มฟล.ร่วมกับ สสส.พัฒนาเครือข่ายเร่งยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
มฟล.ร่วมกับสสส.ร่วมกันพัฒนาแนวทางและกลไกในการขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุเชียงราย ให้มีประสิทธิภาพ และพร้อมเป็นแบบอย่างให้แก่ชุนชนอื่นๆ
นางดารณี อ่อนชมจันทร์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผยว่า จากรายงานของสำนักสถิติแห่งชาติ ระบุว่า จังหวัดเชียงราย มีประชากร ผู้สูงอายุ เกิน 60 ปีขึ้นไป จำนวน 114,696 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 1,263,169 คน และเมื่อตรวจสอบข้อมูลที่ผ่านมา 5 ปีนับตั้งแต่ ปี (2549) เป็นต้นมามีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เป็น 123,088 คน จากประชากร 1,225,713 คน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society)
จากนั้น อัตราเร่งของประชากรผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่งปี พ.ศ. 2554 ในจังหวัดเชียงรายพบว่า มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 155,263 คน จากประชากรทั้งหมด 1,295,073 คน และจากฐานข้อมูลประชากรของจังหวัดเชียงราย ได้คาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี พ.ศ.2563 จังหวัดเชียงรายน่าจะมีประชากรผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 230,000 คน ดังนั้น จึงต้องอาศัยกำลังคนที่ไม่เป็นทางการในการเข้ามาให้การดูแลผู้สูงอายุ อย่างน้อย 18,000 คน และกำลังคนอย่างเป็นทางการ ประมาณ 900 คน ซึ่งกำลังคนไม่ เป็นทางการ นี้หมายถึงกำลังคนประเภทญาติพี่น้อง หรืออาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ส่วนกำลังคน ที่เป็นทางการนั้นก็คือเจ้าหน้าที่พยาบาลเจ้าหน้าที่ สาธารณสุข นักกายภาพบำบัด เป็นต้น
ทั้งนี้ มฟล.ได้เห็นความสำคัญในการเพิ่มจำนวนประชากรผู้สูงอายุ จึงได้เตรียมทำความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารงานส่วนท้องถิ่นหรืองานสาธารณสุข รวมถึงสมาคมผู้สูงอายุ เพื่อร่วมกันพัฒนาแนวทางและกลไกในการขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุเชียงราย ให้มีประสิทธิภาพ และพร้อมเป็นแบบอย่างให้แก่ชุนชนอื่นๆ
นางดารณี กล่าวว่าขณะนี้ผู้สูงอายุ จำนวนไม่น้อยที่ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในพื้นที่จำกัด เนื่องจากสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกบ้าน ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ หลายราย ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ดังนั้น จึงมีความจำเป็น ต้องใช้กำลังคนทั้งแบบที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการในการดูแลผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนสูงขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม โครงการความร่วมมือดังกล่าวนี้ ได้มีการวางแนวทาง การดำเนินงานในลักษณะที่เน้นการพัฒนา เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมทั้งภายใน บ้านและนอกบ้าน ทั้งนี้ เพื่อให้เอื้ออำนวย ต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและเป็นอิสระพ้นจากอุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำที่เหมาะกับผู้สูงอายุหรือความสะดวกในการเดินทาง โดยรูปแบบของกิจกรรมนั้นจะมีหลากหลายเพื่อให้สอดรับกับสภาพปัญหาของผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน อาทิ การอบรมการ เตรียมตัวเพื่อก้าวสู่วัยชรา, การจัดตั้งกองทุนหรือ การจัดการอบรมเตรียมตัวด้านเศรษฐกิจ, การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้พ้นจากความเจ็บปวดจากโรคเรื้อรัง หรือที่เกิดจากสภาพแวดล้อม ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า