มหัศจรรย์ที่มากกว่าการเห็น
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
สำหรับคนในเมืองอย่างเราๆ หากคิดจะตัดแว่นตาสักอัน คงไม่ใช่เรื่องยากเกินเอื้อม เพราะจะเห็นว่ามีร้านแว่นตาตั้งอยู่ทั่วไป แต่นั่นคงไม่ใช่กับเด็กๆ ที่ โรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ อำเภอพบพระ จังหวัดตากเพราะในพื้นที่ชายขอบเล็กๆ นี้ ห่างไกลจาก "ร้านแว่นตา" ไปหลายสิบกิโลเลยทีเดียว ทุกครั้งที่พวกเขาอยากตัดแว่นเพียงหนึ่งอัน ตัวเลือกที่ใกล้ที่สุดคือ ร้านแว่นตาในอำเภอแม่สอดที่ห่างราวๆ 50 กิโลเมตร!
ไม่เพียงต้องเดินทางไกลเพื่อตัดแว่นตา แต่สิ่งสำคัญคือ พวกเขาต้องมีเงินในกระเป๋าอย่างน้อยหลักพันถึงสามพันบาท ทั้งเป็นค่าแว่น และค่าเดินทาง ซึ่งเงินจำนวนนี้ อาจหมายถึงรายได้ทั้งเดือนของหนึ่งครอบครัว
พบพระ เป็นอีกหนึ่งอำเภอชายขอบของประเทศใน จ.ตาก ที่กล่าวได้ว่ามีประชากรหลากหลายเผ่าพันธุ์มากที่สุด โดยในพื้นที่ 5 ตำบล 55 หมู่บ้าน ซึ่งมีประชากรประมาณ 2,000 ครัวเรือน หรือประมาณหลักแสนคน โดยมีกลุ่มประชากรแฝงในพื้นที่ ทั้งในศูนย์อพยพและกลุ่มพี่น้องชายขอบที่ข้ามตะเข็บแดนเข้ามาทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับในประเทศไทยอีกนับหลายหมื่นคน
ส่วนในโรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ ซึ่งถือเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ของอำเภอ เปิดรับเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 "ทุกชาติพันธุ์" ทั้งเด็กไทย ที่มีเลข 13 หลัก และเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ปัจจุบันจึงมีนักเรียนมากกว่า 1,400 คน ซึ่งกว่าร้อยละ 50 คือกลุ่มชนเผ่าตั้งแต่ ม้ง กะเหรี่ยง เย้า ฯลฯ ที่ผู้ปกครองมีความใฝ่ฝันอยากให้ลูกมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ซึ่งแม้จะอยู่ชายขอบแต่กลับทันสถานการณ์และยุคสมัย ด้วยเปิดสอนหลักสูตรทั้งภาษาไทย พม่า อังกฤษ และจีน ตั้งแต่ชั้น ป.1
ปัญหาอุปสรรคหลักด้านการเรียนรู้ของนักเรียน วีระพล จันทบุตร ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ จ.ตาก เผยว่า ส่วนใหญ่เป็นปัญหาการอ่านออกเขียนได้ทั้งจากสาเหตุนอกจากเด็กมีปัญหาด้านสายตา และการติดสำเนียงภาษาดั้งเดิมของตัวเอง
"เด็กที่นี่เข้ามาวันแรกห้องหนึ่งนี่พูดคนละภาษาเลย บางห้องมี 6-7 ภาษา แต่เมื่อเรามีเป้าหมายว่าในระยะหนึ่งเขาก็จะต้องสื่อสารกันด้วยภาษาเดียวกัน นั่นคือภาษาไทย ดังนั้นพอภาคเรียนที่สองของชั้น ป.1 ก็จะสามารถอ่านหนังสือได้หมด"
