“มหกรรมดนตรีคนพิการ” เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน
การสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างผู้พิการและบุคคลทั่วไปให้เกิดขึ้นบนสังคมไทย คงไม่เกิดขึ้นจริงหากเราพูดกันเพียงลมปาก แต่ขาดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม แต่ในช่วงปลายเดือนแห่งความรักนี้ ประเทศไทยของเราได้รับโอกาสสำคัญในการทำให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้น ด้วยการเป็นเจ้าภาพ “มหกรรมกนตรีวาตาโบชิแห่งเอเชีย-แปซิฟิก”
สำหรับ “มหกรรมดนตรีวาตาโบชิแห่งเอเชีย-แปซิฟิก”ครั้งที่ 11 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ยิ้มสู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน” จะมีขึ้นในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ที่โรงละครแห่งชาติ เป็นการเปิดเวทีให้คนพิการได้มีโอกาสแสดงศักยภาพและความสามารถด้านดนตรีออกมาให้เป็นที่ประจักษ์
พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) กล่าวว่า สสพ. ซึ่งเป็นสถาบันความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเป็นเจ้าภาพมหกรรมดนตรีวาตาโบชิฯ นับเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมตัวสู่การเป็น Inclusive world ที่เริ่มต้นและขับเคลื่อนโดยคนพิการ ซึ่ง สสพ. และ สสส. มีความภูมิใจที่จะได้นำเสนอผลงานของเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ พื่อสร้างความสุขควบคู่ไปกับการเรียนรู้ถึงคุณค่าของทั้งดนตรี และคุณค่ามนุษย์ทุกคน
ในมหกรรมดนตรีวาตาโบชิฯ ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับชมการถ่ายทอดบทเพลงที่คนพิการประเทศต่างๆ กว่า 10 ประเทศแต่งขึ้น โดยมีไฮไลท์อยู่ในช่วงพิธีเปิด ซึ่งคนพิการจากทั่วเอเชีย-แปซิฟิก และคนพิการไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ โดยการขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” หรือ “Smile” นอกจากนี้ยังมีการแสดงพิเศษที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินที่พิการและไม่พิการ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาชมได้ไม่ง่ายนัก เช่น การประชันแซ็กโซโฟนระหว่างคนพิการไทย และสหรัฐอเมริกา การเล่นพิณแก้ว การแสดงดนตรีอีสานจากคนพิการ จ.ขอนแก่น การแสดงของศิลปินรับเชิญพิเศษโดยคุณกุ้ง สุธิราชและแคท รัตกาล ซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์ของงานครั้งนี้ และที่สำคัญ การแสดงของคุณพรภควา กำเนิดคำ ซึ่งเป็นตัวแทนของคนพิการไทยของเราที่จะร่วมแสดงและถ่ายทอดบทเพลงร่วมกับประเทศต่างๆ ในครั้งนี้ด้วย
คุณพรภควา กำเนิดคำ ตัวแทนของผู้พิการไทยเจ้าของบทประพันธ์เพลง “สัมพันธภาพแห่งรอยยิ้ม”ที่จะถูกคัดเลือกให้นำไปขับร้องในคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วย กล่าวถึงแนวคิดในการประพันธ์บทเพลงดังกล่าวว่า เป็นการคิดขยายความจากคำจำกัดความของโครงการที่ว่า “ยิ้มสู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่าวงกลมกลืน” โดยได้แรงบันดาลใจการ “ยิ้ม” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ไทย และตนเชื่อว่าหากคนไทยยิ้มให้กันก็จะเกิดความปรองดองสมานฉันท์และนำไปสู่การสร้างโลกที่สวยงามขึ้นได้ บทเพลงนี้จึงเปรียบเสมือนบทเพลงที่สื่อถึงจิตวิญญาณของคนไทยทุกคน
