‘มิตรผล’ สร้างชุมชนเข้มแข้งด้วยแรงผู้พิการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
"โครงการชุมชนเข้มแข็งด้วยแรงผู้พิการ กลุ่มมิตรผล" หนึ่งในแนวทางของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย เป็นหนึ่งในเกษตรอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับชุมชนจำนวนมาก โดยกลุ่มมิตรผลเองนั้น มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาจำนวนกว่า 40,000 รายในประเทศไทย และด้วยเจตนารมณ์ของผู้บริหารในทุกยุคทุกสมัย ที่ตั้งใจจะพัฒนาอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไร่อ้อย กลุ่มมิตรผลจึงมีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจแบบ "ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ" มาตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไร่อ้อยและชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง
โดยเริ่มต้นจาก "โครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต" เมื่อปีพ.ศ. 2545 เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการทำไร่อ้อยให้ชาวไร่มีผลผลิตสูงและต้นทุนต่ำ จนเมื่อเราได้ค้นพบว่าความสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น มิได้มีแค่เพียงแต่ด้านของเศรษฐกิจและรายได้ในครัวเรือนที่พอเพียงเท่านั้น กลุ่มมิตรผล จึงได้ยกระดับการดำเนินงานสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนภายใต้ "โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน"ในปี พ.ศ. 2555 โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไร่และชุมชน ผ่านการสร้างความเข้มแข็งในชุมชนที่ครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาวะ และจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรผสมผสานที่ช่วยสร้างอาชีพเสริมในครัวเรือนและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนได้อย่างยั่งยืน
การดำเนินงานในโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของกลุ่มมิตรผลมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง จนในปีพ.ศ.2558 เราได้ขยายโอกาสการพัฒนาสู่กลุ่มผู้พิการในชุมชน โดยความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธินวัตกรรมเพื่อสังคม ในโครงการ "ชุมชนเข้มแข็งด้วยแรงผู้พิการ" ด้วยการให้ผู้พิการมีส่วนร่วมในงานพัฒนาชุมชน สามารถทำงานได้ในชุมชนของตัวเอง เช่น งานช่างฝีมือ งานธุรการ งานการจัดการ และงานเอกสาร ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรืองานด้านเกษตรต่างๆ เช่น การเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรผสมผสาน แทนการเดินทางไปทำงานในสำนักงานหรือโรงงาน ซึ่งอาจมีความยากลำบากในการเดินทาง นอกจากนี้ กลุ่มผู้พิการยังได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ในการดำเนินชีวิต โดยมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน รู้จักออมเงิน ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และในวันนี้ พวกเขายังได้พัฒนาสู่การเป็นครัวเรือนอาสา เพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับชุมชนของตัวเองต่อไป
"โครงการชุมชนเข้มแข็งด้วยแรงผู้พิการ กลุ่มมิตรผล" เป็นอีกหนึ่งการดำเนินงานที่ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างโอกาสทางอาชีพและรายได้ให้กับกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสในชุมชนเท่านั้น แต่ความภาคภูมิใจในการมีอาชีพที่สามารถช่วยพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิด ยังเป็นแนวทางการดำเนินงานที่จะช่วยสร้างความเข็มแข็งให้ชุมชนได้พัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านสมาชิกในชุมชนเอง