มหานครแห่งสุขภาพเป้าหมายใหม่ของคนเมือง
“มหานครแห่งสุขภาพ”ได้ยินครั้งแรกแล้วคิดถึงเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนที่อยู่ดี กินดี มีสุขภาพดี รวมถึงบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ในความจริงมันช่างดูสวนทางกลับความเป็นอยู่ในปัจจุบันของบ้านเมืองเราเสียจริง ที่ปัจจุบันอุปนิสัยเรื่องของการบริโภคอาหารของคนเมืองนั้นมักหันไปกินแบบตามใจปากมากขึ้น ประกอบกับช่วงเวลาที่เร่งรีบของการทำงาน ทำให้อาหารจานด่วนกลายเป็นเมนูประจำในแต่ละมื้อ หากเป็นแบบนี้นานวันจะเกิดเป็นไขมันสะสมจนเป็นโรคอ้วนและนำไปสู่โรคเรื้อรังอีกหลายชนิด
ดังนั้น การที่จะดูแลสุขภาวะของคนเมืองให้ดีขึ้น จึงเกิดเป็นโครงการ “มหานครแห่งสุขภาพ”ที่จะเป็นเป้าหมายหลัก ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เครือข่ายคนไทยไร้พุง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะดำเนินโครงการนี้ เพื่อขับเคลื่อนให้สังคมเกิดความตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคอ้วน รวมถึงป้องกันและบรรเทาโรคทั้งหลายที่เกิดจากการบริโภคอาหารไม่ถูกสุขลักษณะอีกด้วย โดยเบื้องต้นจะนำร่องโครงการใน 4 เขตก่อน ได้แก่ บางรัก ราชเทวี หนองแขม และภาษีเจริญ จากนั้นขยายผลไปจนครบ 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ
โดย พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม.บอกว่า กทม.มีนโยบายให้สำนักการแพทย์พัฒนาสุขภาพและเสริมสร้างความรู้ทางโภชนาการให้แก่คนกรุงเทพฯ ให้สามารถเลือกบริโภคอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม และกระตุ้นให้ออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยปลูกฝังในทุกกลุ่มของสังคม ด้วยการออกแบบโมเดลพื้นที่สุขภาวะให้แก่ประชาชน แบ่งเป็น โมเดลโรงเรียน สถาบันการศึกษาไร้พุงส่งเสริมสุขภาพ เช่น เพิ่มชั่วโมงออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ การแข่งขันกีฬาเพื่อสุขภาพ จัดทำโครงการโภชนาการสมวัยและเด็กไทยไม่กินหวาน ในการดูแลเรื่องการขายอาหารและเครื่องดื่มในโรงเรียนและพื้นที่ใกล้เคียง โมเดลร้านอาหาร ภัตตาคารส่งเสริมสุขภาพ ผลักดันในเรื่องอาหารปลอดภัยและชูสุขภาพ โดยมีเมนูอาหารพลังงานต่ำแนะนำให้ประชาชนบริโภคเป็นทางเลือก โมเดลห้างสรรพสินค้าส่งเสริมสุขภาพ มีการจัดมุมจำหน่ายอาหารพลังงานต่ำ สินค้าส่งเสริมการออกกำลังกาย กิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกายและจัดลานอเนกประสงค์ไว้ส่งเสริมการออกกำลังกายในชุมชนโมเดลสถานประกอบการภาคเอกชนส่งเสริมสุขภาพผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่สำคัญ อาทิ เปลี่ยนจากคอฟฟีเบรก เป็น เอ็กเซอร์ไซส์เบรก การรณรงค์กิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกายในชีวิตประจำวันทั้งที่บ้านและที่ทำงาน โดยรณรงค์ร่วมกับโครงการ Happy Workplace ของ สสส.โมเดลหน่วยงานราชการส่งเสริมสุขภาพเช่น ผลักดันให้หน่วยราชการในพื้นที่เป็นต้นแบบองค์กรส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน ผลักดันให้โรงอาหาร ร้านอาหารในหน่วยงาน เป็นต้นแบบโรงอาหาร ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ โมเดลลานกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น รณรงค์การใช้พื้นที่สาธารณะ อาทิ สวนสาธารณะ ลานกีฬา ลานกิจกรรมชุมชน ลานวัด เป็นต้น ในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โดยชักชวนภาคีเครือข่ายด้านการออกกำลังกาย นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา หมุนเวียนจัดกิจกรรมหรือรับสมัครสมาชิกร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