“ผมอยากให้มีโครงการหรือมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนพิการได้เข้าร่วมเยอะๆ ไม่เพียงแต่เรื่องดนตรี อาจจะเป็นศิลปะหรือเรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะหากผู้พิการได้รับโอกาส จะเหมือนมีแรงที่ไปจุดประกายขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้ผู้พิการสามารถคิดต่อยอดทำนั่น ทำนี่ได้อีกมากมาย หากเขาไม่ได้รับโอกาส ก็จะใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ เหมือนกับน้ำที่นิ่งอยู่ ไม่ไหวติง สุดท้ายก็จะกลายเป็นน้ำเน่า แต่หากถูกกระตุ้น ให้ได้เห็นคุณค่าในตัวเองว่ามีศักยภาพ ผู้พิการก็จะมีแรงในการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ เพราะผู้พิการแต่ละคนก็มีความฝัน และฝันเยอะ เพราะคนที่บกพร่องจะมีความฝันมากกว่าปกติ การให้โอกาสเขาก็เหมือนการให้บันไดให้เขาได้ก้าวเดินต่อไปครับ และจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ซึ่งเป็นความสวยงามของสังคม”
คุณพรภควา กล่าวต่อไปอีกว่า วันที่ 29 ก.พ.ที่จะถึงนี้ จึงขอเชิญชวนผู้มีเกียรติ ทั้งคนพิการหรือไม่พิการ ที่พอสละเวลาไปร่วมชมมหกรรมดนตรีวาตาโบชิฯ ได้ ขอให้ไปเป็นกำลังใจให้กับศิลปินกระแสหลัก และศิลปินผู้พิการ เพราะถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์แห่งวงการจรรโลงโลกครั้งหนึ่ง
ด้าน คุณสำราญ หอมวงษ์ ผู้พิการทางสายตาที่จะเข้าร่วมการแสดงในมหกรรมดนตรีวาตาโบชิฯ ด้วย กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้เข้าร่วมแสดงดนตรีกับศิลปินท่านอื่นๆ และอยากให้สังคมได้เปิดโอกาสให้ผู้พิการได้เข้าร่วมในกิจกรรมอื่นๆ ด้วย ซึ่งไม่เพียงแต่สังคมจะเปิดใจ ตัวผู้พิการก็ต้องเปิดใจไปสู่สังคมด้วย เป็นการยอมรับและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
“การยอมรับและเรียนรู้จะนำไปสู่มิตรภาพ และเมื่อเราได้ช่วยเหลือแบ่งปันกันและกัน ความรู้สึกว่าใครด้อยกว่าใคร ใครพร้อมกว่าใครจะหมดไป เราจะไม่รู้สึกว่าเพื่อนเราพิการเพราะเราจะให้เกียรติเพื่อนของเรา นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนและเท่าเทียม ทำให้ผู้พิการกล้าที่จะออกไปสู่สังคม”
คุณสำราญ ฝากบอกด้วยว่า ในความเป็นจริงแล้ว ผู้พิการไม่ได้ต้องการให้สังคมช่วยเหลือในทุกๆ เรื่อง การช่วยเหลือที่ต้องการคือช่วยทำในเรื่องที่ผู้พิการทำไม่ได้ แต่ผู้พิการก็มีความปรารถนาที่อยากจะช่วยคนอื่น และหากสามารถช่วยสังคมได้ด้วยก็จะยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เหมือนการได้เข้าร่วมงานมหกรรมดนตรีวาตาโบชิฯ เมื่อได้เข้าไปร่วมงานก็เหมือนได้แสดงให้สังคมเห็นว่าผู้พิการก็สามารถทำได้ เป็นการเชื่อมร้อยระหว่างผู้พิการกับผู้ไม่พิการเข้าด้วยกันด้วยเสียงดนตรี
สำหรับใครที่สนใจเข้าร่วมชมมหกรรมดนตรีวาตาโบชิแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 11 ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ณ โรงละครแห่งชาติ เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป สามารถซื้อบัตรราคา 500, 300 และ 100 บาท ได้ที่เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ/มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ 546 ลาดพร้าว 47 แขวงสะพานสอง เขตวังทองหลาง กทม. 10310 หรือสอบถามโทร. 08-5337-9660 และเว็บไซต์: www.nmad2006.org ไปร่วมให้กำลังใจและสร้างสังคมน่าอยู่ด้วยกันนะคะ
เรื่องโดย : คีตฌาณ์ ลอยเลิศ Team content www.thaihealth.or.th