มหาวิชชาลัยปริก ต้นแบบการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th


ภาพประกอบจาก สสส.


มหาวิชชาลัยปริก ต้นแบบการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน thaihealth


“ตำบลปริก” พื้นที่เล็ก ๆ ทางภาคใต้ ที่อยู่ท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม หลายคนมองว่าเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการพัฒนา แต่ในหลายปีที่ผ่านมา ผู้นำท้องถิ่นและคนในชุมชน ก็สามารถพิสูจน์ได้ว่า การพัฒนาไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพื้นที่แห่งนี้


เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเทศบาลตำบลปริก จัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นพื้นที่ภาคใต้ และเปิดตัว มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อแสดงพลังความเข้มแข็งภายในชุมชนโดยอาศัยบทบาทการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน


กว่าที่เทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในฐานะองค์กรบริการสาธารณะ จะพัฒนามาได้ไกลถึงเพียงนี้ ในอดีตประชาชนในพื้นที่ยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับการพัฒนาชุมชนเท่าใดนัก ซึ่ง นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาและการพัฒนาชุมชนใช้องค์ความรู้เป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลง โดยต้องทำให้ประชาชนตระหนักรู้และเข้าใจถึงปัญหาและการพัฒนา เพราะเมื่อมีองค์ความรู้จะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมและจะขยายผลสู่ครอบครัวและชุมชนได้ โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศบาลลงพื้นที่ชุมชน และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านการฝึกอบรม ถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้กับวิธีการทำงาน


มหาวิชชาลัยปริก ต้นแบบการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน thaihealth


ด้วยเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นายสุริยา กล่าวถึงกลไกขับเคลื่อนในพื้นที่ว่า สสส. เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ จากสุขาภิบาลเป็นเทศบาล จนเป็นศูนย์บ่มเพาะฝึกอบรมเพื่อนภาคี ในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และเกิดเป็น มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด รูปธรรมการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต 7 สังคมได้แก่ 1.สังคมคนดี : การเรียนรู้เรื่องศาสนา เพื่อการขัดเกลาและพัฒนาศักยภาพทุกช่วงวัย ผ่านหลักสูตรการศึกษา 8+ 4 ที่นอกเหนือจากวิชาแกนหลัก โดยเพิ่มวิชา วิถีชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อม พลังงานและภัยพิบัติ และวิชาเศรษฐกิจพอเพียง และให้ความสำคัญศาสนสถานต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะทางปัญญาและคุณธรรมบนพื้นฐานของพหุวัฒนธรรม 2.สังคมสันติสุข : การร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน โดยลดความขัดแย้ง สร้างความสามัคคี ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ 3.สังคมสวัสดิการ :การช่วยเหลือกัน มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือและยกระดับรายได้ของประชาชน 4.สังคมรักษ์โลก : การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ เป็นกิจกรรมนำร่องของเทศบาล ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านแนวคิดการจัดการขยะที่เน้นจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง 5.สังคมปรับตัว : ส่งเสริมให้คนในชุมชนเรียนรู้วิธีการจัดการและป้องกันภัยพิบัติและสาธารณภัย 6.สังคมเอื้ออาทร : การดูแลกัน เน้นกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนา ยกระดับการจัดการสุขภาวะชุมชนแบบองค์รวม ผ่านกลุ่มอาสาต่าง ๆ และ 7.สังคมไม่เดือดร้อน : การเรียนรู้เพื่อการประกอบอาชีพ ให้ประชาชนยืนหยัดอยู่ด้วยตนเอง โดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ และสนับสนุนการสร้างอาชีพเสริมเพื่อนำมาจุนเจือครัวเรือน


“ เราต้องการสร้างพลเมือง โดยเฉพาะพลเมืองที่ตื่นรู้ นโยบายของเทศบาลทำให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งเป็นตัวกำกับการขับเคลื่อนภารกิจส่งผ่านไปสู่การปฏิบัติกับชุมชน นำไปสู่การเป็นพลเมืองตื่นรู้และประชาชนสามารถยืนหยัดด้วยตนเองได้ ผ่านกระบวนการที่เรียกว่าไตรพลัง ได้แก่ การสร้างพลังในการเป็นพี่เลี้ยงแก่กันและกัน (Coaching) การสร้างพลังของความเป็นเพื่อนร่วมงาน (Tandem) และ การสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่เรียกว่า ภูมิบุตรา (Phummibuttra)” นายสุริยา กล่าว


