มาเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองกันเถอะ

ที่มา : เว็บไซต์สวนผักคนเมือง โดยคุณญา ผู้ประสานงานโครงการสวนผักคนเมืองพัทลุง


ภาพประกอบจากเว็บไซต์สวนผักคนเมือง


มาเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองกันเถอะ  thaihealth


บ่ายวันเสาร์  ณ  ป่าไผ่สร้างสุข  อิ่มกาย บายใจ สุขอยู่ที่พอ กับบรรยากาศ ร่มรื่น เย็นสบาย อยู่แบบธรรมชาติ ต้นไผ่รายล้อมเต็มบริเวณ ปกคลุมทั่วทั้งพื้นที่  ใบไผ่ปลิดปลิว แสงแดดรำไร มาพร้อมสายลมโชยอ่อน  ทำให้บ่ายวันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2560  ที่ผ่านมา ไม่ร้อนจนเกินไป  เหมาะอย่างยิ่งที่จะเกิดกิจกรรมดีๆ แบ่งปันความรู้ประสบการณ์เพื่อนักปลูกผักทั้งหลาย  นั้นคือ กิจกรรมการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอ


ศูนย์อบรมสวนผักคนเมืองพัทลุง ปลูกผักปลูกเมืองปลูกชีวิต รู้สึกดีใจที่ได้ต้อนรับ คุณปุ่น กับคุณแอน วิทยากรผู้มากด้วยประสบการณ์การปลูกและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ แห่งสวนผักยอดรัก จังหวัดตรัง ผู้ที่มาพร้อมกับพืชผักต่างๆ เมล็ดพันธุ์มากมาย ที่เรารู้สึกประทับใจก่อนก้าวเข้าสู่ป่าไผ่ คือป้ายคำกล่าวของ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ที่คุณปุ่นถือมาพร้อมกับของพะรุงพะรังอย่างไม่อายสายตาใคร "เป้าหมายสูงสุดของเกษตรกรรมไม่ใช่แค่การเพาะปลูกพืชผล แต่คือการบ่มเพาะความสมบูรณ์แห่งการเป็นมนุษย์"  ยิ่งทำให้เรารู้จักตัวตนของคุณปุ่นคุณแอนมากขึ้น หลังจากที่ได้เขียนถึงประวัติของทั้งสองคนมาแล้ว การทำเกษตรของทั้งสองคนไม่ได้เพื่อเพาะปลูกและนำไปขายอย่างเดียว แต่ทำเกษตรเพื่อชีวิตเพราะมันเป็นวิถีชีวิต ที่ปลูกแล้วเหลือกินจึงนำไปขาย แบ่งปันผลผลิตให้ญาติสนิท เพื่อนบ้าน มิตรสหาย เพราะอยากให้ทุกคนได้บริโภคพืชผักที่ปลอดภัย ปลอดสารเคมี และรสชาติอร่อย นอกจากนี้ยังพึ่งตนเองมากที่สุด ในด้านปัจจัยการผลิต ลงมือทำปุ๋ย ปรุงดิน น้ำหมัก และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นที่มาของอาหาร จากการเป็นทั้งผู้เข้าร่วมและผู้จัดรู้สึกประทับใจสิ่งที่คุณแอนและคุณปุ่นพูดในครั้งนี้ เลยเก็บเรื่องราวดีๆ มาฝาก เริ่มกันเลยนะคะ 


มาเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองกันเถอะ  thaihealth


คุณปุ่น ได้กล่าวว่า “เมล็ดพันธุ์ตามท้องตลาด บริษัทที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีลูกดก โตเร็ว เขาไม่ได้พัฒนาเพื่อเรา นั้นคือจุดประสงค์ของเขา เพราะเขาพัฒนาเพื่อตลาด เพราะสิ่งที่เขาพัฒนานั้นพัฒนาโดยใช้เคมีเพื่อสนองในการปลูกปริมาณมากๆ เมื่อเราปลูกน้อยๆ ไม่ใช้สารเคมีมันจะปลูกยากนิดหนึ่ง สองเค้าพัฒนามาเพื่อให้มันอ่อนแอ เพราะถ้ามันโตเร็ว ลูกดก ธาตุอาหารที่อยู่ในผักจะมีคุณค่าเหลือน้อย ยกตัวอย่าง มะเขือเทศมันจะจืดมากๆ เลย เขาพัฒนามาเพื่อตลาด เขาไม่ได้บอกเราว่าแตงโมมีคุณค่าทางอาหารสูง แต่เขาพัฒนาเพื่อโตไว ลูกดก เราจะได้ขายเร็วๆ เปลือกแข็งๆ จะได้ขนส่งง่ายๆ คุณค่าทางอาหารสูง รสชาติอร่อย สิ่งนี้จะไม่มีเลย เสร็จแล้วเขาก็จะผูกขาดทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาถูก พอราคาถูกคนส่วนใหญ่จะซื้อ ลองปลูกเมล็ดพันธุ์นี้ซิจะรับซื้อหมดเลย เมื่อมีการปลูกมากๆ ปลูกเพื่อขายอย่างเดียว ทำให้วิถีชีวิตแบบพื้นบ้านที่ปลูกอย่างใส่ใจ ปลูกแล้วรสชาติอร่อยลองเก็บพันธุ์ดูผู้บริโภคก็เปลี่ยน จากที่เมื่อก่อนก็ปลูกไว้กินเอง แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ปลูกซื้อกินอย่างเดียว ซื้อกินง่ายกว่า เพราะมีคนผลิตมาเพื่อธุรกิจแล้ว ซื้อกินง่ายกว่า  แต่ว่าคุณค่าทางอาหารและสารเคมีที่เขาใส่มาให้เราจะมากแค่ไหนเพราะไม่ได้ปลูกแบบใส่ใจผู้บริโภค เราเลยได้รับสารเคมีเต็มๆ”


“ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง ทำไมมันมีอยู่แค่นี้ หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว พืชผักสายพันธุ์ต่างๆ มีเยอะมากๆ แต่ละฤดูเราจะได้กินผักที่หลากหลาย แล้วตอนนี้มันหายไปไหนหมด” นี้คือส่วนแรกที่คุณปุ่นเล่าให้เราฟังค่ะ


ผู้เข้าร่วมเสริมว่า “ถ้าตอนนี้เอาผักแต่แรกมาขาย คนก็ไม่รู้จักกิน เมื่อกินแล้วก็ไม่รู้ว่าสิ่งนี้เรียกว่าอะไร” 


มาเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองกันเถอะ  thaihealth


คุณปุ่น ได้กล่าวว่า “เด็กรุ่นใหม่จะไม่รู้จักกินเลย ทำไมเรากินผักแค่ 4-5 ชนิดนี้ เพราะเขาพยายามผูกขาด สุดท้ายแล้วถ้าเราไม่มาเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านต่างๆ ของเรา พืชผักต่างๆ ก็จะหายไป อีก 30 ปีข้างหน้าอาจจะเหลือแค่ คะน้า กวางตุ้ง ก็ได้ แล้วถามว่าเราจะหาความแข็งแรงจากไหน”


คุณแอน ได้กล่าวว่า “ทุกวันนี้ที่เราไม่สบาย ป่วยไข้กันเยอะๆ ก็มาจากอาหาร เราอย่ามองว่า เราปลูกแค่พืชผัก เราจะกินแค่พืชผัก เราต้องกินเนื้อสัตว์ ไก่ หมู ปลา ด้วย อาหารสัตว์ส่วนใหญ่มาจากข้าวโพด  มันสำปะหลัง ที่ปลูกแบบเคมี สัตว์กินสารเคมีเราก็กินสารเคมีด้วย”


นอกจากนี้ คุณปุ่น ยังเสริมว่า “เมล็ดพันธุ์ ทุกๆ ปีจะมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ห้าพันถึงหนึ่งหมื่นบาท แค่ยุคเรายังราคาเท่านี้แล้วรุ่นลูกหลานของเราจะไม่เป็นแสนหรือครับ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร อาหารก็จะแพงขึ้น เราต้องทำงานเท่าไร ทุกวันนี้เราทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เรายังมีชีวิต อยู่แบบนี้เลย ที่ต้องกินกระเพรา แตงกวา แล้วลูกหลานเราจะกินแค่ไหน เราไม่เคยคิดไง เรามัวแต่ทำงาน ต่อไปเราจะต้องทำงานอีกกี่ชั่วโมงจึงจะพอดี”


“ลูกใหญ่ๆ เนื้อแน่น กินหรอย หวาน ปู่ย่าเราจะบอกว่า “เนี้ยมึงเก็บไว้ให้ลูกให้หลาน “สิ่งนี้เป็นการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านของบรรพบุรุษเรา เป็นมรดกตกทอดมาให้เรา พอมันหรอย มันหวาน ขึ้นง่าย แค่จิ้มก็งอก นี้คือการพัฒนาสำหรับเราไงครับ แต่บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ไม่ได้คิดแบบนี้ เขาให้โตเร็วเพื่อสนองกับสารเคมี พอนำเมล็ดพันธุ์ใส่หลุมปุ๊บใส่สารเคมีบุ๊บเหลือเพียงรสชาติแข็งๆ จืดๆ”


มาเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองกันเถอะ  thaihealth


คนเข้าร่วมคนที่ 1 กล่าวว่า  “พอได้มาฟัง ก็เกิดแนวคิดว่า กลับไปจะต้องพยายามปลูกเหมือนน้องเค้า ถ้าเหลือก็แจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน”


