มั่นคงด้วย”พอเพียง”
ชาว”ดอนมัน”จึงมั่งคั่ง
ด้านหน้าคือบ่อปลาดุกขนาดย่อม ด้านขวาเป็นที่ตั้งของเล้าเป็ด, ไก่ที่กำลังออกไข่นับสิบฟอง เหลียวมองด้านซ้ายแปลงผักกะทัดรัดเกือบสิบแปลงพรั่งพร้อมไปด้วยผักพื้นบ้านหลายสิบชนิด ยังไม่รวมกับเล้าหมู ไม้ผล และโรงเพาะเห็ด ทั้งหมดนี้บรรจุไว้ในพื้นที่ไม่ถึง 2 ไร่ของชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง
ดูจากภายนอก หมู่บ้านดอนมัน ไม่ต่างจากหมู่บ้านอื่นๆในภาคอีสาน แต่เมื่อลองเข้ามาในหมู่บ้านจะพบกับความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด นอกเหนือจากความเป็นระเบียบที่เห็นได้อย่างง่ายดายแล้ว บ้านแต่ละหลังเต็มไปตู้กับข้าวขนาดใหญ่ที่บรรจุปลาดุก เห็ด เป็ด ไก่ไม้ผล และอื่นๆอีกมากมาย
“เมื่อก่อนชาวบ้านส่วนหนึ่งจะติดเหล้า เล่นการพนัน บ้านเราเป็นหนี้ธ.ก.ส.และเงินนอกระบบมากมาย”พ่อเต็ม ชิณช้าง ผู้อาวุโสของบ้านดอนมันบอกเล่าคืนวันเก่าๆ
พ่อเฒ่าคนเดิม กล่าวอีกว่า หมู่บ้านดอนมัน ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคามเต็มไปด้วยปัญหาเช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่น ปัญหาใหญ่ๆมาจากการที่ชาวบ้านขาดหลักยึดในการดำเนินชีวิต จึงกลายเป็นเพียงเหยื่อของระบบบริโภคนิยม ชาวบ้านติดเหล้า เพราะเครียดจากปัญหาการขายผลผลิตการเกษตรไม่ได้ หรือครอบครัวมีปัญหา
“ชาวบ้านฟุ้งเฟ้อและใช้เงินเกินตัว กลายเป็นหนี้เป็นสิน ด้านการทำเกษตรชาวบ้านต้องพึ่งพาการทำเกษตรแบบใช้สารเคมี ต้องผลิตเกินตัว หลายคนมีหนี้สิน กลายเป็นว่าเราเติบโตไม่มีทิศทาง”พ่อเฒ่าวัย 67 ปีย้ำ
วันหนึ่ง ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงคิดว่า อยากพัฒนาหมู่บ้านให้ดีขึ้น ประกอบกับเวลานั้นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)มีโครงการให้ทุนหมู่บ้านตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จึงเข้าร่วมโครงการ
พ่อเฒ่า บอกอีกว่า ในช่วงนั้นชาวบ้านหลายกลุ่มค่อยๆปรับตัวเองด้วยการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อบันทึกรายรับรายจ่ายอย่างง่ายๆ จึงทำให้เห็นว่า เงินที่เข้าออกแต่ละเดือนมาจากไหนบ้าง นำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเช่น สุรา บุหรี่ และการพนัน
ผ่านเวลาไม่นานนัก หมู่บ้านเริ่มมีเค้าลางที่ดีขึ้น หลายครัวเรือนหันมาสนใจการทำเกษตรกรรมแบบพอเพียงเช่น การทำนาหรือปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมี หรือการเลี้ยงเป็ดหรือไก่ แบบไม่ใช้สารเร่ง บางคนเริ่มปลูกผักและเลี้ยงปลาเพื่อไว้กินเองในครอบครัว ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 4,000 บาท
“จากไม่กี่ครอบครัวก็เริ่มขยายออกไปมากขึ้น เพราะเพื่อนบ้านเริ่มเห็นผลว่า พวกเขาอยู่ได้ ไม่ต้องพึ่งพาราคาข้าวในแต่ละปี เพราะเราทำแบบพอเพียง เหลือก็อาจจะขายบ้างในฤดูกาลอื่นๆ เรามีผัก หมู ไก่ เห็ดไว้กินเอง”พ่อเต็มเล่าภาพความเปลี่ยนแปลง
ถ้าถามว่า อะไรทำให้บ้านดอนมันประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วคำตอบอาจมีหลายประการ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การเห็นปัญหาร่วมกัน
อดิศร เหล่าสะพาน กำนันตำบลขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ในฐานะผู้นำชุมชนยอมรับว่า ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจและต้องการให้หมู่บ้านพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นจากตอนแรกที่เริ่มต้น ได้ขอร้องร้านค้าในหมู่บ้านที่มีอยู่ 3 ร้านให้เลิกขายเหล้า บุหรี่ ให้กับชาวบ้าน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี
