มหัศจรรย์“สื่อสร้างสรรค์”พัฒนาเด็กเล็ก

ที่มา : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


มหัศจรรย์“สื่อสร้างสรรค์”พัฒนาเด็กเล็ก thaihealth


แฟ้มภาพ


การพัฒนาเด็กเล็กในช่วงอายุ 2-6 ปี ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นส่วนสำคัญที่จะเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่างๆ ทุกมิติให้เป็นเลิศยิ่งขึ้น เช่น โครงการ “มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ปีที่ 3” จัดโดยสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) ร่วมกับสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม (สำนัก 5) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่โรงแรมริชมอนด์ ถนนถนนรัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้


สำหรับโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 จำนวน 138 ศูนย์ และปี 2558 จำนวน 200 ศูนย์ กระจายครอบคลุมทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ มีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการเป็นเด็ก 20,517 คน ครู 1,332 คน โดยในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 3 จึงมีการจัดอบรมเพิ่มอีกจำนวน 175 ศูนย์


ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการจัดสัมมนาและแสดงนิทรรศการทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมให้เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีสุขภาวะที่ดี โดยเน้นพัฒนาการและการสร้างคุณสมบัติพึงประสงค์ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ผ่านสื่อสร้างสรรค์และพื้นที่สร้างสรรค์ พร้อมทั้งยังเป็นที่เสริมทักษะและปรับทัศนคติของครูและพี่เลี้ยงเด็กอีกด้วย


น.ส.สายใจ คงทน หัวหน้าบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพ โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ใน ศพด. กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากการทำงานเชิงรุกของ สสส. บูรณาการ 3 แผนงานร่วมกัน ได้แก่ แผนงานสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ


โดยใช้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ สื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง, พื้นที่สร้างสรรค์ และแบบแผนพฤติกรรมการใช้สื่อสร้างสรรค์ในครอบครัว สถานศึกษาและชุมชน ภายใต้แนวคิด “เมือง 3 ดี วิถีสุข” ของ สสย. ได้แก่ “สื่อดี” นั้นต้องเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่ผลิตเอง ซึ่งเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสังคม อารมณ์และสติปัญญา นำไปสู่บุคลิกภาพที่ดี “พื้นที่ดี” คือต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม รวมไปถึงสนามเด็กเล็กตามวัย และต้องอธิบายได้ว่าสามารถส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้านใด และ “ภูมิดี” คือนำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาผนวกกระบวนการเรียนรู้ด้วย รวมถึงการใช้ภูมิปัญญาของทุกฝ่ายในชุมชนในการมีส่วนร่วมปกป้อ งดูแล และสร้างชุมชนร่วมกัน


หัวหน้าบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพฯ กล่าวอีกว่า รูปแบบกิจกรรมของโครงการจะมีการมอบทุนสนับสนุน รวมถึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครูและพี่เลี้ยงใน ศพด.ที่ร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้มีทักษะจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ โดยหลังจากอบรมครูและพี่เลี้ยงที่ร่วมโครงการต้องนำความรู้ที่ได้ไปลงมือทำให้เกิดผลงานจริงที่พื้นที่ของตนเอง โดยจะมีการติดตามผลงานหลังการอบรม รวมถึงลงพื้นที่เพื่อชมผลงาน และจัดเวทีนำเสนอผลงานของแต่ละพื้นที่


งานในครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลงานของครูที่ร่วมโครงการทั้งหมด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าครูมีทักษะที่ดี และมีความภูมิใจที่ได้เป็นกลไกหนึ่งในการร่วมพัฒนา ศพด.ให้มีความพร้อมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก และเด็กเองก็ได้มีสื่อและพื้นที่การเรียนรู้ที่ดีครบทุกด้าน


“ปัจจุบันมี ศพด.ร่วมโครงการ 183 ศูนย์ ในแต่ละปีมีข้อกำหนดว่า ศพด.ที่เข้าร่วมจะต้องไม่ซ้ำกัน เนื่องจากอยากให้โครงการขยายทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยหากเป็นไปได้ก็อยากให้ครอบคลุมทุก ศพด.ทั่วประเทศ สำหรับโครงการในปีที่ 4 กำลังจะเปิดรับเร็วๆ นี้ อยากเชิญชวน ศพด.พื้นที่ต่างๆ มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เพื่อร่วมพัฒนาเด็กเล็กให้เติบโตอย่างมีสุขภาวะที่ดีครบทุกด้าน และเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม” น.ส.สายใจกล่าว


ด้าน น.ส.ฉัฐปภัสร์ สมิทร์พูนผล หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนสามัคคีชุมชนหมู่ 3 เขตหนองแขม กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า แม้ว่าเขตหนองแขมจะเป็นพื้นที่ที่ไม่ไกลจากตัวเมืองกรุงเทพฯ แต่ก็ยังขาดแคลนหลายๆ ด้าน เนื่องจากมีจำนวนเด็กที่มีเกือบ 200 คน รวมถึงสถานที่ตั้งของ ศพด.เป็นพื้นที่เช่า ไม่สามารถสร้างอะไรที่ยึดติดได้ ทำให้เป็นอุปสรรคในการออกแบบกิจกรรม


หลังจากได้รับการอบรม ได้มีการนำข้อมูลมาร่วมปรึกษากับชุมชน จนเกิดผลสรุปว่าจะสร้างอุปกรณ์เสริมกิจกรรมทางกายที่สามารถเคลื่อนย้ายและเก็บได้ง่าย เช่น นำยางรถยนต์มาทำเป็นอุโมงค์ลอด บ้านบอลจากกล่องกระดาษแข็ง ทำฉากนิทานและหุ่นมือจากเศษผ้า เป็นต้น โดยในการทำกิจกรรมจะสอดแทรกความรู้ไปพร้อมกับการเล่น เช่น คำศัพท์ภาษาอังกฤษผ่านการเล่านิทานด้วยหุ่นมือในฉากนิทานที่มีสีสันสดใส เด็กให้ความสนใจ และมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ไปพร้อมกับครูมากขึ้น

Shares:
QR Code :
QR Code