มฟล. มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่

เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก : หนังสือ “มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ต้นแบบการเรียนรู้ โดย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง”           


ภาพโดย : ณัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ


           มฟล. มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ thaihealth


"Tobacco burns your lungs หรือ บุหรี่เผาปอด" เป็นประเด็นหลักที่ถูกใช้เป็นสโลแกนรณรงค์ในวันงดสูบบุหรี่โลกที่ผ่านมา ที่ให้หยุด 4 โรคร้ายทำลายปอดจากการเป็นสิงห์อมควัน ทั้งมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง วัณโรค และภูมิแพ้


ย้อนกลับไปในปี 2551 ทั่วโลกต้องเสียบุคลากรไปมากกว่า 5 ล้านคน ด้วยผลกระทบจากการสูบ และคาดว่าในปี 2573 นี้ หากยังไม่มีมาตรการใด ๆ ความสูญเสียจะทวีคูณขึ้นไปถึง 8 ล้านคนต่อปี


การสกัดกั้นหรือลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ถูกใช้ เพราะจากข้อมูลสรุปสถานการณ์เฝ้าระวังเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทย พ.ศ.2559 รายงานการสำรวจระดับประเทศ เรื่อง ผลกระทบจากนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทย กลุ่มวัยรุ่น รอบที่ 5 (พ.ศ.2554) www.ashthailand.or.th พบว่า กลุ่มวัยรุ่นสูบบุหรี่เกือบครึ่งหนึ่งสูบบุหรี่ทุกวันหรือเกือบทุกวัน 3 ใน 4 มีอาการติดบุหรี่ พบนักสูบที่อายุน้อยที่สุดคือ 11 ปีเท่านั้น และอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบหมดมวนครั้งแรกคือ 15.3 ปี


มฟล. มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ thaihealth


“มหาวิทยาลัย” เป็นอีกหนึ่งสถานที่ศูนย์รวมเหล่าวัยรุ่นและเยาวชน ทั้งที่เป็นนักสูบอยู่แล้ว ผู้ที่ไม่สูบ หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นนักสูบหน้าใหม่ โครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่จึงเกิดขึ้นมาเพื่อพัฒนาให้ปลอดบุหรี่ทั้งนักศึกษา บุคลากร ครู คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมทั้งหมด 52 แห่ง ในที่นี้มี 44 แห่ง ที่ได้อบรมเกณฑ์มาตรฐานการดำเนินการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ร่วมโครงการมาตั้งแต่ปี 2551


ในวันนี้ ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงนำแนวทางการขับเคลื่อนโครงการจริงของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มานำเสนอว่ามีกลไกการขับเคลื่อนอย่างไร ภายใต้การดำเนินงานหลักโดยสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์


มฟล. มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ thaihealth


4 พัฒนาเพื่อมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่


1.พัฒนาแกนนำ นักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมรณรงค์และป้องกันเพื่อการไม่สูบบุหรี่ ค้นหาผู้สูบ และทำโครงการเพื่อการไม่สูบบุหรี่


2.พัฒนาพื้นที่ปลอดบุหรี่ สำรวจและกำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่ในมหาวิทยาลัย ประชาสัมพันธ์สื่อ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สติ๊กเกอร์ แผ่นพับ เว็บไซต์ ปลอดบุหรี่ กำหนดสัญลักษณ์ปลอดบุหรี่ 4 ภาษา ในทุกอาคารของมหาวิทยาลัย และตรวจสอบเฝ้าระวังพื้นที่


3.พัฒนาการเรียนการสอน โดยพัฒนาหลักสูตรให้ความรู้เรื่องบุหรี่เป็นวิชาเลือกเสรี วิชาเลือกบุหรี่และสุขภาพ การบำบัดผู้ติดบุหรี่ บูรณาการในรายวิชาปฏิบัติทางการพยาบาลเมื่อเรียนจบรายวิชานักศึกษาทำโครงการณรงค์มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่


4.พัฒนาคลินิกเลิกบุหรี่ มีนักศึกษาพยาบาลฝึกการช่วยให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่ โดยขอเป็นผู้ชักชวนผู้สูบบุหรี่ด้วยวิธีการเสริมสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้ผู้สูบบุหรี่สมัครใจขอรับการบำบัดด้วยตนเอง


นอกจากนี้ยังขยายเครือข่ายไปยังสังคมโดยขับเคลื่อนในโรงเรียนและชุมชนใกล้เคียง


มฟล. มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ thaihealth


นโยบายสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่


1.ห้ามสูบบุหรี่ในทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ทั้งในอาคาร นอกอาคาร และหอพักในมหาวิทยาลัย


2.ห้ามขายบุหรี่และห้ามส่งเสริมการขายในมหาวิทยาลัย


3.ห้ามรับเงินสนับสนุนหรือของรางวัลใด ๆ จากบริษัทบุหรี่ใด ๆ


4.จัดกิจกรรมใด ๆ ในมหาวิทยาลัย เช่น แข่งขันกีฬา บุคคลภายนอกที่เข้ามาจัดงานต้องปฏิบัติตามนโยบายของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงปลอดบุหรี่


5.กำหนดบทลงโทษ ผู้ฝ่าฝืนต้องเสียค่าปรับตามกฎหมาย


6.กำหนดมาตรการรับพนักงานเข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัยจะต้องไม่เป็นผู้สูบบุหรี่


7.สร้างกระแสและความตื่นตัวของพิษภัยบุหรี่ จัดโครงการประกวดสื่อ โปสเตอร์ สติ๊กเกอร์ และแผ่นพับ เพื่อประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง


ซึ่งความยั่งยืนคือการจัดตั้งชมรมเพื่อการควบคุมยาสูบ จัดให้องค์การนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม การพัฒนาสร้างสรรค์สื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับบุหรี่ในเหมาะกับกลุ่ม Gen Z


มฟล. มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ thaihealth


ปัจจัยสู่ความสำเร็จ


-ขับเคลื่อนงานโดยแกนนำนักศึกษา ทำให้การจัดกิจกรรมต่าง ๆ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษาวัยเดียวกัน


-พัฒนาแกนนำนักศึกษาให้สามารถใช้เทคนิคการช่วยเลิกบุหรี่โดยวิธีการเสริมสร้างแรงจูงใจที่ทำให้การช่วยเพื่อนเลิกบุหรี่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ “มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ต้นแบบการเรียนรู้ โดย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง” http://resource.thaihealth.or.th/media/knowledge/17596 หรือขอคำปรึกษาในการเลิกบุหรี่ได้ที่ สายด่วนเลิกบุหรี่ Quit line โทร.1600


————————————————————————————————–


อ่านบทความเกี่ยวกับบุหรี่เพิ่มเติมได้ที่


“4 โรคร้ายทำลายปอด” http://bit.ly/2QAjyuR


“เราสูญเสียไปเท่าไหร่? จากการสูบบุหรี่” http://bit.ly/30TGda5

Shares:
QR Code :
QR Code