มิติชุมชน เด็ก ผู้ใหญ่ สร้างวิถีชีวิตสุขภาวะ
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานครบรอบ 20 ปี ภาคีสร้างสุข นวัตกรรมความสุขที่ยั่งยืน พร้อมถอดบทเรียนการส่งเสริมสุขภาวะคนไทยให้ครบทั้งมิติ กาย จิตใจ ปัญญาและสังคม โดยพบว่าคนทุกกลุ่มมีการปรับตัวเพื่อรับชีวิตสุขภาวะดีขึ้น
เป็นเวลากว่าเกือบ 2 ปีที่คนไทยทุกคนต้องอยู่กับโรคระบาดโควิด-19 โรคที่ทำให้ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนวิธีชีวิตของตนเอง เพราะเมื่อไม่สามารถทำให้โรคนี้หายไปได้ ทุกคนก็ต้องดูแลตัวเอง และใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 ให้ได้
ในงาน “20 ปี ภาคีสร้างสุข นวัตกรรมความสุขที่ยั่งยืน” โอกาสครบรอบ 20 ปี ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “การสร้างวิถีชีวิตสุขภาวะ” ในยุคอยู่ร่วมกับโควิด-19” ฉายภาพให้เห็นว่าแต่ละกลุ่มคนมีแนวการปรับตัวเพื่อรับชีวิตสุขภาวะอย่างไร ได้แก่กลุ่มชุมชน เด็กและเยาวชน แสดงให้เห็นการรับมือป้องกันเพื่อมีสุขภาวะทั้งมิติ กาย จิตใจ ปัญญา และสังคม
จัดตั้งศูนย์แรกรับประจำหมู่บ้าน
ดาบตำรวจณรงค์ ทิพย์ดวง นายกเทศมนตรีตำบลไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ได้มาเล่าถึงวิถีชีวิตของชุมชนในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ว่า ตอนแรกที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศ ทุกคนก็ไม่ได้มองว่าจะมาเกิดในประเทศไทย ทำให้ไม่ได้มีการเตรียมตัวอะไร แต่เมื่อมีการประกาศว่ามีการติดเชื้อในประเทศไทย ชาวบ้านที่ได้เสพข่าวต่างๆ เริ่มมีความวิตกกังวล ซึ่งตอนนั้นทางตำบลก็ได้ให้ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์แก่พี่น้องในพื้นที่เรื่องความรุนแรงของโรค และหากมีการระบาดในชุมชนจะดำเนินการอย่างไรบ้าง? … รวมถึงการปฎิบัติตัว การป้องกัน การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ
“ตำบลไชยปราการ อยู่จากตัวเมือง จ.เชียงใหม่ 130 กม. ซึ่งการทำงานรับมือกับการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น ทางตำบลได้ทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค และผู้ใหญ่บ้านทั้ง 20 หมู่บ้าน โดยมีการจัดตั้งศูนย์แรกรับประจำหมู่บ้านทั้ง 20 หมู่บ้าน เพื่อให้บุคคลที่เข้ามาในพื้นที่รายงานตัวแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรค อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อออกคำสั่งในการกักตนไว้สังเกตอาการ ทั้งจะให้เลือกเป็น Home Quarantine เฉพาะบุคคลที่มีพื้นที่ในการกักตน ก่อนรับการกักตนผู้นำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขจะต้องประเมินก่อน สำหรับบุคคลที่ไม่มีพื้นที่ในการกักตนเองพนักงานควบคุมโรคจะพาไปกักกันตน ณ Local Quarantine ในหมู่บ้าน” ดาบตำรวจณรงค์ กล่าว
พร้อมดูแลชุมชน หากมีงบฯเพียงพอ
การตั้งศูนย์แรกรับประจำหมู่บ้าน ไม่ได้เพียงคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงเท่านั้น แต่ทุกคนที่เข้ามาในพื้นที่ตำบลไชยปราการ จะต้องถูกตรวจคัดกรองและทำความเข้าใจในเรื่องกักตัว 14 วัน ซึ่งการคัดกรองต่างๆ แม้จะมีการติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่แต่ไม่ได้เป็นคลัสเตอร์ใหญ่
นายกเทศมนตรีตำบลไชยปราการ จ.เชียงใหม่ เล่าต่อว่า การกักตัว HQ หรือ LQ จะมีการเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล ซึ่ง HQ ที่กักตัว 14 วันจะมีถุงยังชีพครอบครัวละ ไม่เกิน 700 บาท ต่อ 1 ครอบครัว และผู้ที่กักตัว LQ จะมีการจัดค่าอาหารให้ไม่เกิน 50 บาทต่อวัน โดยในชุมชนจะร่วมกันดูแลผู้ป่วย ขณะที่เทศบาลจะสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำระบบช่วยเหลือ ดูแลคนในชุมชนทุกเรื่อง ดังนั้น ตอนนี้สิ่งที่กังวล ไม่ใช่เรื่องการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 แต่เป็นเรื่องของงบประมาณ เพราะตั้งแต่เกิดโควิด-19 ไม่ได้มีงบประมาณที่นำมาใช้เพื่อโควิดโดยตรง ทำให้ทางเทศบาลต้องนำงบประมาณส่วนอื่นๆ มาดำเนินการ ซึ่งหากมีการตรวจสอบก็อาจจะมีปัญหาได้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับระเบียบต่างๆ
