‘มัคคุเทศก์ตัวจิ๋ว’ หลักสูตรใหม่ใส่ใจชุมชน
“เด็ก”หรือ”เยาวชน” กับการพัฒนาศักยภาพทางการศึกษายังเป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับประเทศไทย หนังสือเรียนหรือหลักสูตรอาจไม่เพียงพอต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็ก ท้องถิ่นหรือชุมชนอาจเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กได้
ดังเช่นชุมชนตำบลวังน้ำคู้ งัดกลยุทธ์ส่งเสริมให้เด็กทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ เพื่อศึกษาสถานที่สำคัญและแนะนำตำบลให้กับแขกผู้มาเยือนหรือผู้มาศึกษาดูงานได้ทราบถึงศักยภาพของตำบลและตัวของมัคคุเทศก์ตัวจิ๋วเหล่านี้
“อาจารย์ให้โอกาสผมเข้ามาฝึกฝนและเรียนรู้การเป็นมัคคุเทศก์ ตอนแรกรู้สึกกลัว ตื่นเต้น จนพูดไม่ออก แต่เมื่อมีผู้ใหญ่สาธิตวิธีการพูดให้ดูเป็นตัวอย่าง ผมเลยลองพูดและทำตามคำแนะนำของผู้ใหญ่ เมื่อพูดแล้วก็ทำได้และรู้สึกว่าไม่ยากอย่างที่คิด” โน่ หรือ ณัฐสิทธิ์ ศรเลิก หัวหน้ามัคคุเทศก์ ประจำระบบการเรียนรู้เด็กและเยาวชน ฐานการเรียนรู้มัคคุเทศก์สองวัย ตำบลวังน้ำคู้ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เล่าถึงความรู้สึกในการรับหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ประจำตำบล
โน่ เล่าต่อว่า เขาทราบข่าวว่าทางโรงเรียนต้องการเด็กชั้นมัธยมมาทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ภายในตำบลวังน้ำคู้ เขาจึงสมัครเป็นมัคคุเทศก์ก่อนใครเพื่อน อีกทั้งเขาต้องการรู้จักพื้นที่ รู้จักประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบ้านเกิดเมืองนอนว่าเป็นอย่างไร และมีจุดเด่นอะไรที่น่าสนใจ ที่สำคัญเขาอยากนำเสนอเรื่องดีๆ ของตำบลวังน้ำคู้นี้อีกด้วย
การฝึกหัดเยาวชนในชุมชนให้มีความรักและความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชุมชน ทั้งเรียนรู้การทำงานกับองค์กรปกครองท้องถิ่น จึงเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนหรือมัคคุเทศก์น้อยเหล่านี้ได้มีความรักและหวงแหนในถิ่นฐานบ้านเกิด ผ่านการเรียนรู้ในลักษณะการพูด การแสดงออกต่อหน้าสาธารณชนหรือแขกผู้มาเยือน ณ ตำบลวังน้ำคู้
“อันดับแรกต้องลงพื้นที่ไปหาข้อมูลในชุมชน จากนั้นอาจารย์และทีมงาน อบต.จะเข้ามาฝึกการพูด กิริยามารยาท บุคลิกภาพ ท่าทางในการเป็นมัคคุเทศก์ การเข้ามาเรียนรู้การทำงานต่างๆ สำหรับมัคคุเทศก์รุ่นฝึกหัดไม่ใช่เพียงการพูดเท่านั้น แต่สิ่งที่ผมได้คือประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ ทำงานร่วมกับ อบต. และยังได้ส่งเสริมการอนุรักษ์เรื่องเด่นในชุมชนด้วย” โน่ เล่าถึงความประทับใจในการทำงาน
แหล่งการเรียนรู้มัคคุเทศก์สองวัย ตำบลวังน้ำคู้ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นตำบลสุขภาวะภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และถูกยกระดับให้เป็นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในตำบลวังน้ำคู้
เช่นเดียวกับ “น้ำ” พรทิพา บุญมา สมาชิกมัคคุเทศก์สองวัย เล่าว่าเธอเข้ามาเป็นมัคคุเทศก์ได้เพียง 2 เดือน ชอบและสนุกสนานเพราะได้รับความรู้จากการทำงานมาก ทั้งยังทำให้เธอทั้ง 2 คน กล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น
“การทำงานเป็นมัคคุเทศก์ไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด แต่สนุก เพราะได้พบปะผู้คนจำนวนมาก ได้ฝึกทักษะการพูด กิริยามารยาท และยังทำให้เรามีความรับผิดชอบ สำหรับการทำงานเราทำหน้าที่แนะนำพื้นที่ในตำบล แนะนำสถานที่สำคัญต่างๆ รวมถึงแนะนำวิทยากรประจำฐานให้กับตำบลเครือข่ายที่มาศึกษาดูงานในตำบลวังน้ำคู้” น้ำเล่าถึงการทำงาน
ด้าน “นัท” อัญญารัตน์ บัวผัน เสริมว่า จากการได้เข้าร่วมเป็นมัคคุเทศก์ทำให้เธอกล้าพูด กล้าแสดงออกทำให้เธอมั่นใจในตัวเองมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เธอรู้จักรายละเอียดในตำบลวังน้ำคู้ และยังมีรายได้ในช่วงหยุดปิดภาคเรียนอีกด้วย