คนเข้าร่วมคนที่ 2 กล่าวว่า “ปัจจุบันก็ซื้อผักอยู่ทุกวันก็ได้รับสารเคมีทุกวัน ตอนนี้คิดว่าจะเปลี่ยนมาปลูกกินเอง จะนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับวันนี้ไปปลูกและจะให้ญาติข้างๆ บ้านเอาไปปลูกทานด้วยดีกว่าผักที่ซื้อกินอยู่ทุกวันนี้ครับ”


คนเข้าร่วมคนที่ 3 กล่าวว่า “ดีค่ะ บางสิ่งบางอย่าง เราปลูกแล้วไม่ได้ผล พอฟังแล้วจะนำไปปฏิบัติดูค่ะ”


คนเข้าร่วมคนที่ 4 กล่าวว่า “ได้รู้ว่าการเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ใช้ในรุ่นต่อไป เมล็ดพันธุ์ที่เราซื้อมาจากบริษัทมันจะเอามาปลูกต่อไม่ได้ อันนี้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่เก็บมารุ่นต่อรุ่น พูดง่ายๆ คือเมล็ดพันธุ์จากปู่ยาตายาย เป็นเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเอาไวใช้รุ่นต่อรุ่นได้ แต่ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เราซื้อมาจากร้านปลูกแล้วกินได้ครั้งเดียว เมื่อเราเอาไปปลูกมันจะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์อื่น ปลูกต่อไม่ได้”


คนเข้าร่วมคนที่ 5 กล่าวว่า “วิถีชีวิตที่ปู่ย่าเราทำไว้ให้เราแต่ก่อนมันหายไปจากความทรงจำเราแล้ว พอมาฟังวันนี้คุณแอนคุณปุ่นอาจจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในขวด แต่ปู่ย่าเราเขาห่อไว้ในผ้า แล้วแขวนไว้ในห้องครัว เพื่อกันแมลง กันมอด ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคน จะต้องหันมาใส่ใจกับเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นของเรา เพื่อจะรักษาไว้ให้ลูกหลาน ไม่จำเป็นต้นไปพึ่งพานายทุนเสมอ จากที่เป็นข่าวนายทุนมีทรัพย์สินเพิ่มปีละเป็นหมื่นล้าน แต่เรายังต้องไปขึ้นทะเบียนคนจนเหมือนเดิม วันนี้เลยขอบคุณน้องๆ ทีมงานทุกคน แล้วก็ทีมงานสวนผักคนเมืองพัทลุง ผมเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราชพอได้มาฟังวันนี้ได้ความรู้มากมาย ขอบคุณมากครับ”


คนเข้าร่วมคนที่ 6 กล่าวว่า “ในเรื่องของการเก็บเมล็ดพันธุ์ ในตัวผมเองตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ ก่อนหน้านี้ก็ทำเกษตรอยู่ระเวลานานพอสมควร แต่ก็ไม่ได้ทำการเก็บเมล็ดพันธุ์เลย ผมได้มีโอกาสได้รู้จักพี่แอนพี่ปุ่นและกำลังศึกษาเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์อยู่ครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการอนุรักษ์พืชพันธ์พื้นบ้านให้ลูกหลานต่อไป”


มาเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองกันเถอะ  thaihealth


นอกจากผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้และแรงบันดาลใจที่จะนำไปปฏิบัติแล้ว ยังได้รับการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์จากสวนยอดรักไปปลูกที่บ้านอีกด้วยค่ะ และหลายคนจะตามไปเยี่ยมคุณแอนคุณปุ่นถึงที่บ้าน ไปสัมผัสวิถีชีวิตแห่งการพึ่งตนเอง เรียนรู้การเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองมากยิ่งขึ้น 


หากเราบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีงาม เมล็ดพันธุ์แห่งการแบ่งปัน ดำรงชีวิตอย่างเข้าใจธรรมชาติ รักในสิ่งที่ทำ ใส่ใจต่อผืนดิน สิ่งแวดล้อม สรรพสิ่งทั้งหลายคือเพื่อนร่วมโลกของเรา เราจะไม่โกธร โมโหใส่กันน้อยลงและเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันตลอดไป


มาร่วมบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ รักษาเมล็ดพันธุ์แห่งวิถีที่งดงามของบรรพบุรุษเราต่อไป ยิ่งเราบ่มเพราะมากเท่าไรโลกของเราก็จะน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ดั่งคำที่คุณแอนทิ้งท้ายไว้ให้แก่เรา “จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งคือ เมล็ดพันธุ์” แล้วพบกันใหม่ในกิจกรรมครั้งต่อไปนะคะ 

Shares:
QR Code :
QR Code