“งบประมาณในการสนับสนุนดูแลเรื่องโควิด-19 ตำบลไชยปราการได้ใช้งบไปแล้วกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะได้รับงบประมาณในส่วนนี้กลับมาหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าจะมีการตรวจสอบหรือไม่ ผู้ปฎิบัติงานก็มีความกังวลในเรื่องเกณฑ์หลังการปฎิบัติงาน แต่หากจะมีการตรวจสอบภายหลังก็น้อมรับ เพราะทุกการทำงานเรื่องโควิด มีการประเมินการทำงานทุกส่วน และเป็นไปตามระเบียบสั่งการที่มีมา”ดาบตำรวจณรงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ปลอดโรค ปลอดภัยในยุคโควิด-19 ทุกภาคส่วนต้องช่วยเหลือเกื้อกูล และร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน รวมถึงการดูแลเด็ก ๆ เพราะต่อให้โควิด-19 มีผลกระทบต่อเด็กน้อยเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่แต่ก็ต้องดูแลเด็กเช่นเดียวกัน
อีเอฟพัฒนาชีวิตเด็กให้อยู่รอด
นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) เล่าถึงการสร้างวิถีชีวิตสุขภาวะของเด็กและเยาวชนด้วยอีเอฟ ( EF) ว่า คำนิยามของEF คือ คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น อยู่กับคนอื่นเป็น มีความสุขเป็น ซึ่งการที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีบุคลิกภาพอย่างไร EF มีส่วนสำคัญอย่างมากเพราะEF เป็นทักษะสมองเมื่อการจัดการชีวิตให้สำเร็จ มีองค์ประกอบ 9 ด้าน คือ 1.ความจำที่นำมาใช้งาน 2.ยับยั้งชั่งใจ-คิดไตร่ตรอง 3.ยืดหยุ่นความคิด 4.การใส่ใจจดจ่อ 5.การควบคุมอารมณ์6.การประเมินตนเอง 7.การริเริ่มและลงมือทำ 8.การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ และ 9. การมุ่งเป้าหมาย
นางสุภาวดี เล่าต่อว่า ช่วงวัยแห่งการฝึกฝนเด็กดีที่สุดคือช่วง 0-6 ปี ถ้าช่วยกันดูแลเด็กในช่วงปฐมวัยให้ได้ดี เด็กก็จะสามารถมีโครงสร้างเส้นใยประสาทในสมอง และมีทักษะทั้ง9 ด้าน ซึ่ง EF ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่เราไม่รู้ว่าสมองทำงานอย่างไร เพราะฉะนั้นการจะสร้างวิถีชีวิตสุขภาวะของเด็กและเยาวชนในทางปฎิบัติสามารถทำได้ง่ายๆ
ดังนี้ 1.การกินที่ดี เพื่อถ้ากินดีจะไปเพิ่มเนื้อสมอง 2.การนอนที่ดี จะทำให้คุณภาพการตื่นดี เด็กที่นอนเยอะๆ สมองจะจัดระเบียบได้ดี เวลามาดึงข้อมูลมาใช้จะทำได้ง่าย 3.กอดหรือการแสดงความรัก การพูดดี ปฎิบัติดี ให้กำลังใจเด็ก ทำให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเอง 4.การอ่านและการเล่า พ่อแม่สามารถอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง เป็นทารก เด็กจะค่อยๆคิดตามจินตนาการตาม
“เด็กไทยมีEFพัฒนาการล่าช้าด้านภาษาถึง 30% ดังนั้น การให้เด็กอ่านหนังสือ หรือเล่าเรื่องให้เด็กฟังตั้งแต่เล็กมีความสำคัญ เพราะการฟังมากนำไปสู่การต่อยอดในการประมวลผลต่างๆ นอกจากนั้น ต้องฝึกให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง เช่นการทำงานบ้าน เพื่อให้เห็นศักยภาพตัวเอง เกิดความเชื่อมั่น เล่นเอง กินเอง จัดเสื้อผ้าเอง ดูแลตัวเองได้ มีทักษะเหล่านี้ล้วนจำเป็นนำไปสู่แนวคิดหรือ mindset ของเด็กๆ โดยเฉพาะการเห็นคุณค่าของตนเอง โลกใบนี้ซับซ้อน รุนแรง เปลี่ยนผันและคาดการณ์ได้ยาก เด็กต้องมีทักษะเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดให้ได้” นางสุภาวดี
ภาวะติดบ้านสู่กิจกรรมทางกายลด
นอกจากเรื่องของสมองแล้ว เรื่องของทางกายก็สำคัญไม่แพ้กัน แต่ด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนอยู่ติดบ้านมากขึ้น หลายคนก็ไม่ได้ออกกำลังกาย ดูแลตัวเองอย่างที่เคยกระทำ