“สำหรับโครงการนี้ จะส่งผลให้ร่างกายคนเมืองห่างไกลจากโรคอ้วนลงพุง และยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง โดยจะปลูกฝังตั้งแต่ระดับชุมชนในทุกๆ ภาคส่วน เพื่อเป็นรากฐานสุขภาพอันแข็งแกร่งให้ กทม.เป็นเมืองของคนสุขภาพดี ไร้พุง และมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี”รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)บอกว่า สสส.เองก็มีนโยบายที่จะลดปัญหาของการอ้วนลงพุง เพิ่มกิจกรรมทางกาย และเพิ่มการเข้าถึงการบริโภคผัก-ผลไม้ของคนไทยให้มากขึ้น ที่ผ่านมาจึงมีการจับมือกับหลายเครือข่ายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ แต่การจับมือกันในโครงการมหานครแห่งสุขภาพครั้งนี้ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ดีมาก ซึ่งน่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและสามารถวัดผลได้จริง เพราะปัจจุบันปัญหาอ้วนลงพุง การมีกิจกรรมทางกายที่น้อยและการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยของคนในสังคมกำลังเป็นปัญาหาใหญ่ของประเทศไทยอย่างรุนแรง ซึ่งการทำโครงการฯ นี้มันสามารถตอบโจทย์ได้ครบทั้ง 3 ข้อของนโยบายที่ สสส.ทำอยู่ และยิ่งไปกว่านั้น มันยังต่อยอดไปถึงการมีสุขภาวะที่ดี อย่างครอบครัวมีความสุข และชุมชนก็มีความสุขตามไปอีกด้วย ซึ่งเรียกได้ว่าเกือบครบทุกด้าน
“ โครงการฯ ครั้งนี้เป็นการประกาศจุดยืนร่วมกันที่จะทำ กทม.เป็นต้นแบบแห่งมหานครสุขภาพให้ได้ จากนี้เครือข่ายรวมถึง สสส. ก็จะลงไปทำงานในพื้นที่เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ ติดตาม พร้อมให้การสนับสนุนในทุกรูปแบบเพื่อทำให้ประเทศเราน่าอยู่ต่อไป” รศ.ดร.วิลาสินีกล่าว
รศ.ดร.วิลาสินี บอกต่อว่า สิ่งที่จะทำให้โครงการบรรลุเป้าหมายได้นั้น แต่ละคนต้องพร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วิถีชีวิตของตนเองที่ผิดๆ และหันมาส่งเสริมนโยบายที่ดีอย่างเอาจริงเอาจัง ชุมชนเองก็ต้องดูแลกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงโรงเรียนด้วย ที่ผ่านมาอาจมีเพียงนโยบายที่ดี แต่ขาดการเอาใจใส่อย่างจริงจังเท่านั้นเอง
“สุดท้ายเมื่อโครงการนี้บรรลุเป้าหมาย เชื่อได้เลยว่า เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของทั้ง 3 ปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องอ้วนลดลง มีกิจกรรมออกกำลังกายมากขึ้นและผู้คนหันมาบริโภคผักผลไม้มากขึ้น และมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสุขภาพเราอีกหลายๆ อย่างเอง แต่ถึงอย่างไรทุกอย่าง ทุกกระบวนการต้องใช้เวลา รวมถึงโครงการนี้ ในระหว่างทางจึงอยากให้เกิดความยั่งยืน ไม่อยากให้ทุกคน ทุกฝ่ายคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของราชการ แต่อยากให้ทุกคนคิดว่า เราทุกคนเป็นเจ้าของภารกิจนี้ที่จะร่วมกันนำไปให้สู่ความสำเร็จให้ได้” รศ.ดร.วิลาสินีบอกทิ้งท้าย
มหานครแห่งสุขภาพ มองดูแล้วเมื่อมันยังอีกไกล แต่มันสามารถเกิดขึ้นได้ หากทุกคนร่วมมือกัน เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทั้งประเทศ
เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Teamcontent www.thaihealth.or.th