มช.ยกระดับบริการแพทย์
ที่มา : ข่าวสด (https://bit.ly/2JLFhjx)
แฟ้มภาพ
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีเปิดตัวโครงการ "การพัฒนาพื้นที่สุขภาพดิจิตอลภาคเหนือเพื่อการขับเคลื่อนสู่เชียงใหม่เมืองสุขภาพ" ภายใต้แนวคิด Make Healthcare Driven by Innovation
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) เป็นประธานเปิดงาน เพื่อผลักดันให้จ.เชียงใหม่ เป็นเมืองสุขภาพที่มีบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ครบครัน ส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการและแก้ปัญหาด้านสุขภาพของคนในจังหวัดผ่านเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศโดยผู้ประกอบการและสตาร์ตอัพของภาคเหนือที่มีศักยภาพ
ในงานดังกล่าวยังจัดกิจกรรมบรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ The Future of Healthcare is Digital โดยเชิญ ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ ผู้สร้างชื่อให้กับโรงพยาบาลปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ด้วยการเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานระดับสูงในการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับบริการดูแลผู้ป่วย เทียบชั้นกลุ่มโรงพยาบาลชั้นนำของโลก
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า อุทยานดำเนินงานเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้และงานวิจัยที่สำคัญ ผ่านกลไกผลักดันนำงานวิจัยจากรั้วมหาวิทยาลัยไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ เชื่อมโยงภาคมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน โดยได้รับการสนับสนุนความร่วมมือจากคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยซึ่งเกี่ยวข้องทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีผลงานวิจัยที่มีศักยภาพและเป็นประโยชน์สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อคนเชียงใหม่และในพื้นที่ภาคเหนือ
นอกจากนี้อุทยานยังมีพันธกิจการบ่มเพาะผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันได้ในระดับเทศและสากล โดยวาง เป้าหมายการทำโครงการ เพื่อกระตุ้นและผลักดันการสร้างสตาร์ตอัพทางด้านการแพทย์ ตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งพัฒนามาจากงานวิจัยในมหาวิทยาลัย ผ่านการพัฒนาต่อยอดร่วมกับเทคโนโลยีด้านดิจิตอล เกิดเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงการให้บริการและการใช้งาน โดยคำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลักเพื่อช่วยแก้ปัญหาทางด้านการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง โดยส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าเชิงเศรษฐกิจในพื้นที่และในระดับประเทศ ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ตลอดจนพัฒนาให้เมืองเชียงใหม่มีความพร้อมในการเป็นเมืองสุขภาพครบวงจรและศูนย์กลางทางการแพทย์"