ฐานการเรียนรู้มัคคุเทศก์สองวัย ตำบลวังน้ำคู้ อยู่ในความดูแลของอาจารย์ชาลิสา ชมยวง อาจารย์ที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชน ผู้ให้ความรู้และร่วมฝึกฝนมัคคุเทศก์ตัวน้อยให้กล้าคิด กล้าแสดงออก เผยถึงที่มาของการจัดตั้งมัคคุเทศก์สองวัยว่า
“ทางโรงเรียนได้บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับท้องถิ่นให้กับนักเรียน และคิดว่าทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรได้ บวกกับทางจังหวัดจัดโครงการอบรมมัคคุเทศก์น้อย เราจึงส่งนักเรียนเข้าร่วมอบรม พร้อมกับให้เด็กลงพื้นที่ออกปฏิบัติงาน พร้อมกับให้เด็กลงพื้นที่ในตำบล เช่น วัดปากพิงซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และสถานที่สำคัญอีกหลายแห่งในตำบลวังน้ำคู้
หลังจากนั้นทางโรงเรียนได้จัดชุมนุมมัคคุเทศก์ขึ้นและให้เด็กไปสัมภาษณ์นายกฯ อบต.ในเรื่องการทำงานของ อบต.เมื่อนายกเห็นเลยคิดว่าควรนำเด็กมาฝึกและทำงานร่วมกัน โดยเอาผู้ใหญ่กับเด็กร่วมกันทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์จึงมีชื่อเรียกฐานการเรียนรู้นี้ว่ามัคคุเทศก์สองวัย”
อาจารย์ชาลิสา ยังเล่าต่อว่า การให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมในการเป็นมัคคุเทศก์ถือเป็นการส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออกและให้เด็กได้รู้จักกับประวัติศาสตร์ของตนในชุมชน ตอนแรกเด็กๆ ยังไม่ค่อยสนใจมากนัก เมื่อมีเพื่อนเข้าร่วมเป็นมัคคุเทศก์ เด็กๆ ก็ไปชวนกันมา พูดเป็นบ้าง ไม่เป็นบ้าง ขี้อายบ้าง ไม่กล้าพูดบ้าง ส่วนนี้เราจะเอาเด็กมาสอน มาฝึกพูด ให้เขากล้าแสดงออก
“ล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมาที่ อบต.มี เครือข่ายเข้ามาศึกษาดูงานที่ฐานการเรียนรู้ต่างๆ เราก็ให้เด็กลงพื้นที่เป็นมัคคุเทศก์ขึ้นรถไปกับกลุ่มที่มาศึกษาดูงาน เด็กก็พูดผิดบ้าง ถูกบ้าง ตามประสาเด็ก แต่ถ้าเราต้องการอยากให้เขาพูดดี พูดเก่ง เราต้องฝึกให้เขาพูดบ่อยๆ ปฏิบัติบ่อยๆ เด็กจะได้เกิดความมั่นใจมากขึ้น ส่วนการฝึกอบรมเด็กจะมีทั้งครูและเจ้าหน้าที่ของ อบต.มาช่วยกัน เราไม่ได้สอนแค่เรื่องการพูดหรือการปฏิบัติต่อการทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์เพียงอย่างเดียว แต่จะสอนทั้งเรื่องการแต่งกาย บุคลิก ลักษณะการพูดที่ดี”
เห็นได้จากการมีความมุ่งมั่นของเด็กๆ หรือมัคคุเทศก์น้อยที่ต้องการฝึกฝนตนเองให้เป็นนักพูด หรือมัคคุเทศก์ที่มีความกล้าแสดงออก บางคนไม่ถนัดพูดแม้แต่น้อย แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ ขอเพียงเด็กมีความมุ่งมั่น มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา มีมารยาท สัมมาคาระ และหากได้ผ่านการฝึกฝนก็จะทำให้มัคคุเทศก์น้อยเหล่านี้ กลายเป็นมัคคุเทศก์ที่เก่งได้
อาจารย์ชาริสา ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า การเข้าร่วมโครงการแบบนี้ คือการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของเด็กในวัยเรียน ไม่เพียงเฉพาะในตำบลวังน้ำคู้เท่านั้น พื้นที่อื่นก็สามารถจัดกิจกรรมแบบนี้ให้เด็กๆ ได้ และอยากให้เด็กๆ เข้ามาร่วมกิจกรรม และยังเป็นการสนับสนุนเด็กให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
เห็นได้ชัดว่าหลักสูตรชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพของเด็กวัยเรียนทั้งเรื่องการพูด และการกล้าแสดงออกได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นช่องทางสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กรักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองอีกด้วย
ที่มา: เว็บไซต์ปันสุข สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน