเห็นอยู่บ้าง

หน้าที่ของพวกเค้าคือ “ขับรถ” เพื่อขนส่งสินค้าไปยังจุดหมายตามที่ได้รับมอบหมายให้ทันกับเวลา และสินค้าครบมูลค่าตามคำสั่ง แม้จะเป็นเวลาในยามค่ำคืน หรือสภาพอากาศฟ้าฝนไม่เป็นใจ พวกเขาก็ยังต้องเร่งขับม้าเหล็กร่างใหญ่ไปให้ถึงที่หมายให้จงได้

ด้วยเหตุนี้ทางสำนักสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทยซึ่งเป็นตัวแทนผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการโลจิสติกส์จึงได้จัดโครงการ “มิติใหม่ของการเสริมสร้างองค์กรสุขภาวะ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับบุคลากรโลจิสติกส์ทางบก (พนักงานขับรถ)” เพราะเล็งเห็นคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น เตรียมพร้อมรับมือกับการก้าวสู่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ

นายเกริกกล้า สนธิมาศ ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า ตามที่กระแสโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลกระทบเป็นปัญหาสังคมที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ และต้นทุนพลังงานในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญคือความท้าทายใหม่ที่เกิดการตกลงอาเซียน 10 ประเทศ มีมติรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ASEAN Economic Community : AEC ภายในปี 2558 ซึ่งจากการศึกษาผลกระทบของการเปิดเสรี AECเฉพาะสาขาโลจิสติกส์จะมีการเปิดเสรีเร็วกว่าสาขาอื่นๆ ภายในปี 2556 เมื่อผู้ประกอบการขนส่งต้องส่งสินค้าผ่านแดนไปยังประเทศที่ 2 หรือ 3 จะต้องมีอุปสรรคทางด้านกฎหมายและระเบียบ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจทำให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ที่มีแรงงานมากกว่า 4.7 ล้านคน กับผู้ประกอบการกว่า 15,000 ราย ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะตัวเลขพนักงานจัดส่งสินค้าหรือพนักงานขับรถที่มีตัวเลขสูงถึง 2 ล้านคน จะต้องมีการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มทักษะการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

นายเกริกกล้า กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการดังกล่าวเรากำหนดแผนไว้ 3 ปี (2554-2556) โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมกว่า 1 หมื่นแห่ง พนักงานขับรถจำนวน 1 ล้านคน ในการขับเคลื่อนพัฒนา เสริมการเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาทักษะทางภาษา อาทิ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น เพื่อรองรับการก้าวสู่การเปิดเสรี AEC

นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส.กล่าวว่า คุณภาพชีวิตของกลุ่มคนขับรถไม่ได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น เห็นได้จากการใช้ชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ บางรายที่ขับรถก็มีการใช้สารเสพติด บางรายก็ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก และยังเป็นการสะท้อนปัญหาสู่สังคมมากขึ้น ดังนั้น เรามีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ให้ดีขึ้น โดย สสส.ได้นำเอาแนวทางในการสร้างสุขในองค์8 ประการ หรือ Happy 8Work Place ขยายไปยังกลุ่มผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบกับในปี 2558 ไทยจะก้าวเป็นประชาคมอาเซียนที่มีการแข่งขันและเปิดเสรีไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ดังนั้น วันนี้เราต้องทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เตรียมพร้อมรับกับอนาคต โดยการพัฒนาความรู้ความสามารถ ให้มีมาตรฐานวิชาชีพที่ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การปรับเพิ่มผลตอบแทนตามความรู้ความสามารถที่ได้รับการพัฒนา ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้พนักงานขับรถทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ผมอยากให้ยกระดับชีวิต มาตรฐานของกลุ่มคนเหล่านี้ให้เข้าสู่มาตรฐาน และอยากให้ทุกรัฐบาลให้ความสนใจประเด็นนี้ เพราะต้องอย่าลืมว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีครอบครัว รวมๆ แล้วเกือบ 10 ล้านคน ดังนั้น คุณภาพชีวิตของพวกเขาจึงสำคัญ โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตโดยรวม ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ เป็นต้น และด้วยภาระหน้าที่ของ สสส.เองจะทำเรื่องหลักๆ อยู่ 2-3 เรื่อง เช่น เหล้า บุหรี่ และความปลอดภัยทางถนน และจะเห็นว่าที่ผ่านมาจะมีข่าวพนักงานขับรถกินเหล้า แล้วเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น หากเราทำโครงการแบบนี้ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเลย เราจึงใช้ AECเป็นเป้าหมายเริ่มต้นเพื่อเตรียมคนให้ประเทศไทยมีพนักงานขับรถที่เป็นมืออาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาวะที่ดีขึ้น”นายแพทย์ชาญวิทย์กล่าว

เชื่อได้ว่าเมื่อเราให้ความสำคัญกับ คน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญกับผลงานที่ออกมา ถือเป็นโอกาสดีที่เราไม่ทอดทิ้งกลุ่มคนรากหญ้าที่เป็นฟันเฟืองสำคัญไปไม่น้อยกว่าฟันเฟืองใดในองค์กร ในการก้าวสู่เป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบ โดยอนาคตหวังว่าเราจะมีพนักงานขับรถที่เป็นต้นแบบ มีทักษะ มีวินัย และเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ เพื่อร่วมสร้างมาตรฐานบุคลากรในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำให้พนักงานมีความสุขในการใช้ชีวิตให้มากขึ้นด้วย

 

 

เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code