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงการดูแลตนเองให้มีกิจกรรมทางการสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ว่า กิจกรรมทางกายไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะเรื่องออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา แต่รวมถึงกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายทุกอย่าง ซึ่งเมื่อพูดถึงการระบาดของโควิด-19 จากการทำงานของภาคีเครือข่ายด้านส่งเสริมกิจกรรม พบว่า โควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างที่ควรเป็น
“ภาวะติดบ้าน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ เพราะเริ่มจะเครียด เมื่อเครียดจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การนอน และมีแนวโน้มพฤติกรรมเนือยนิ่ง อยู่ติดหน้าจอ ขาดกิจกรรมทางกาย และทานอาหารแปรรูปสูง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมน้ำตาล ขาดวิตามินดีจากแสงแดง ตอนนี้คนไทยจึงมีภาวะอ้วนและลงพุง 27 ล้านคน เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 14 ล้านคน และมีกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่ง 3 กลุ่มนี้มีปัญหาสุขภาพมากที่สุด” ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ กล่าว
คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงสุดในรอบ 9 ปี
ในช่วง 8-9 ปี ที่ผ่านมา แนวโน้มกิจกรรมทางกายที่เพียงพอต่อการป้องกันโรค กลุ่มประชากรวัยเด็กจะเฉลี่ย 60 นาที ต่อวัน กลุ่มประชากรผู้ใหญ่ จะเฉลี่ย 150 นาที หรือ 300 นาที ต่อ 1 สัปดาห์ แต่จากข้อมูลงานวิจัย ในปี 2563 พบว่ากิจกรรมทางกายจากเดิมประมาณ ร้อยละ 75 แต่ช่วงโควิดเหลือร้อยละ 55.5 และมีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2564 น ร้อยละ 63 และระยะเวลาพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อวันสูงที่สุดในรอบ 9 ปี โดยในปี 2563 สูงขึ้น 14.32 ชม.
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เล่าต่อไปว่า การขยับเขยื้อนร่างกาย หรือการทำกิจกรรมทางกายมีบทบาทสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นภูมิคุ้มกัน เป็นกำแพงในการป้องกันโรคต่างๆ รวมถึงโรคโควิด -19 ซึ่งจากงานวิจัยพบว่ากิจกรรมทางกายมีประโยชน์อย่างมากสำหรับทุกคน โดยประโยชน์ก่อนติดโควิด-19 จากการศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 48,440 ราย พบว่ากลุ่มที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง มีโอกาสเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 2.26 เท่า มีโอกาสเข้าไอซียูเพิ่มขึ้น 1.73 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2.42 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยโควิดที่กำลังรักษาตัวอยู่ พบว่าผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ได้มีกิจกรรมทางกายมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ช่วยลดความเสี่ยงที่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ.ได้ ซึ่งอธิบายได้จากการวัดระดับความแข็งแรกของกล้ามเนื้อ และผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวหายแล้ว ได้มีการติดตามจำนวน 30 ราย ที่ได้ออกกำลังกาย 2 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าความสามารถในการออกกำลังกายระดับความเหนื่อยล้าและสุขภาพโดยรวมดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ
“การกระตุ้นสังคมให้เกิดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และเกิดบรรยากาศเพิ่มและขยายโอกาสให้กับคนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค ควรดำเนินการ Active Prople Active Environment และActive Society เพราะการทำกิจกรรมทางกายต้องทำงานในเชิงระบบให้เกิดการส่งเสริมในสังคมไทยให้เห็นความสำคัญเรื่องนี้” ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย