มิติสุขภาพดี-ปรารถนาจากโลกนี้ไปอย่างงดงาม

ที่มา : เว็บไซต์ adaybulletin.com


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ adaybulletin.com


มิติสุขภาพดี-ปรารถนาจากโลกนี้ไปอย่างงดงาม thaihealth


ดร. นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม | มิติของสุขภาพดีและความปรารถนาจากโลกนี้ไปอย่างงดงาม


คนส่วนใหญ่อาจคิดว่า ‘ความตาย’ และ ‘การมีสุขภาพดี’ คือสองสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน แต่สำหรับ ดร. นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กลับมองว่าทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงและส่งเสริมกันอย่างแยกไม่ออก เพราะหากเราปรารถนาจะจากโลกนี้ไปอย่างงดงาม เราก็ควรเตรียมตัวและเตรียมหัวใจของตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ เริ่มจากการมีสุขภาพกายที่แข็งแรง จิตใจแจ่มใส มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และเข้าใจชีวิตในทุกขณะจิต


มิติของการมีสุขภาพดี…


สสส. เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายชัดเจนคือสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพดี แต่คำว่า ‘สุขภาพดี’ มันไม่ได้มีแค่เรื่องสุขภาพกาย หรือการมีร่างกายที่แข็งแรงอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ มันมีทั้งหมด 4 ด้าน คือ กาย จิต สังคม ปัญญา เราอยากให้คนมีครบทั้ง 4 มิตินี้ กายคือการมีสุขภาพแข็งแรง เช่น หมั่นออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ต่อมาเป็นสุขภาพจิต คือมีจิตใจดี ไม่เศร้าหมอง มีเมตตากรุณา มองว่าชีวิตของตัวเองมีคุณค่า มีประโยชน์ ซึ่งตรงนี้มันจะเชื่อมโยงไปถึงระดับสังคมด้วย คือการทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับรอบข้าง และมิติสุขภาวะทางปัญญาซึ่งเป็นมิติที่มีความสำคัญ เข้าใจความสุข ความว่าง มองโลกตามความเป็นจริง และมีความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งตามหลักพุทธศาสนาแล้ว นี่คือสภาวะสูงสุด


การเตรียมตัวตายในทุกช่วงวัย…


เราพยายามทำให้คนคนหนึ่งมีครบ 4 มิตินี้ทุกช่วงเวลา ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งเสียชีวิต แต่บางทีในช่วงสุดท้ายของชีวิต หลายคนก็อาจจะทุกข์เป็นพิเศษ ต้องการการดูแลเฉพาะ เพื่อที่จะหาทางออกว่าทำอย่างไรถึงจะตายดี ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่สร้างภาระให้คนรุ่นหลัง ซึ่งไม่ได้หมายความเราต้องมาใส่ใจเรื่องความตายแค่ในระยะสุดท้ายของชีวิต การเตรียมตัวตายมันเป็นสิ่งเราต้องสะสมมาในทุกช่วงวัย ถ้าเรามีวัยเด็กที่ดี ร่างกายแข็งแรง เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตด้วยความเข้าใจ วินาทีสุดท้ายเราก็จะจากไปอย่างมีความสุข


แต่ในขณะเดียวกันหลายๆ คนก็ตายไปแบบไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย เพราะฉะนั้น ชีวิตปกติของเราเนี่ยแหละคือช่วงเวลาในการเตรียมตัวตายทั้งหมด เราเคยมองความตายเป็นแง่ลบ ทรมาน จริงๆ แล้วเราควรมองในแง่ใหม่ว่าถึงอย่างไรเราก็ตายสักวัน แต่จะทำอย่างไรให้ช่วงเวลาก่อนตายของเราได้สร้างประโยชน์กับโลกใบนี้ ได้ทิ้งสิ่งดีๆ เอาไว้ และจากไปอย่างสงบ


มิติสุขภาพดี-ปรารถนาจากโลกนี้ไปอย่างงดงาม thaihealth


ความตายในมุมของแพทย์…


การเป็นหมอทำให้ผมมีประสบการณ์ใกล้ชิดกับความตายมากกว่าคนทั่วไป เราได้เห็นโรคภัยไข้เจ็บ ความทรมาน เมื่อก่อนเราเจ็บปวดมากเวลาเห็นคนไข้ตาย ไม่อยากให้เขาตาย ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา สิ่งที่ทำได้ก็คือการช่วยเขาให้ได้มากที่สุดด้วยองค์ความรู้ที่เรามี


อย่างครั้งหนึ่งผมพยายามช่วยชีวิตพ่อของเด็กคนหนึ่ง ทำทุกอย่าง ใส่เครื่องช่วยหายใจ ใส่อุปกรณ์ แล้วเขาทำท่าจะไม่ไหว ลูกสาวก็ตกใจและขอให้ช่วยพ่อให้ได้ มันบีบหัวใจมาก ใจหนึ่งเราก็สู้เพื่อเขาอย่างเต็มที่ อีกใจหนึ่งก็เสียใจแทนลูกสาวที่ร้องไห้และแทบจะกราบเราอยู่ตรงหน้าแล้ว ตอนนั้นเราไม่มีเวลาที่ต้องมาสอนเขาเรื่องการเตรียมตัวตายหรอก มันเลยทำให้เรียนรู้ว่า เราต้องเข้าใจการตายตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่แค่กับตัวเอง แต่กับคนข้างตัวเราด้วย เตรียมให้ตัวเองไม่เป็นภาระ และเตรียมใจเมื่อคนรักของเราต้องจากไป


ทางออกของการไปสบาย…


ในวงการแพทย์ตอนนี้เราเริ่มคุยกันมากขึ้นว่า ถ้าพ้นขีดการรักษา เราจะไม่เน้นการยื้อชีวิตแล้ว เพราะคนไข้ก็ตายอยู่ดี มันเสียทั้งเงิน ทรัพยากร อัตราการใช้เตียง เพียงแต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้เขาตายอย่างไม่ทรมาน ฉะนั้น ทางออกของเราคือใช้วิธี Palliative Care ดีกว่า เป็นการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งมุ่งเน้นการบรรเทาอาการทุกข์ทรมานต่างๆ และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจวบจนวาระสุดท้าย เราสู้ได้ แต่ถึงจุดหนึ่งถ้าไม่ไหวก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นธรรมชาติของชีวิต ซึ่งหลายครั้งปัญหาไม่ได้อยู่กับคนไข้ เพราะคนไข้ไม่รู้สึกแล้ว ญาติมากกว่าที่ต้องเข้าใจและปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน


นโยบายจาก สสส. …


การทำให้คนมีช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตที่ดีเป็นอีกหนึ่งงานที่เราต้องทำ อาจไม่ได้เน้นเรื่องกายมาก แต่เน้นเรื่องจิตใจ สังคม และปัญญา โดยต้องใช้องค์ประกอบหลายส่วน เช่น การสื่อสารสร้างความตระหนักเรื่องวิถีการเผชิญความตายอย่างสงบ การเปิดพื้นที่เรียนรู้ผ่านเวทีเสวนาสาธารณะ การจัดอบรม การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ เครื่องมือ และต่อมาคือการทำนโยบาย การสนับสนุนกฎหมาย ข้อบังคับให้คนรับรู้ว่าเวลาไปโรงพยาบาลเขาสามารถแสดงความประสงค์ว่าจะไม่ขอยื้อชีวิตผ่านการทำ Living Will (พินัยกรรมชีวิต) เช่น ขอไม่ปั๊มหัวใจ ขอไม่ใส่เครื่องช่วย เราควรบอกให้คนส่วนใหญ่รู้ว่าเขามีทางเลือกอะไรบ้าง รวมไปถึงการดูแลทรัพย์สินและพินัยกรรม


ความตายในโลก 4.0…


ผมกำลังอ่านหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นโลกที่เดินหน้าด้วยดิจิตอล ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แล้วผมก็สงสัยว่าสุดท้ายเราจะทำยังไงกับชีวิตดี เมื่อทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด แต่สุดท้ายในหนังสือกลับสรุปว่า เราต้องทำจิตตัวเองให้เป็นสุข มีจิตใจดี สุขภาพดี นั่นมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘ตัวเรา’ และมุมมองของเราทั้งหมด แม้แต่หลักศาสนาที่ค้นพบกันมาเป็นพันปีก็พูดเรื่องตัวเรา ชีวิต และความตาย หรือโลกที่พัฒนาไปไกลทำให้เราลืมคิดไปหรือเปล่าว่าความตายมันแสนสามัญและอยู่ใกล้เราแค่นี้เอง คนที่ผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิตอลค้ำฟ้าทั้งหลายสุดท้ายเขาก็ตายเหมือนกัน

Shares:
QR Code :
QR Code