มนุษย์ยิ่งมีวิวัฒนาการ ความสุขยิ่งลดลง เพราะ“สุขไม่เป็น”

เรื่องโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content  www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก สุขเป็น: จิตวิทยาชุมชนโดยกลไกลชุมชน

ภาพโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                   …เคยคิด-สังเกต กันบ้างไหม ยิ่งเราโตขึ้น ความสุขของเราดูเหมือนลดลง อีกทั้งความสุขจากที่เคยมีได้ง่าย ๆ ในวัยเด็ก กลับยากขึ้น…

ข้อมูลการสำรวจข้อมูลครั้งใหญ่ถึง 7 ครั้ง เกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิตของคนทั่วโลกจาก 51 ประเทศ จำนวน 1.3 ล้านคน พบว่า ช่วงอายุที่มีความสุขมากที่สุดในชีวิตจะอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย จากนั้นความสุขจะลดระดับลงเรื่อย ๆ ช่วงอายุที่มีความสุขน้อยที่สุด คือ วัยกลาง และกลับไปพีคสุดอีกครั้งในช่วงวัยชรา

                   จึงเป็นเรื่องราวที่ชวนคิด เมื่อ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หยิบยกเรื่องราวใน หนังสือ “เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ” ที่กล่าวถึง มนุษย์ยิ่งมีวิวัฒนาการมากขึ้นเท่าไร ความสุขยิ่งลดน้อยลง ขึ้นมาเป็นข้อสนทนาในมุมน่าสนใจยิ่ง ในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “สุขเป็น : จิตวิทยาเชิงบวกในชุมชนโดยกลไกชุมชน” เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567 ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา

                   ในแง่มุม ยิ่งเมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน สังคมและความสัมพันธ์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะทำให้เรานั้นมีความสุข แต่ยิ่งเราเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ สิ่งที่เข้ามาย่อมเป็นตัวแปรมากมาย ที่ส่งผลให้ล้มเหลวและความสำเร็จในหน้าที่การงาน เงินตรา ชื่อเสียงเกียรติยศและการได้รับความยอมรับ จนทำให้ตัวตนของเราเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ล้วนอาจทำให้เราไม่มีความสุข

                   โดยเฉพาะการเกิดภาวะสิ้นยินดี หรือ Anhedonia อาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า คือ ทุกอย่างเป็นสีเทาไปหมด สิ้นหวังกับชีวิต อารมณ์จมดิ่งจนทำร้ายตัวเองรวมไปถึงไม่มีความสุขในสิ่งเดิม ๆ ที่ชอบ ทำให้ชีวิตต้องจำกัดอยู่เพียงแต่ในกรอบชุดความคิดเล็ก ๆ ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ

                   ซึ่งตรงข้ามกับหากใครจะนึกถึงความสุขวัยเด็ก ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร เพราะมีผลการวิจัยจาก Darya Zabelina และ Michael Robinson บอกว่า ยิ่ง ‘ทำตัวเป็นเป็นเด็ก’ ยิ่งช่วยเพิ่ม ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ได้ เพราะกล้าคิด กล้าแสดง กล้าถาม ได้สาระพัด

                   ดังนั้น ทางออกในการบริหารความสุขในชีวิตให้เป็น นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ บอกว่า การเก็บปัญหาต่าง ๆ ไว้กับตัว นอกจากจะทำให้ไม่มีความสุขแล้ว หากมันสะสมเรื่อย ๆ วันหนึ่งมันอาจทำให้เราเครียด ควรจะระบายความรู้สึกนั้นออกมากับคนที่เรารู้สึกไว้ใจ หรือด้วยวิธีอื่นอย่าการเขียนไดอารี่

                   อีกทั้งยังแนะนำทริคเล็ก ๆ  ที่สามารถกระชับความสัมพันธ์ทางใจ ไม่ว่าวัยไหนก็ “สื่อสารเชิงบวก” ด้วยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการสื่อสารทางลบ เช่น ตำหนิ สั่งสอน ประชดประชัน ส่งเสียงโวยวาย ถามและรับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น รู้จักชม ขอบคุณ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน

                   นอกจากนี้ กระบวนการ”สุขเป็น” เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างอบอุ่น ต้องรู้จักควบคุมจิตใจตัวเอง รู้เท่าทันอารมณ์ เพราะจิตใจเราเปรียบเหมือนม้าพยศ ที่ต้องคอยบังคับ มีอิจฉา เหนื่อย หงุดหงิด แต่ถ้าเราเข้าใจ ควบคุมจิตใจรู้เท่าทันอารณ์ได้ เราก็จะควบคุมอารมณ์ได้ รู้วิธีแบ่งปันความสุขให้คนอื่น