เทคนิคสำคัญคือการพัฒนาตั้งแต่ตัวพ่อแม่ โรงเรียนมี "โครงการพ่อแม่ขอเป็นครู" โดยจะสอนพ่อแม่ให้หัดเขียน อ่าน สะกดอย่างถูกต้องเพื่อนำไปสอนลูกหลาน เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าชั้น ป.1 ทั้งที่เป็นคนไทยและชาติพันธุ์ ขณะเดียวกัน ครูที่นี่จะต้องมีวิธีสอนที่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป นั่นคือต้องเข้าใจพื้นฐานของเด็กที่มาจากหลากหลายชนเผ่า ส่วนในด้านโภชนาการ จะทำงานร่วมกับสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด หากเด็กคนใดต่ำกว่าเกณฑ์ก็จะมีอาหารเสริมป้องกันภาวะทุพโภชนาการ โดยโรงเรียนฃมีนโยบายสนับสนุนอาหารกลางวันฟรีแก่ เด็กทุกคนทุกระดับชั้น
ธารินี ศิริวัลย์ หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลพบพระ จ.ตาก เสริมข้อมูล ภาพกว้างของการเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินของคนต่างถิ่นในพบพระที่มากขึ้นในปัจจุบันว่า ทำให้สัดส่วนอัตราการเกิดก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยโดยข้อมูลในปี 2556-2559 พบสถิติเด็ก ที่เกิดในพบพระถึงร้อยละ 17.7
ผลของการขยายตัวของกลุ่มประชากรเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ทำให้ไม่อาจละเลย เรื่องสุขภาพของเด็กชายขอบที่ปัจจุบัน นอกจากปัญหาสายตา ยังพบปัญหาสาธารณสุขชายแดนในกลุ่มเด็กในด้านอื่นๆ ซึ่งมีความแตกต่างจากเด็กและเยาวชน ในเมือง อาทิเช่น ยังคงพบโรคระบาด โรคคอตีบ โรคมาลาเรีย รวมถึงภาวะทุพโภชนาการ ขณะที่เด็กในเมืองมีภาวะโภชนาการเกิน นอกจากนี้ เด็กร้อยละ 20 มีปัญหาทางช่องปาก ฟันผุ
ในด้านระดับเชาวน์ปัญญา หรือ IQ พบว่าเด็กพบพระมีเชาวน์ปัญญาเฉลี่ย ต่ำกว่าเกณฑ์(IQ90) ที่เมื่อวิเคราะห์สาเหตุปัญหาแล้ว พบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก การที่เด็กมีปัญหาด้านสายตา ธารินี เล่าต่อว่า จากการสังเกตของผู้อำนวยการโรงพยาบาลพบพระ ที่เห็นปรากฏการณ์น่าแปลกใจหนึ่งเรื่องในอำเภอค่อนข้างห่างไกลแห่งนี้ ว่า แทบจะไม่เห็นเด็กใส่แว่นมากนัก ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแม้แต่ตัวผู้ปกครองเด็กเอง ก็ไม่อาจทราบได้ว่า แท้จริงแล้วเด็กที่ไม่ใส่แว่นเหล่านี้ เพราะมีสายตาปกติจริง หรือมีสายตาสั้นแต่ไม่รู้ตัวเอง?
ความสงสัยดังกล่าวนำมาสู่การตั้งคำถามในใจต่อไปว่า แล้วจริงๆ เด็กพบพระมีปัญหาสายตาบ้างหรือไม่?
"จากที่พบข้อมูล หลังมีการคัดกรองและวัดสายตาเบื้องต้น ซึ่งโรงพยาบาลจัดนำร่องแห่งแรกที่โรงเรียนชุมชนบ้านพบพระในกลุ่มนักเรียนประมาณ1,200 พบว่า ร้อยละ 10 ที่มีสายตาสั้นระดับต่ำกว่า 200 และเด็กบางส่วนมีสายตาสั้นระดับไม่เกิน 100 โดยสาเหตุ อาจเป็นไปได้ทั้งส่วนของกรรมพันธุ์ ที่ทำให้เป็นโรคผิดปกติ ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ต่อไป และพฤติกรรมการใช้สายตาไม่ถูกสุขภาวะ เช่น อ่านหนังสือเล่นเกมในที่มืด โดยในการคัดกรองยังพบโรคอื่นๆ เกี่ยวกับตาอีกด้วย เช่น ตาเข ไม่มีเลนส์ตา เป็นต้น ซึ่งเด็ก ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีสายตาผิดปกติ"
แม้สายตาสั้นจะไม่ใช่ปัญหาสุขภาพ ร้ายแรง แต่ก็เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวัน และยังเป็นอุปสรรคในโลกการศึกษาเล่าเรียนของเด็กๆ การมองเห็นที่ชัดเจน ส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างมีนัยยะสำคัญ ทางโรงพยาบาล และโรงเรียนจึงมีแนวคิดร่วมกันว่าไม่ควรปล่อยให้เด็กๆ มองกระดานไม่ชัดเจนอีกต่อไป โดยได้ร่วมหารือกัน เพื่อหาทางในการช่วยเหลือแก้ไข แต่แม้จะพบว่าเด็กมีค่าสายตาต้องใส่แว่น หากด้วยฐานะและสถานะของผู้ปกครองเด็กส่วนใหญ่ ที่เกือบร้อยละห้าสิบคือพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่อาจมีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะตัดแว่นตาให้บุตรหลานได้ รวมถึงทางโรงเรียนและโรงพยาบาลเองก็ไม่มีงบประมาณที่รองรับการตัดแว่นตาให้เด็กครบทุกคน ทางออกที่ดีที่สุด คือหาเครือข่ายความร่วมมือ ที่ช่วยขยายโอกาสและคุณภาพชีวิตให้เด็กๆ นั่นคือที่มาของ "Wonder View" จึงเป็นอีกหนึ่งโปรเจคที่เกิดขึ้น ภายใต้แนวคิด "นับเราด้วยคน" โครงการที่ได้รับการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.)
จากแนวคิด "มากกว่าแว่นตา คืออนาคต ที่สดใส" ทีมงานของมูลนิธิฟอร์เวิร์ด ผู้ก่อตั้งโครงการ "Wonder View" มุ่งเป้าหมายไปที่วัตถุประสงค์หลัก คือการลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ โดยพวกเขาเลือกที่จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรับบริจาคแว่นตาและเงินจากผู้มีน้ำใจในสังคม มากว่าการใช้ทุนส่วนตัว
ธานินทร์ โชคชัยเจริญพร หนึ่งใน คนรุ่นใหม่ที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิฟอร์เวิร์ด อธิบายแนวคิดว่าถึงแม้การบริจาคเงินเองมันเป็นเรื่องง่ายกว่า แต่ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของ ทุกคนในทีมมูลนิธิฟอร์เวิร์ด
"เป้าหมายของฟอร์เวิร์ดฟาวเดชั่น คือเราจะเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ให้กับผู้รับ จริงๆ ทุกคนมีงานประจำอยู่แล้วแต่คอนเซปต์ของเราที่ตั้งเป้าไว้ เราอยากให้ คนที่มาอยู่ตรงนี้ ทุกคนสามารถเป็นผู้ให้ได้ โดยไม่มีข้อจำกัด มีมากให้มาก มีน้อยให้น้อยมีเวลาให้เวลา มีความรู้ให้ความรู้ เราไม่ได้ บอกว่าคุณต้องบริจาคเงินนะ คุณมีอะไรหรือเท่าไหร่ก็ให้ได้"
มูลนิธิฟอร์เวิร์ด เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนหลากหลายวงการ ทั้งสายการเงิน สื่อสารมวลชน การตลาด ไอที นักพัฒนา ซึ่งมีแนวคิดอยากทำงานเพื่อสังคม โดยเริ่มแรก คิดที่จะพัฒนาแอพลิเคชันขึ้นเพื่อเป็น สื่อกลางในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้กับผู้รับ แต่หลังจากได้รับคำแนะนำจากท่าน ว.วชิรเมธีเป็นผู้จุดประกายว่าโครงการนี้ดีควรจัดทำ เป็นรูปธรรม
