มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข พี่เลี้ยงภารกิจถ่ายโอน

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์


มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข พี่เลี้ยงภารกิจถ่ายโอน thaihealth


มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข พี่เลี้ยงภารกิจถ่ายโอน "หลักสูตรการจัดการสุขภาพชุมชน (Management for Healthy Community : MHC) ของมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข อบต.ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่ 


ได้ถูกพัฒนาโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชน (ศวช.) และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ครอบคลุมหลักสูตรหลัก คือ 1. บริการสาธารณะด้านสุขภาพ 2. ชุมชนจัดการสุขภาพ และ 3. การบูรณาการของทุกภาคส่วนในการสร้างสุขภาพชุมชน ผ่านรูปธรรมการทำงาน ใน 7 ประเด็นตัวอย่าง ได้แก่ 1. การดูแลเด็กปฐมวัย 2. การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน 3. การดูแลผู้สูงอายุ 4. การดูแลคนพิการ 5. การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 6. การดูแลผู้ป่วยจิตเวช และ 7. การจัดการโรคระบาด


น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้ไปอยู่ในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย กรณีขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว ได้ร่วมกันยกระดับให้องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว เป็น "ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านสุขภาพ โดยใช้ชื่อศูนย์ฝึกอบรมว่า "มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข" อย่างไรก็ตาม เรื่องกระจายอำนาจดำเนินการมาแล้ว 10 ปี ปัจจุบันมี รพ.สต.ถ่ายโอนไปอยู่ในความดูแลของอปท.แล้ว 52 แห่งจาก รพ.สต.ทั่วประเทศ 5,200 แห่ง


มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข พี่เลี้ยงภารกิจถ่ายโอน thaihealth


ล่าสุด สสส. ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มอบปัญญาบัตรให้ 28 รพ.สต. ที่ถ่ายโอนภารกิจ หลังจบหลักสูตรการจัดการสุขภาพชุมชน 352 คน อปท.เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่เมืองทองธานี โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวแสดงความยินดีมอบนโยบายการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพสำหรับทุกคนโดยท้องถิ่น และ นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. จำนวนกว่า 30 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวนกว่า 500 แห่ง ร่วมสรุปผลการจัดเวที "สานพลังสร้างฐานสุขให้คนไทย"


พร้อมกันนี้ มีอปท.ที่ได้รับการถ่ายโอนแล้วมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นายอำนวย อินทรธิราช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาพู่ อำเภอเพ็ญ จ.อุดรธานี เล่าว่า ได้รับการถ่ายโอนรพ.สต.นาพู่ มาตั้งแต่ ปี 2553 ความแตกต่างที่เห็นชัดหลังจากการถ่ายโอน คือได้ใช้งบประมาณของ อปท.สร้างอาคารใหม่ รพ.สต.มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีเครื่องเอกซเรย์ และอัลตราซาวด์ ทำให้ชาวบ้านเข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาลมากขึ้น จากเดิมต้องเข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งมีประชาชนไปใช้บริการจำนวนมากอยู่แล้วช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลลง


มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข พี่เลี้ยงภารกิจถ่ายโอน thaihealth


"การถ่ายโอน รพ.ขาดอะไร เราสามารถหยิบยื่นให้ได้เป็นความต้องการของชาวบ้าน โดยมีหมอและโรงพยาบาลศูนย์ เข้ามาเป็นคณะกรรมการในการจัดซื้อ แม้การถ่ายโอนช่วงแรกต้องมีแนวทางการบริหารจัดการได้ ต้องนำเงินรายได้ของท้องถิ่น 10% มาอุดหนุน รพ.สต. เจ้าหน้าที่ต้องสมัครใจ" นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาพู่ บอกเล่า


น.ส.ปริญญา เทวิญญา เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน อบต.ทุ่งคลอง เทศบาลตำบลเขมราฐ  อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เล่าว่า หลังจากได้ไปอบรมที่มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข ได้ความรู้มาก อยากให้ชุมชนเราเป็นเหมือนที่ อบต.ดอนแก้ว เพราะ รพ.สต.เพิ่งถ่ายโอนมายังไม่มีความรู้ทั้งในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุ การจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ การป้องกันโรคเรื้อรัง เพราะในพื้นที่จะมีโรคเรื้อรังเพิ่มทุกปี ปัญหาในชุมชนพบว่าชาวบ้านใช้ยาพร่ำเพรื่อ ผลจากการทำนาทำไร่ เมื่อเกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมักกินยา


มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข พี่เลี้ยงภารกิจถ่ายโอน thaihealth


สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครอง กล่าวว่า บทบาทของ อปท.ในอนาคตจะต้องทำหน้าที่กว้างขวางมากขึ้น จากการถ่ายโอนทั้ง เรื่องการศึกษา การจัดการจราจรในชุมชน ดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น แม้แต่ละท้องถิ่นจะมีกำลังในการดูแลไม่เท่ากัน แต่ถ้าท้องถิ่นไหนพร้อมต้องทำ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน บทบาทการดูแลของท้องถิ่นจะแนบแน่นมากกว่าส่วนกลาง เพราะมีสายใยที่ยึดโยงกัน


แม้ตัวเลขของ รพ.สต.ส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ได้ถูกโอนย้ายไปอยู่ภายใต้ชายคาของอปท.แต่ในอนาคต วาระการกระจาย อำนาจสู่ท้องถิ่นจะเร่งเร้าเข้ามา สถานะของรพ.สต.จะเป็นหน่วยงานที่เน้นหนักไปที่งานป้องกันโรคภัย ช่วยลดจำนวนผู้ป่วย ไม่ต้องไปแออัดในโรงพยาบาลประจำจังหวัด

Shares:
QR Code :
QR Code