“ผมจึงเลิกเหล้า บุหรี่ และการพนัน ต่อจากนั้นได้ขอให้ชาวบ้านเลิก โดยทำเป็นกฎระเบียบไปพร้อมกัน โดยชาวบ้านที่ไม่ปฏิบัติตามกฎจะไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆจากหมู่บ้าน การบังคับดังกล่าวได้ผลอย่างดี เลยไปถึงการบังคับในงานของหมู่บ้านเช่น สงกรานต์ ออกพรรษา หรืองานศพ”
รศ.ดร.วงศา เลาหศิริวงศ์ ผู้จัดการโครงการหมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนุบสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า หลังจากทำโครงการหมู่บ้านพอเพียง เพื่อรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืนมา 2 ปีพบว่า หมู่บ้านหลายแห่งมีศักยภาพในการพึ่งพาตัวเองได้เช่น ลดการพึ่งพายาฆ่าแมลง เลี้ยงสัตว์กินเองเช่นหมู่บ้านดอนมัน จ.มหาสารคาม และหมู่บ้านฟ้าห่วน อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญทั้งสองหมู่บ้านเห็นได้ชัดว่า มีการลดการพึ่งพาจากภายนอก นำวัฒนธรรมเก่าๆให้กลับคืนมาเช่น ลงแขกเกี่ยวข้าว นำไปสู่การปรองดองในชุมชน
นอกจากนี้เห็นได้ชัดว่า ทั้งสองหมู่บ้านได้สร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิดให้กับกลุ่มเยาวชนเด็กๆได้หันกลับมาสนใจอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากเห็นว่า อาชีพอื่นๆที่ต้องละทิ้งชุมชนไปนั้นไม่มั่นคง
“อย่างชุมชนดอนมัน ถือว่ามีการนำหลายแนวคิดมาผสมผสานได้ลงตัวอย่างเช่น การทำเกษตรอินทรีย์ ถือเป็นการลดการพึ่งพาจากภายนอก ลดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องห่วงว่า ราคาข้าวปีนี้จะเป็นอย่างไร ขายได้แค่ไหน เพราะชาวบ้านมีข้าวกินพอแล้ว มีกบที่เลี้ยงไว้เป็นอาหาร มีผักในแปลงปลูกไว้กิน”
อาจารย์วงศา ยังได้ให้ความสนใจกับโครงการย่อยอื่นๆที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านดอนมันเช่น โครงการรณรงค์ใส่หมวกกันน๊อค โดยมีหมวกกันน๊อคส่วนกลางไว้ให้ชาวบ้านได้นำไปใช้ในลักษณะการเช่ายืม เมื่อใช้เสร็จก็นำมาคืนเพื่อให้คนอื่นได้ใช้ต่อ เป็นการสร้างจิตสำนึกร่วมสาธารณะให้บังเกิดต่อไป
ทั้งนี้ในบางชุมชน ยังพบว่า ทุกภาคส่วนของหมู่บ้านร่วมมือกันเป็นอย่างดี นอกจากชาวบ้านแล้ว พระซึ่งถือเป็นตัวแทนของศาสนา ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการสร้างหมู่บ้านพอเพียง เช่น การไม่รับกิจนิมนต์ในงานที่มีการดื่มสุรา
สำหรับชุมชนภายนอกอาจจะมีคำถามว่า แล้วความพอเพียงเกี่ยวข้องอย่างไรกับหมู่บ้าน วีระพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการบริหารแผนเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนุบสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ตอบคำถามนี้ว่า ความพอเพียงแบ่งเป็น 3ส่วนคือ กาย ใจ และปัญญา
วีรพงษ์ อธิบายว่า ความพอเพียงในสองส่วนแรกคือ กายและใจนั้น หลายคนคงมองเห็นได้ชัดเจนแล้ว ส่วนความพอเพียงระดับปัญญาคือ ความคิดอย่างมีเหตุผล ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งนำไปสู่การเกิดปัญญาได้
จากแนวคิดดังกล่าว วีรพงษ์เห็นว่า มีหลายชุมชนนำไปใช้ได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะในภาคอีสานสามารถบูรณาการให้เกิดทางเลือกใหม่ได้จริงเช่น ลดการพึ่งพาระบบทุนภายนอกหมู่บ้าน และสามารถสร้างการต่อรองให้กับคนในหมู่บ้านได้อย่างดี
“หลายหมู่บ้านไม่พึ่งกับข้าวนอกบ้านเลยเช่น บ้านดอนมัน โดยรถขายกับข้าวที่ตระเวนเข้ามาในหมู่บ้านมักผิดหวัง เพราะไม่มีใครซื้อของเลย อาจจะมีบ้างพวกของที่ไม่ค่อยมีในหมู่บ้าน รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่มีแล้ว”
ในวันนี้แนวคิดของบ้านดอนมัน จึงไม่ใช่ความพอเพียงแบบที่ล่องลอยอยู่ในอากาศแต่สามารถนำมาใช้ได้จริง จึงไม่แปลกอะไรที่หมู่บ้านดอนมันจะกลายเป็นทั้งตู้กับข้าวใบใหญ่สำหรับคนในชุมชนเอง รวมทั้งการเป็นห้องเรียนแห่งความรู้ห้องใหญ่ของผู้มาเยี่ยมชม…
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
update 19-02-52