ที่มาโครงการ ธานินทร์ เอ่ยว่า วันเดอร์วิว เกิดจากการได้คุยกับ สสส. ซึ่งให้คำปรึกษาและให้ความรู้ด้านวิชาการกับทีมงาน อีกทั้ง ยังแนะนำให้รู้จักกับทีมงานเจ้าหน้าที่ ที่ รพ.พบพระ
"หลังได้รับฟังข้อมูลจากทีมงานใน โรงพยาบาลพบพระว่า พบเด็กๆ ในพื้นที่ มีปัญหาด้านสติปัญญาบกพร่องเพิ่มขึ้นทุกปี โดยพบว่าสาเหตุส่วนหนึ่ง เพราะเด็กมีปัญหาด้านสายตา ขณะพ่อแม่เด็กต้องทำงาน หาเลี้ยงชีพ จนอาจไม่มีเวลาใส่ใจเด็กมากนัก
โดยส่วนใหญ่เด็กไทยที่มีสายตาสั้นทั่วประเทศเฉลี่ยร้อยละ 20 แต่ที่นี่พบเพียงร้อยละ 10 ซึ่งนับว่าไม่ได้มาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เขาไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว
"ทางทีมงานมองว่าเป็นเรื่องที่มีความ น่าสนใจ เพราะทุกคนจะทราบดีว่าปัญหาของคนที่ไม่มีแว่นตาหรือมองเห็นไม่ชัดเป็นอย่างไร เราจึงมองว่าโครงการนี้จะสามารถจุดประกาย และสร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคม อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก"
ทีมงานจึงจัดกิจกรรมช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ ที่โดยมาเป็น กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่มีปัญหาสายตา ด้วยการเป็นศูนย์กลางในการ รับบริจาคแว่นตา และเงินสนับสนุนเพื่อนำไปมอบให้กับเด็กๆ
ขณะเดียวกันยังดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมในการรับแจ้งปัญหา และดำเนินการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปสำรวจ ตรวจวัดสายตา และจัดหาแว่นตาให้กับเด็กๆ
"เราได้มีโอกาสเล่าปัญหานี้ให้ นนท์ เดอะวอยซ์ และน้ำ เอเอฟ ซึ่งเขายินดีที่จะส่งวีทีอาร์มาร่วมสนับสนุน ส่งแว่นมาประมูลในกิจกรรมประมูลแว่นตา ในงาน Good Society Expo ณ ลานด้านหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งโครงการได้รับบริจาคแว่นตามือสองทั้งหมด 62 อันและสามารถระดมทุนเพื่อนำมาตัดแว่นให้นักเรียนจากการประมูลเป็นเงินทั้งหมด 97,140 บาท"
โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ทางทีมงานมูลนิธิฟอร์เวิร์ดจึงได้เดินทางไปจัดกิจกรรมตรวจวัดสายตาและตัดแว่นให้กับเด็กๆ น้องๆ ในโรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นในจำนวนนักเรียนทั้งหมด1,412 คน พบว่ามีนักเรียนที่มีปัญหาสายตาสั้นจำนวน 65 คน แต่หลังจากทางมูลนิธิฟอร์เวิร์ดได้นำทีมงานผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือตรวจวัดสายตาอย่างละเอียดทำให้พบเด็กที่มีปัญหาสายตาสั้นเพิ่มเป็น 112 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีนักเรียนเพียง 11 คน เท่านั้นที่มีแว่นตา
สนใจร่วมบริจาคแว่นตา หรือสมทบทุน ให้กับโครงการ Wonder View สามารถติดตาม ความเคลื่อนไหวได้ที่มูลนิธิฟอร์เวิร์ด Facebook : Forward Foundation Thailand หรือสอบถามเพิ่มเติมโทร. 09 2204 5995
"การมองเห็น ที่ชัดเจน ส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างมีนัยยะสำคัญ"