มะเร็งเต้านม รู้ไว้รักษาได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
สธ.ร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯขยายโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม ในรูปแบบประชารัฐ ใน 21 จังหวัด
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคมะเร็งเต้านม มีแนวโน้มพบผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของสตรีทั่วโลก สำหรับประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โรคนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของ มะเร็งในสตรีไทย มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ก้อนที่พบมักไม่เจ็บจึงไม่รีบมาพบแพทย์ ทำให้ได้รับการตรวจรักษาช้าและยุ่งยาก กระทรวงสาธารณสุข จึงได้รณรงค์ให้หญิงไทยตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละครั้ง
นอกจากนี้ ได้ร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ดำเนินการโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม ในรูปแบบประชารัฐ ใน 21 จังหวัด ผลการดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ. 2555-30 มิถุนายน 2559 พบว่าได้ผลดี สตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ 30-70 ปี จำนวน 1.9 ล้านคน ตรวจเต้านมอย่างสม่ำเสมอมี ความครอบคลุมเฉลี่ยร้อยละ 68 ทำให้พบมะเร็งเต้านม ระยะเริ่มแรกมากขึ้นถึงประมาณร้อยละ 70 และก้อนที่พบก็มีขนาดเล็กลง ซึ่งทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ อัตราการมีชีวิตอยู่รอดเพิ่มขึ้นและอัตราการตายลดลงในที่สุด ในปีนี้จะดำเนินการเพิ่มใน 55 จังหวัดที่เหลือ ตั้งเป้าหมายสตรีอายุ 30-70 ปีทั่วประเทศที่มีกว่า 13.33 ล้านคน ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่าง สม่ำเสมอไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และทุกคนที่พบความผิดปกติได้รับการส่งต่อเพื่อตรวจยืนยันและรักษา อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นการใช้นวัตกรรม ที่เน้นการให้ความรู้สตรีในการตรวจเต้านมตนเอง อย่างถูกต้อง สม่ำเสมอทุกเดือน และบันทึกผล การตรวจลงในสมุดบันทึกการตรวจเต้านมตนเอง มีอาสาสมัครสาธารณสุขยืนยันการตรวจ และเจ้าหน้าที่ สาธารณสุขโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นผู้รับรองผลการตรวจ โดยหากพบก้อนหรือความผิดปกติ จะมีระบบส่งต่อไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชน เพื่อตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์เคลื่อนที่ ซึ่งจะช่วยให้วินิจฉัยมะเร็งเต้านมได้เร็วขึ้น และส่งต่อไปยังช่องทางด่วนที่โรงพยาบาลทั่วไปหรือ โรงพยาบาลศูนย์ เพื่อตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม หากพบก้อนผิดปกติ ได้รับการดูแลรักษาอย่าง รวดเร็ว เป็นไปตามพระราชประสงค์สมเด็จย่าที่ ต้องการ