มลพิษทางอากาศมาจากไหน?
ที่มา : http://www.greenpeace.org
มลพิษทางอากาศในประเทศไทยเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ มลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองในบรรยากาศมีผลกระทบทางสุขภาพในหลายด้าน
โดยเป็นปัจจัยรวมอันก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้แก่ กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคเรื้อรังของทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง และโรคมะเร็งปอด โดยก่อให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรในประเทศไทย ประมาณ 50,000 คนต่อปี(1) ดังนั้น มลพิษทางอากาศจึงเป็นปัญหาที่ควรได้รับความสําคัญด้านนโยบาย ในหลายพื้นที่ของประเทศที่เรียกว่าเป็น “พื้นที่วิกฤตคุณภาพอากาศ” ยังคงมีสารมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน
ทุกๆ ต้นปี ประชาชนในจังหวัดภาคเหนือตอนบนต้องเผชิญกับหมอกควันพิษจากแหล่งกำเนิดต่างๆ โดยเฉพาะการเผาในที่โล่งโดยเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตหมอกควันพิษข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในขณะที่ช่วงปลายปี หมอกควันพิษหนาทึบจากจุดเกิดไฟบนเกาะสุมาตราและกะลิมันตันของอินโดนีเซียอาจแผ่เข้าปกคลุมพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทย กลายเป็นวิกฤตมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไหม้อย่าง PM10 PM2.5 และก๊าซโอโซน รวมถึงสารอินทรีย์ระเหยง่ายโดยเฉพาะสารเบนซีนยังคงเป็นสารมลพิษทางอากาศที่เป็นปัญหาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แม้ว่าจะมีการควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ การควบคุมการเผาในที่โล่ง และการควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง
มลพิษทางอากาศมาจากไหน?
การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
แหล่งกำเนิดหลักของมลพิษทางอากาศมาจากภาคพลังงาน โดยเฉพาะการใช้พลังงานเพื่อการขนส่ง เช่น น้ํามันเบนซิน ดีเซล ไบโอดีเซล ก๊าซโซฮอล์และอื่นๆ การใช้พลังงานเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม ชีวมวล เป็นต้น และการอุตสาหกรรม
สารเคมีและอุตสาหกรรม
อาทิ ในพื้นท่ีเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จังหวัดระยอง พบสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากกิจกรรมที่เก่ียวข้องกับสารเคมีและอุตสาหกรรมในพื้นที่ หรือในเขตควบคุมมลพิษหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี พบฝุ่นละอองจากกิจกรรมการผลิตปูนขาวและปูนซีเมนต์
คมนาคม
ในชีวิตประจำวันของเรา รวมถึงการเดินทางไปทำงาน หรือส่งลูกหลานไปโรงเรียน
หมอกควันพิษข้ามพรมแดน
อาทิ หมอกควันพิษในภาคเหนือตอนบนของไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่เกิดจากการเผาในพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเช่น ข้าวโพด ซึ่งผลิตป้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ และหมอกควันพิษจาอินโดนีเซียอันเป็นผลพวงของสองทศวรรษแห่งการทำลายล้างป่าพรุ และระบบนิเวศป่าไม้โดยอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและเยื่อกระดาษที่โยงกับห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์บริโภคและอุปโภคในระดับโลก