                   นอกจากนี้ พบว่าในวิวัฒนาการของมนุษย์ เรารอดตายเพราะรู้จักการทำอาหาร กินของหวานมันเค็มเป็น ทำให้เรามีความสุขทางกายกับการกินทุกมื้อ

                   แต่ในปัจจุบันเราสามารถเดินไปร้านสะดวกซื้อได้สะดวก กินอาหารรสจัด หวานเกิน เค็มเกิน เมื่อเราบริหารความสุขไม่เป็นจึงเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน

                   ผู้จัดการสสส. ยังให้แง่มุมความเชื่อที่ชวนคิดว่า ตอนที่มนุษย์เกิด มีมนุษย์วานรคนหนึ่งปกป้องคน ๆ หนึ่งจึงทำให้มนุษย์อยู่รอด แต่ลิงต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะปกป้องเฉพาะพวกที่เป็นญาติ ไม่ปกป้องพวกที่เป็นสปีชีร์เดียวกัน ผิดกับมนุษย์พร้อมเรียนรู้ที่จะทำเพื่อคนอื่น เพราะฉะนั้นเมื่อเราทำสิ่งดีงาม มนุษย์จะรู้สึกอิ่มมีความสุข สิ่งนี้ที่เรียกว่า “สุขเป็น” ความสุขจาก “การให้” “แบ่งปัน”เป็นความสุขที่ยั่งยืนแต่ น่าแปลกใจว่า มนุษย์หลายคนคงยังไม่รู้ว่า เราสามารถส่งผ่านความรู้สึกไปกับการสื่อสารได้เสมอ

                   ดังนั้น “สุขเป็น” ยังเป็นเรื่องของความรู้สึกที่มาจากความคิดหรือคำพูด ซึ่งคนรอบข้างสามารถสื่อสารรับรู้กันได้ ไม่ว่าในที่ทำงาน ในบ้าน การสื่อสารจะส่งผ่านความทุกข์หรือความสุขไปเรื่อย ๆ หากเรารู้จักใช้รู้วิธีสื่อสารเชิงบวก รู้วิธีควบคุมใจ จะไม่สร้างบาดแผลทางใจให้อีกคน และไม่ส่งต่อพลังลบให้คนรอบข้าง

                   เรื่องราวทั้งหมดที่ ผู้จัดการสสส. กล่าวถึง อาจสรุปได้ว่า  ความสุขทางกายใจ  จิต ปัญญา ที่ส่งให้เรามีความสุขที่สามารถจะเกิดได้จากตัวเราในทุกขณะ อีกทั้งปัญหาที่อยู่ตรงหน้า หรือสถานการณ์ที่แย่ก็จะดูเล็กลง ไม่สร้างบาดแผลในใจใคร โดยเราแบ่งปันความสุขของเราด้วยวิธีการสื่อสารดังกล่าว

                   ขณะเดียวกัน อีกมุมของ น.ส.ภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า เราทุกคนเคยท้อแท้สิ้นหวัง เมื่อเจอปัญหา บางคนอาจยอมแพ้ ไร้สุข จึงเกิดวิธีคิดในเชิงบวก มูลนิธิอยากนำแนวคิดนี้มาใส่ในชุมชน

                   จากการลงสำรวจพื้นที่ พบว่า ส่วนใหญ่จะเกิดปัญหามากมาย เราต้องเข้าไปช่วยเหลือตลอด แต่หากพัฒนาที่ปักเจคบุคคลได้ ทุกคนเรียนรู้ที่จะ “สุขเป็น” รู้วิธีขจัดความเครียด รู้วิธีการสื่อสาร พัฒนาร่วมกัน จะเป็นความสุขที่ยั่งยืน

                   ดังนั้น โมเดล “สุขเป็น” จึงมุ่งเน้นพัฒนาต้นทุนมนุษย์ สร้างสิ่งแวดล้อมเชิงบวก เพิ่มโอกาสการรับฟัง เพื่อลดความเครียด ภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างสุขอย่างง่าย ต่อตัวเองและสังคม สร้างชุมชนมีความเอื้อ ครอบครัวมีสุขภาพจิตสมบูรณ์พลังบวกมากขึ้น

                   สสส. พยายามผลักดัน สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ทำงานบนพื้นฐานของจิตวิทยาเชิงสร้างเสริมให้ใช้ชีวิตที่มีความสุขโดยไม่ทำร้ายคนอื่น แสดงออกอย่างเป็นมิตร เห็นอกเห็นใจกัน เป็นส่วนนึงของการสร้างชุมชนพลังบวก

Shares:
QR Code :
QR Code