“มดง่ามกับจักจั่น” นิทานเด็กชาวเขา
ด้วยข้อจำกัดทางภาษาของชาวเขาในพื้นที่ห่างไกล ที่พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ อ่านไทยไม่ออกเขียนไทยไม่ได้ อาจเป็นอุปสรรคทางภาษา
แต่…มีพ่อแม่ชาวเขาส่วนหนึ่งมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียนรู้เพื่อหวังสร้างอนาคตที่ดีให้กับลูกด้วยการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน โดยเข้าร่วมโครงการของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนึ่งในนั้นคือครอบครัวของ ยามี พานทอง ชาวเขาเผ่ามูเซอจากจังหวัดลำปาง ที่พาลูกๆ แวะเวียนมาพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์ที่กอง บ.ก.ข่าวสด เมื่อไม่นานนี้
ครอบครัว “พานทอง”
สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่าที่ผ่านมาแผนงานฯ และภาคีเครือข่ายโดยศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จ.ลำปาง สามารถทำให้คนในพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงให้กับครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น เช่น ครอบครัวยามีชาวมูเซอเชื้อสายไทย ในอดีตไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ แต่ฝึกฝนเพื่อต้อง การอ่านนิทานให้ลูกฟังจนปัจจุบันลูกสามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้
“ความน่าสนใจอยู่ที่ผู้เป็นแม่ ถึงแม้จะอ่านหนังสือไม่ออกแต่กระตือรือร้นต้องการใฝ่หาความก้าวหน้าให้กับตัวเองและลูกๆ เพราะจะต้องรู้ภาษาไทยเพื่อต้องการให้ชีวิตมีความสุข จึงขวนขวายและผลักดันตัวเองมาเข้าร่วมโครงการ จนประสบความสำเร็จ อยากให้ทุกคนเพียงใส่ใจเรียนรู้จากการหยิบยื่นโอกาสให้กับตนเอง ด้วยการหัดเขียน ฝึกอ่าน และส่งต่อสู่ลูกน้อยจนเกิดเป็นพฤติกรรมรักการอ่านได้เป็นผลสำเร็จ จะทำให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น”
สุดใจกล่าวต่อว่า อยากให้ทุกครอบครัวตระหนักรู้ถึงคุณค่าการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะการอ่านหนังสือให้กับลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์สามารถทำได้ตั้งแต่วัย 4-6 เดือน เพื่อกระตุ้นพัฒนาการต่อเนื่องจนถึง 6 ปี การกระตุ้นการอ่านในเด็กเริ่มได้ด้วยการอ่านหนังสือภาพ หนังสือนิทาน ให้เด็กฟังและดูภาพตามไปด้วยโดยใช้เวลาเพียงวันละ 10-15 นาที เลือกหนังสือที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับอายุของเด็กจะช่วยลดปัญหาเด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออก อ่านไม่เข้าใจและเขียนไม่ได้ เพราะช่วงอายุดังกล่าวเป็นช่วงที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สมองของเด็กวัยนี้จะมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดกว่าร้อยละ 80 และยังนำไปสู่การเติบใหญ่อย่างมีคุณภาพ
นิทาน มดง่ามกับจักจั่น
ยามี พานทอง อายุ 32 ปี ชาวเขาเผ่ามูเซอ บ้านฮ่องลี่ ต.แจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เล่าว่าเมื่อทราบว่ามีโครงการจึงตัดสินใจเข้าร่วมทันที ทั้งๆ ที่ขณะนั้นชาวบ้านบางคนเห็นว่าเป็นชาวเขาและบอกว่าไม่รู้จะรู้หนังสือไปทำไม แต่ตัวเองอยากให้ลูกมีความรู้ได้ทำกิจกรรมกับคนอื่นๆ ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ
“ฉันเป็นชาวเขา ไม่ได้เรียนหนังสือทำให้เป็นคนไม่รู้หนังสือ แต่ก็ทำทุกอย่าง ต้องการให้ลูกได้เรียนและรู้หนังสือให้ได้โดยเฉพาะภาษาไทย เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งแรกกับโครงการรักการอ่านรู้สึกชอบมาก ทำให้รู้ว่าการอ่านหนังสือสำคัญอย่างไร หลังจากนั้นได้รับหนังสือนิทานแจกและได้ทำหนังสือนิทานทำมือกับลูก ตั้งใจว่าจะต้องหัดอ่านหนังสือให้ได้เพื่อจะได้อ่านหนังสือให้ลูกๆ ฟัง” ยามีบอกเล่าด้วยภาษาไทยคล่องแคล่ว
ก่อนเล่าต่อว่า ครั้งแรกรู้สึกตื่นเต้นที่ต้องออกไปอ่านหนังสือให้ลูกฟังจากหนังสือนิทานทำมือที่หัดทำครั้งแรกกับลูก เป็นหนังสือนิทานเล่มแรกในชีวิต ทั้งที่อ่านหนังสือไม่ออกแต่ก็อาศัยเล่าตามภาพ ทุกวันนี้ถ้าได้หนังสือมาจะให้ลูกชายคนโตอ่านให้ฟัง 1 รอบ แล้วจะจำไปอ่านต่อให้ลูกสาวคนเล็กทั้งสองคนฟัง
“ดีใจที่ขณะนี้เขียนอักษร ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูกได้แล้ว กำลังหัดผสมสระ ตั้งใจว่าจะต้องอ่านและเขียนหนังสือให้ได้เพราะการอ่านมีประโยชน์ทำให้เรารู้เท่าทันคนอื่น และที่ดีใจที่สุดคือสามารถเขียนชื่อ-นามสกุลได้และอ่านหนังสือตามภาพได้แล้ว”
ด้าน ด.ช.สิรภพ พานทอง หรือ น้องกอล์ฟ อายุ 13 ปี ลูกชายของยามี ปัจจุบันเรียนอยู่ที่โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เล่าว่าแรงบันดาลใจที่พาแม่เข้าร่วมโครงการนี้เพราะอยากได้จักรยานและอยากได้ของเล่นเอามาให้น้องๆ ตอนนั้นมีโครงการประกวดหนังสือนิทานทำมือ ซึ่งมีกฎกติกาว่าหนังสือนิทานทำมือจะต้องทำร่วมกับผู้ปกครอง ผมจึงต้องให้แม่มาช่วยทำหนังสือนิทานทำมือด้วย เป็นหนังสือนิทานเรื่อง “มดง่ามกับจักจั่น” สุดท้ายผมได้รางวัลเป็นจักรยาน ดีใจมากที่ได้รางวัล
“ถึงแม้แม่ของผมจะไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ ผมก็ช่วยสอนแม่มาเรื่อยๆ จนตอนนี้แม่ผมอ่านออกเขียนได้แล้ว ต่อไปผมจะสอนภาษาไทยให้น้องๆ อ่านออกและเขียนได้ต่อไป ทุกวันนี้ ผม แม่ และน้องๆ จะรวมตัวกันอ่านหนังสือและผลัดกันเล่านิทานให้กันฟัง ในอนาคตผมอยากเรียนภาษาอังกฤษให้เก่งๆ เพราะประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนครับ”
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยศิวพร อ่องศรี