มาตรการรับบริจาคเลือด ป้องกันเชื้อโคโรนา
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐออนไลน์
แฟ้มภาพ
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กำหนดมาตรการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทางโลหิต โดยให้ผู้บริจาคโลหิตคัดกรองตนเองก่อนบริจาคโลหิต เพื่อป้องกันจากความเสี่ยงการได้รับเชื้อจากผู้บริจาคโลหิตไปสู่ผู้ป่วยรับโลหิต
รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 พบผู้ป่วยยืนยันการได้รับเชื้อจากต่างประเทศพักรักษาอาการที่โรงพยาบาลในประเทศไทย อีกทั้งมีการยืนยันแล้วว่าการแพร่เชื้อสามารถติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ได้จากการสัมผัสผู้ติดเชื้อ เช่น ละอองจากการไอ จาม แตะที่ปาก จมูก หรือตา
หากได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการออกมาภายใน 1 วัน- 2 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ โดยอาการเริ่มแรกของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบเหนื่อย ถ่ายเหลวท้องเสีย หากผู้ป่วยมีร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ก่อให้เกิดความรุนแรงขั้นวิกฤตและเสียชีวิตได้
ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้รับบริจาคโลหิตจากผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อไปสู่ผู้ป่วย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงกำหนดมาตรการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทางโลหิต โดยให้ผู้บริจาคโลหิตรายเก่า หรือผู้บริจาคโลหิตรายใหม่ได้คัดกรองตนเองก่อนบริจาคโลหิต ดังนี้
1. ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 งดรับบริจาคโลหิต 14 วัน
2. ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หลังจากได้รับการรักษาจนหายดีให้งดบริจาคโลหิตเป็นเวลา 4 สัปดาห์
3. ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 งดบริจาคโลหิต 4 สัปดาห์
4. ภายใน 14 วันหลังบริจาคโลหิต หากผู้บริจาคโลหิตได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่รับบริจาคโลหิตทราบทันที
5. ผู้บริจาคโลหิตจะต้องตอบคำถามสุขภาพตัวเอง โดยให้ข้อมูลตรงตามความเป็นจริง
ทั้งนี้ เพื่อให้งานบริการโลหิตของประเทศไทย มีคุณภาพปลอดภัยตามมาตรฐาน ถึงแม้ว่าโลหิตที่ได้รับจากการบริจาคทุกยูนิต จะต้องผ่านกระบวนการตรวจคัดกรองในห้องปฏิบัติการ และนำไปปั่นแยกเป็นส่วนประกอบโลหิต ได้แก่ เกล็ดเลือด เม็ดเลือดแดง และพลาสมา ตามประเภทความต้องการใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย