มหกรรม “Happy Workplace Forum 2010”
กับแนวทางรับมือปัญหา generation gap ในองค์กรขนาดใหญ่
สสส.จัดมหกรรมองค์กรแห่งความสุข รับมือช่องว่างระหว่างวัยในอนาคต ตั้งเป้าสร้าง 10,000 สถานที่ทำงานแห่งความสุข เปิดผลสำรวจช่องว่างระหว่างวัยในการทำงาน 62% ของกลุ่ม Gen Y เล่นเฟสบุ๊ค-ทวิสเตอร์ ในที่ทำงาน ขณะที่ 2 ใน 3 ของกลุ่มผู้บริหาร มองขาดวินัย ออกกฎเหล็กบังคับ ส่งผลความผูกพันต่อองค์กร-ลาออกอื้อ
เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดมหกรรม Happy Workplace Forum 2010 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,800 คน และประธานสภาหอการค้าจังหวัด 31 แห่ง โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ กำลังเผชิญกับความท้าทายแบบใหม่คือ ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย หรือ Generation Gap ที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายในการบริหารทรัพยากรบุคคล เนื่องจาก คน คือ ทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดขององค์กรที่จะนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ หากทุกองค์กรหันมาดูแลสุขภาพของคนวัยทำงาน และตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงระหว่างช่วงวันที่จะเกิดขึ้น ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ 12 ล้านคนจากภาคแรงงานในระบบ มีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งความสุข ซี่งขณะนี้มีสถานที่ทำงานแห่งความสุข ทั้งสิ้น 2,000 แห่ง โดยตั้งเป้าหมายว่า ในอีก 2 ปี จะมีสถานที่ทำงานแห่งความสุขเพิ่มขึ้นถึง 10,000 แห่ง
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน สสส. กล่าวว่า จากผลการศึกษาของสำนักวิจัยเวิร์ลวัน ถึงช่องว่างระหว่างวัยกับการใช้เทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา จำนวน 700 คน พบว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มที่อยู่ในวัยผู้บริหาร ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือที่เรียกว่า “เบเบี้บูมเมอร์” รู้สึกว่า การใช้อุปกรณ์พกพา เช่น บีบี หรือไอโฟนในเวลาทำงาน ทำให้วินัยในการทำงานลดลง และการใช้คอมพิวเตอร์พกพาในขณะประชุมเป็นเรื่องรบกวนสมาธิ ขณะที่กลุ่ม Generation Y ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี จำนวนมากกว่า 50% ไม่เห็นด้วย โดยพบว่า กว่า 62% ของกลุ่มGen Y นิยมเล่น Social network เช่น เฟสบุ๊ค ทวิสเตอร์ในที่ทำงาน ขณะที่กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ เข้าใช้งานเพียง 14% โดยกลุ่ม Gen Y มักนิยมทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น เปิดเว็บ ฟังเพลง และทำงาน
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ และ Gen X ซึ่งมีช่วงอายุ 30-40 ปีที่อยู่ในระดับผู้บริหารหรือมีสิทธิตัดสินใจในองค์กร มักออกกฎหรือระเบียบที่ไม่สนองต่อความสามารถของกลุ่ม Gen Y ผลที่เกิดขึ้นคือ ความผูกพันต่อองค์กรลดลง หรืออัตราการออกสูงขึ้น อย่างไรก็ตามหากองค์กรสามารถใช้คนรุ่นใหม่ได้ตรงกับความสามารถ และหาจุดร่วมระหว่างกันของทุกกลุ่มคนในองค์กรก็จะสามารถทำให้คนกลุ่มนี้ทุ่มเทการทำงานให้กับองค์กรอย่างมาก ซึ่งพบว่ามีองค์กรในประเทศไทยเพียง 10% ที่มีแผนรองรับไว้แล้ว ส่วนอีก 90% ยังไม่มีแผนรองรับคนที่มีความแตกต่างของแต่ละช่วงวัย จึงได้มีการนำเสนอตัวอย่างสถานที่ทำงานแห่งความสุขในพื้นที่ จาก 100 องค์กรหลากสุข มาเป็นตัวอย่างให้แต่ละองค์กรที่เข้ามาร่วมงานได้ศึกษา และนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับองค์กรของตนเอง
