มช.ดันวัสดุค้ำจมูก ลดผ่าตัดซ้ำผู้ป่วยปากแหว่งฯ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
ม.เชียงใหม่พัฒนาอุปกรณ์ควบคุมทรงจมูกหลังการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ ลดโอกาสผ่าตัดแก้ไขซ้ำ เปรียบเทียบอุปกรณ์นำเข้ามีราคาถูกกว่า ประสิทธิภาพเหนือกว่า เตรียมจับมือผู้ประกอบการสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อสังคม หวังเป็นนวัตกรรมส่งต่อผู้ด้อยโอกาส
ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นความพิการแต่กำเนิด และนำไปสู่ ความผิดปกติในหลายส่วน อาทิ ระบบการหายใจ การพูดที่ผิดปกติ รูปทรงกรามบน และจมูกผิดรูป เป็นต้น ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซึ่งก็พบปัญหาหลังการผ่าตัดคือ จมูกล้ม ไม่เป็นทรง เนื่องจากแผลเป็นดึงรั้ง จึงเป็นที่มาของการพัฒนา "อุปกรณ์ควบคุมจมูก" ในชื่อนาโซฟอร์ม โดย ผศ.ทพญ.พนารัตน์ ขอดแก้ว ร่วมกับ นพ.กฤษณ์ ขวัญเงิน และทีมวิจัยจากศูนย์สร้างอุปกรณ์ควบคุมทรงจมูก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)
ผศ.ทพญ.พนารัตน์ กล่าวว่า อุปกรณ์นี้ทำหน้าที่ช่วยปรับและควบคุมรูปร่างจมูกหลังผ่าตัด โดยการพยุงโครงสร้างของจมูกจนสามารถอยู่ตัวได้เอง หรือเปรียบได้กับไม้ค้ำยันไม่ให้ล้ม จมูกล้ม จมูกเบี้ยว เป็นผลข้างเคียงที่เกิดหลังการผ่าตัด 100% ทำให้ผ่าตัดซ้ำๆ และมีผลต่อรูปทรงใบหน้า
นาโซฟอร์มทำจากวัสดุทางทันตกรรม เป็นลวดแบบเดียวกับลวดจัดฟันและเรซินอะคริลิก มีปลอกยางที่ใช้ในงานทันตกรรมจัดฟัน ลดการสัมผัสระหว่างลวดกับผิวหนังโดยออกแบบและทดสอบมากกว่า 100 เคสใน จ.เชียงใหม่ ทั้งกลุ่มที่ผ่าตัดครั้งแรกและกลุ่มที่ต้องผ่าตัดซ้ำ พบว่า ผลการใช้งานเป็นไปในเชิงบวก ไม่มีปัญหาจมูกล้มจมูกเบี้ยวเกิดขึ้น รูปทรงใบหน้าดีขึ้น ลดโอกาสที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขซ้ำ ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ
สิ่งประดิษฐ์นี้คาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเด็กที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ โดยหากมีการใช้งานประมาณ 200 ครั้ง จะช่วยลดต้นทุนการผ่าตัดซ้ำเพื่อแก้ไขรูปทรงของจมูกได้สูงถึง 600 ครั้ง หรือ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 19.2 ล้านบาท ปัจจุบันได้ขยายการใช้งานไปในหลายจังหวัด รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย อีกทั้งเตรียมต่อยอดเชิงพาณิชย์ในลักษณะของธุรกิจเพื่อสังคมอีกด้วย
นายสรรพวรรธ วิทยาศัย ผู้จัดการหน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและ ถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า ราคาขายของนาโซฟอร์ม คาดว่าจะอยู่ราว 2 พันบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับภาคเอกชนที่เข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อตั้งเป็นสตาร์ทอัพเชิงธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่สร้างรายได้เลี้ยงตนเอง และนำกำไรส่วนหนึ่งส่งต่อช่วยผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษา
"อุปกรณ์แบบนี้ยังไม่มีในโลก ปัจจุบันมีซิลิโคนที่ช่วยคงรูปจมูกหลังผ่าตัด ซึ่งเป็นของนำเข้าราคากว่า 6 พันบาทต่อชิ้น แต่รอยแผลเป็นก็ยังคงดึงรั้งจนจมูกล้มอยู่ดี ในขณะที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ที่มี ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ในไทยปีละ 1-1.5 พันคน และ 2-3 หมื่นคนทั่วโลก ทำให้มีโอกาสที่จะขยายสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์" การต่อยอดนวัตกรรมสู่ธุรกิจเพื่อสังคม โดยการสนับสนุนของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ทำให้นาโซฟอร์มอยู่ระหว่างการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์เพื่อขยายสู่ตลาดโลกต่อไป
ขณะที่ประเทศไทยเป็นการทำงานในระบบ "วัน-สต๊อป เน็ตเวิร์ค" ให้กับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งเริ่มใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน และขอบชายแดนไทยเมียนมา จ.ตาก ก่อนที่จะเปิดอบรมกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ต่อยอด การรักษาในหลายจังหวัดต่อไป