มหาวิชชาลัยปริก ต้นแบบการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน thaihealth


ในส่วนของการจัดการองค์ความรู้สู่ชุมชน การผลิตความรู้ และกระบวนการพัฒนาผู้นำ เทศบาลตำบลปริก มีการถอดบทเรียน ทำให้คนในพื้นที่เห็นถึงปัญหาและการพัฒนาอย่างชัดเจน โดย นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สสส.เป็นหน่วยหนุนเสริมและสนับสนุนการสร้างความร่วมมือของคนในชุมชน ทำให้เป็นพื้นที่น่าอยู่ ลดปัจจัยเสี่ยง จุดแข็งของตำบลปริก คือกำลังพลและคุณภาพของคนในพื้นที่ ที่ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ ถ้าอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจะช่วยกันขับเคลื่อน จึงทำงานไม่ยาก โดยปัจจัยที่ประสบผลสำเร็จ คือ การเปลี่ยนแนวคิด การเปลี่ยนกระบวนการทำงาน และแบบอย่างที่ดีของผู้นำ


“ผู้นำทางการได้สวมบทบาทผู้นำตามธรรมชาติไปด้วย เช่น สมาชิกเทศบาลปริกเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ให้คนในชุมชน คนในชุมชนทำหน้าที่เรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้นำ อีกเรื่องคือมีสถาบันวิชาการเข้ามาทำงานร่วมด้วยมาก ทั้งใช้พื้นที่ในการฝึกงาน สร้างงานวิจัยและวิชาการ ทำให้ปริกดูดซับความรู้ทางวิชาการค่อนข้างเยอะ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากพื้นที่ท้องถิ่นอื่น ๆ เพราะผู้นำที่ตำบลปริกใช้วิสัยทัศน์ในการยกระดับชุมชนในการดูแลตัวเอง บริการสาธารณะของปริกจึงไม่ลำบากมาก นั่นก็เพราะปริกพยายามทำทุกอย่างให้ชุมชนเรียนรู้และดูแลตนเองไม่เป็นภาระต่อภาครัฐ” นางสาวดวงพร กล่าว


มหาวิชชาลัยปริก ต้นแบบการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน thaihealth


ด้าน นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวถึงความสำเร็จในการพัฒนาของตำบลปริก ว่า มหาวิชชาลัยคือการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทุกคนในชุมชนถือเป็นผู้นำท้องถิ่น เพราะถือว่ามีส่วนทำงานขับเคลื่อนไปด้วยกัน ความสำเร็จที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจากคนปริกทุกคน กว่า 10 ปี ที่ร่วมขับเคลื่อน ได้เห็นพัฒนาการทำงานที่ชัดเจน ชุมชนอื่นชื่นชมและถือเป็นชุมชนแบบอย่าง การก้าวมาถึงวันนี้ได้อยากให้ชาวปริกภาคภูมิใจที่สามารถขับเคลื่อนมาถึงทุกวันนี้ อยากให้ทุกคนมีพลังในการขับเคลื่อนต่อ แต่ไม่ใช่เฉพาะปริกเท่านั้น ต้องช่วย ชักชวน สนับสนุน และให้กำลังใจเครือข่าย ในการที่จะเห็นแนวทางในการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนเช่นปริก ใช้พลังของปริกมาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา จนนำไปสู่สังคม 7 ลักษณะ ซึ่งผลการทำงานดังกล่าวการันตีและยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่า ปริกสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวของปริกเอง


มหาวิชชาลัยปริก ต้นแบบการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน thaihealth


มหาวิชชาลัยปริก ได้ผลิตองค์ความรู้ นำไปสู่การสร้างสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นมหาวิชชาลัยแห่งแรกของภาคใต้และ มหาวิชชาลัยแห่งที่ 4 ของเครือข่ายสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นับเป็นแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนในชุมชนเพื่อชุมชน

Shares:
QR Code :
QR Code