มหันตภัยยาบ้าก่อโรคพาร์กินสัน
นักวิจัย ม.มหิดลเผยสารแอมเฟตามีนในยาบ้าทำลายเซลล์สมอง ผู้ติดยามีโอกาสเป็นโรคพาร์กินสัน เล็งต่อยอดวิธีรักษาใหม่ด้วยสเต็มเซลล์ ช่วยชะลอสมองเสื่อม พบเด็กติดเกมกับติดยาสูญเสียการเรียนรู้และความจำเหมือนกัน
ศ.ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยว่า จากการศึกษาวิจัยผลกระทบของการเสพสารแอมเฟตามีนหรือยาบ้าในเชิงวิทยาศาสตร์ทางเคมี พบว่าสารแอมเฟตามีนเป็นตัวทำลายระบบประสาทและเซลล์สมอง ทำให้สูญเสียการเรียนรู้และความจำ การพัฒนาเซลล์สมองผิดปกติ และมีลักษณะแบบเดียวกับเซลล์สมองของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ผลสรุปคือ ผู้เสพติดยาบ้ามีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคพาร์กินสันในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยต่อยอดในเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ เพื่อเป็นวิธีใหม่ในการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้าในอนาคต
ศ.ดร.ปิยะรัตน์กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีสาเหตุเกิดจากระบบประสาทที่เรียกว่าโดปามีนถูกทำลาย ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก ลำตัวแข็งเกร็งและเดินไม่ได้ ในขณะที่ผู้เสพยาบ้าที่มีสารแอมเฟตามีนเข้าไปในสมองก็จะทำลายระบบประสาทโดปามีน โดยผู้เสพยาบ้าในช่วงแรกๆ จะมีความรู้สึกสุขสบาย เพราะได้หลั่งสารโดปามีน แต่เมื่อเสพยาบ้ามากๆ สารโดปามีนก็จะกลายเป็นอนุมูลอิสระที่ไปทำลายเซลล์สมองเหมือนคนป่วยโรคพาร์กินสัน ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเป็นจำนวนมาก
“จากการเจาะเลือดผู้เสพยาบ้าตรวจพบอนุมูลอิสระเยอะมาก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคพาร์กินสัน นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบตัวบ่งชี้คนที่เป็นโรคพาร์กินสัน ในสมองจะสร้างโปรตีนชื่ออัลฟาซินนิวคริน ซึ่งคนทั่วไปไม่มีโปรตีนตัวนี้ เมื่อฉีดสารแอมเฟตามีนเข้าไปในหนูทดลอง ก็พบว่าหนูสร้างโปรตีนตัวนี้ขึ้นในสมองเช่นกัน” ศ.ดร.ปิยะรัตน์เผย
สำหรับการรักษาผู้เสพยาบ้าที่เป็นโรคพาร์กินสันด้วยวิธีสเต็มเซลล์นั้น การศึกษาวิจัยอยู่ในขั้นทดลองโดยการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ เพื่อนำมาสร้างเซลล์ใหม่ให้สมองส่วนที่ถูกทำลายและสูญเสียไปจากการเสพสารแอมเฟตามีน ในอนาคตอาจจะมียาใหม่ที่ใช้รักษาผู้ป่วยสมองเสื่อม
นอกจากนี้ ศ.ดร.ปิยะรัตน์ ในฐานะเป็นประธานหลักสูตรปริญญาเอก สาขาประสาทวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ยังศึกษาปัญหาการเสพติดในกลุ่มยาบ้าและการเสพติดเกมในโลกอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊กและเว็บไซต์สังคมออนไลน์อื่นๆ ซึ่งในประเทศไทยมีสมาชิกเฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 2 ของเอเชียคือ ปีละ 2 ล้านคน เมื่อศึกษาการเสพติดที่เกิดจากชีววิทยาระบบประสาทและพฤติกรรม พบว่าการติดยาและติดเกมมีผลกระทบต่อสมองส่วนเดียวกัน ทำให้สูญเสียการเรียนรู้และความจำ ส่วนการรักษาต้องใช้หลักการวิทยาศาสตร์ทางเคมีในสมองควบคู่กับงานด้านจิตวิทยาและสังคมศาสตร์ จึงจะสามารถแก้ปัญหาเสพติดอย่างครบวงจร
ด้าน ดร.ประภาพรรณ จูเจริญ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ระบุว่า วิธีแก้ไขผู้ติดสิ่งเสพติดต้องใช้หลักการบูรณาการระหว่างชีวะ-จิตสังคม เพื่อแก้ปัญหาเด็กติดยาหรือสิ่งเสพติดได้อย่างยั่งยืน ต้องบำบัดอย่างรอบด้านทั้งชีววิทยาระบบประสาทและพฤติกรรม เช่น การเข้าใจกลไกสมองติดยา การรักษาด้วยยาร่วมกับงานด้านจิตวิทยา นอกจากนี้ยังนำความรู้จากในรั้วมหาวิทยาลัยมาให้ชุมชนปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กรณีศึกษาชาวเขาเผ่าม้ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ได้ศึกษาหลักสูตรนี้แล้วนำไปใช้จริง โดยช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดเป็นรายบุคคล ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาการเสพติดอย่างได้ผลชัดเจน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์