มหัศจรรย์ของ `นมแม่`
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
นมแม่เป็นมากกว่าสารอาหาร สร้างมาสำหรับเลี้ยงลูกคนมีปริมาณโปรตีน คาร์โบไฮเดรตที่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงเด็ก รวมทั้งปริมาณเกลือแร่ที่พอดี เพราะร่างกายของเด็กยังเล็ก ไตยังเล็กทำงานไม่เต็มที่ และที่สำคัญในนมแม่มีภูมิคุ้มกันที่หาไม่ได้จากนมผงพราะเป็นสารที่มีชีวิตมีถึง 20 ชนิด
สินค้านมผงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะอย.ห้ามโฆษณานมผงสำหรับเลี้ยงทารกจนถึงหนึ่งปี บริษัทนมผงอาศัยช่องว่างของ ก.ม.อ้างว่านมผงมี สารอาหารต่าง ๆ เช่น อัลฟา-แลคตัลบูมิน ดีเอชเอ เอเอ ช่วยทำให้ลูกฉลาด ซึ่งสารเหล่านี้มีอยู่แล้วในนมแม่
พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่าอิทธิพลของโฆษณาทำให้ผู้บริโภคเชื่ออย่างสนิทใจว่าในนมผงมีสารที่ให้ลูกฉลาดแต่ผู้บริโภคไม่รู้ความหมายว่าอัลฟาแลคตัลบูมินคืออะไร สารดังกล่าวแท้จริงมีอยู่แล้วในนมแม่และมีอย่างมาก ซึ่งสารดังกล่าวที่นมผงบอก มีแหล่งที่มานั้นมาจากวัว มีลักษณะโครงสร้างโมเลกุลนั้นต่างกัน มีโปรตีนคนละชนิด เพราะวัวตัวใหญ่ ดังนั้นจึงต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์สกัดออกมา ไม่เหมือนกับสิ่งที่ร่างกายมนุษย์สร้างขึ้นมาจึงมีอาการผิดเพี้ยนอยู่แล้ว บริษัทไม่บอกความจริงของแหล่งที่มา
เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นมแม่เป็นมากกว่าสารอาหาร สร้างมาสำหรับเลี้ยงลูกคนมีปริมาณโปรตีน คาร์โบไฮเดรตที่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงเด็ก รวมทั้งปริมาณเกลือแร่ที่พอดี เพราะร่างกายของเด็กยังเล็ก ไตยังเล็กทำงานไม่เต็มที่ และที่สำคัญในนมแม่มีภูมิคุ้มกันที่หาไม่ได้จากนมผงพราะเป็นสารที่มีชีวิตมีถึง 20 ชนิด อาทิ สารต้านการอักเสบ เซลล์แอนตี้แบคทีเรีย ช่วยป้องกันโรคในเด็กตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งเด็กแรกเกิดภูมิคุ้มกันเพิ่งเริ่มสร้าง จึงไม่มีวัคซีนตัวไหนดีเท่านมแม่ เพราะปกติเด็กเล็กจะฉีดวัคซีน 2 ตัวคือป้องกันวัณโรค และป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
"วัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ เหลือต้องเอามาจากนมแม่ จำเป็นมากเพราะช่วงแรก"
ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือนไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารใด ๆ ทั้งสิ้นหลังจากนั้นให้อาหารตามวัย และยังให้นมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีข้อมูลใหม่ออกมาว่าหลังจาก 6 เดือนแล้วนมแม่ไม่มีประโยชน์สำหรับลูกต่อไป
พญ.ยุพยง ให้คำอธิบายว่า เด็ก 6 เดือนนมแม่ไม่พอสำหรับ การเจริญเติบโตไม่ใช่เพราะนมแม่ไม่มีคุณภาพ แต่เด็กตัวใหญ่ขึ้น พลังงานที่ได้ไม่พอต้องใช้พลังงานอื่นแต่ในช่วง 6 เดือนแรกใช้พอ ซึ่งธรรมชาติมนุษย์เมื่อตัวใหญ่ขึ้นจึงต้องกินอาหารเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับวิตามินเกลือแร่ ภูมิคุ้มกันต่าง ๆ เด็กเริ่มสร้างได้เอง และนมแม่ในหลัง 6 เดือนจะทำหน้าที่เป็นอาหารเสริมภูมิคุ้มกัน มีฮอร์โมนที่ใช้สำหรับการเจริญเติบโต เสริมสร้างพัฒนาการสมองมีไขมันที่ดีเลิศ ที่สำคัญแม่ได้ใกล้ชิดอุ้มชู ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต้องกินนมทุก 2-3 ชม. ระหว่างให้นมจะมีสัมผัสแห่งรัก ขณะที่ลูกกินนมผงใครก็เลี้ยงได้
อัมพร ไทยขำ นักวิชาการสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. คุณแม่วัย 32 ปี ถ่ายทอดประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ว่า ตอนนี้ลูกชายวัย 11 เดือนแล้วยังให้นมแม่อย่างต่อเนื่อง ระหว่างที่ให้นมแม่ต้องพบกับอุปสรรคคนรอบข้างที่ไม่เข้าใจ ที่ใกล้ตัวคือคุณยายของลูก เพราะโฆษณานมผงตอกย้ำว่ามีสารอาหารที่ดี ใช้วิธีแก้ปัญหาอธิบายด้วยความใจเย็น และสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าลูกไม่ป่วยมีครั้งเดียวช่วงอากาศร้อนจัดที่ผ่านมาลูกมีไข้ แต่ใช้วิธีเช็ดตัวก็หาย ลูกสุขภาพดีน้ำหนักตัวสูงกว่าเกณฑ์ รวมทั้งน้ำหนักแม่ลดลงจากเดิมตอนคลอดน้ำหนักพุ่งขึ้นมาที่ 16 กก. ขณะที่น้ำหนักตัวตอนนี้เหลือที่ 45 กก. ผอมกว่าตอนก่อนท้องซึ่งอยู่ที่ 47 กก.
"พาลูกไปหาหมอเด็กใน รพ.เอกชนแห่งหนึ่งคุณหมอบอกว่าลูก 6 เดือนแล้วน่าจะเปลี่ยนมากินนมผงยี่ห้อนี้นะ สามีไปฟังด้วยยังเขว เราต้องย้ำว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดจะล้มเหลว เพราะหลังจาก 4 เดือนต้องปั๊มนมทุก 2 ชม.กลางคืนลูกตื่นมาต้องเข้าเต้าถึง 2 ครั้ง เพราะหลัก ๆ ของนมแม่ยิ่งกระตุ้นน้ำนมก็จะ เพิ่มออกมา"
ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามผลักดันให้มีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ…รวมทั้งรูปแบบการละเมิด CODE ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญไม่ให้เกิดการโฆษณานมผง แต่บริษัทนมผงสามารถให้ข้อมูลได้ เช่น ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัท เป็นข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งการหาคำจำกัดความเรื่องกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ลดแลกแจกแถม เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่ประกาศใช้เราจึงได้เห็นกลยุทธ์การตลาดนมผงช่วงชิงเกมการตลาดอย่างหนักหน่วงเพื่อจะให้แบรนด์ของบริษัทเป็นที่จดจำให้ได้ วิธีการคือแจกตัวอย่างนมผง ใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นแม่ดารา รวมทั้งใช้บุคลากรทางแพทย์มาเป็นผู้ชี้นำ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วห้ามทำ