นอกจากนี้ภายในงานมีการจัดสัมมนา หัวข้อ “มุ่งสู่องค์กรแห่งอนาคต รับมืออย่างไรกับ Generation Gap ภายในองค์กร” โดยนายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์ความแตกต่างของคนแต่ละยุคสมัยออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้ 1. ยุคเบบี้ บูม (Baby Boom): อายุ 45 ปีขึ้นไป เกิดมาในยุคที่ยากลำบากเพื่อให้ได้เรียน และทำงานในที่ๆ ดี จึงมองว่าต้องดิ้นรน ทุ่มเทในงานมาก 2. ยุคเจนเนอร์เรชั่น เอ็กซ์ (Generation X): ครอบครัวเริ่มสบาย เรียนรู้และเข้าใจความสำเร็จ แต่พยายามผสมผสานชีวิตงานและชีวิตส่วนตัวให้ลงตัว อายุ 30-45 ปี 3. ยุคเจเนอร์เรชั่น วาย (Generation Y) ครอบครัวเพียบพร้อม ชอบสิ่งท้าทายและเปลี่ยนแปลง ชอบอยู่ในสังคมเพื่อนฝูง อายุ 15-35 ปี และ 4. ยุค “บีบี” (Generation BB): เกิดมาท่ามกลางข้อมูลข่าวสาร ความเปลี่ยนแปลง มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบสังคม Social Network
“ต้องยอมรับว่า พนักงานกว่า ครึ่งเป็นเจนเนอร์เรชั่นวาย และอีก 30% เป็นเอ็กซ์ ถ้าเราเข้าใจแต่ละเจนเนอร์เรชั่นแล้ว ก็สามารถนำจุดดีของพวกเขามาช่วยในการพัฒนาองค์กรได้อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้เกิดการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพวกเขาก็มีความสุขในการทำงานด้วย เช่น ยุคเบบี้บูม เป็นนักสู้ ยุคเอ็กซ์ชอบชีวิตมีสังคม ยุควายอยู่ในยุคที่พร้อม มีข้อมูล และความท้าทายให้พวกเขาได้คิดในสิ่งที่เขาอยากทำ ส่วนรุ่น “บีบี” ยุคนี้จะถึงในจุดที่เขาอยากสอน อยากถ่ายทอดในสิ่งที่เขามีประโยชน์ ไม่มีในตำราแต่มาจากประสบการณ์จริง ซึ่งผมมองว่า คนทุกยุคมีศักยภาพที่แตกต่าง แต่เราจะปรับอย่างไรให้เข้าได้งานที่เหมาะสม ซึ่งบริษัทต้องมีแผนรองรับเพื่อให้ทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อการแข่งขันในระดับโลก โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละวัยให้เป็นประโยชน์สูงสุด” นายวีรศักดิ์กล่าว
นายบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความสุขในที่ทำงานคือ การเห็นพนักงานมีความสุข และผู้บริหารก็ต้องพยายามเป็นตัวการให้พวกเขามีความสุขและความสำเร็จ ส่วนข้อแตกต่างในแต่ละยุคนั้น พวกเอ็กซ์ คือ ต้องการความสุขได้ทำงาน มีผลงาน มีความสำเร็จ มีรายได้ มีควาามเจริญก้าวหน้า มีลูกน้องที่ดี พวกกลุ่มวาย คือ ได้เครื่องบีบีคนใหม่ รู้จักเพื่อนในเฟสบุ๊คส์ใหม่ ความสุขของเขาคือความสนุกสนาน ซึ่งแต่ละความต้องการสุดท้ายก็จะตอบสนองความเป็นคน อยากให้มองแต่ข้อดีของเขา และละเลยข้อด้อย เพราะไม่มีคนในยุคไหนที่สมบูรณ์แบบ แต่ถ้าหากเราสามารถเลือกใช้ศักยภาพของเขาในจุดเด่นได้ ก็จะทำให้ประสบผลสำเร็จ และพนักงานก็มีกำลังใจทำงานต่อไป ที่สำคัญการสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงาน การเพิ่มแรงกระตุ้นนั้นจะช่วยให้พวกเขามีแรงผลักดันในการทำงานมากขึ้นอย่างมีความสุข
ที่มา: สำนักข่าว สสส.
Update: 20-07-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภุ๋