มข.ร่วม ม.ภาคอีสานตอนบน ‘ออกแบบกิจกรรมสร้างองค์กรสุขภาวะ’

ที่มา : เว็บไซต์มหาวิทยาลัยขอนแก่น


ภาพประกอบจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยขอนแก่น


มข.ร่วม ม.ภาคอีสานตอนบน 'ออกแบบกิจกรรมสร้างองค์กรสุขภาวะ' thaihealth


มข. ร่วม ม.เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ออกแบบกิจกรรมสร้างองค์กรสุขภาวะ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 เวลา 8.00 น.มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยนครพนม ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการองค์ความรู้สู่ความสุขในการทำงาน (R2H) เพื่อออกแบบกิจกรรมสร้างองค์กรสุขภาวะมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รศ.ดร.ดุษฎี อายุวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตรและสังคมศาสตร์ หัวหน้าโครงการ “การพัฒนากระบวนการและรูปแบบการสร้างสุขระดับองค์กร สู่องค์กรสุขภาวะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เป็นผู้แถลง ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ผศ.ลิขิต อมาตยคง รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมคณาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ร่วมงานกว่า 100 คน ณ โรงแรมราชาวดี รีสอร์ทแอนด์ โฮเทล จังหวัดขอนแก่น


สืบเนื่องจากการแถลงผลความผูกพันต่อองค์กรและความสุขของคนมหาวิทยาลัยขอนแก่นในระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 พบว่า ภาพรวมบุคลากรมีความมุ่งมั่นในการทำงานในระดับสูง ร้อยละ 79.21 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีความอยากอยู่กับองค์กรในระดับต่ำ ร้อยละ 72.77 และเสนอแนวทางการพัฒนาความผูกพันต่อองค์กรมี 3 ประเด็น จากการวิเคราะห์ข้อคำถามปลายเปิด ได้แก่ ผู้นำ พบว่าควรมีความเอาใจใส่ ให้ความเป็นธรรมกับบุคลากรมากขึ้น เพื่อนร่วมงาน พบว่า ควรมีการเปิดรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีกิจกรรมเชื่อความสัมพันธ์กับคนในและนอกหน่วยงาน และผลตอบแทนสวัสดิการคำชมเชย พบว่า ควรเพิ่มระบบสวัสดิการของบุคลากร และส่งเสริมโครงการพัฒนาบุคลากร ประเด็นที่สอง ความสุขคนทำงาน มข. ทั้ง 8 มิติ พบว่าภาพรวมของมหาวิทยาลัยมีความสุขในด้านสังคมสูง ร้อยละ 84.28 เป็นที่น่าสังเกตว่า ด้านร่างกาย ความรู้ และความผ่อนคลาย อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำในทุกหน่วยงานขององค์กร ร้อยละ 71.84 70.72 และ 68.79 ตามลำดับ สำหรับแนวทางการสร้างความสุขจากการวิเคราะห์คำถามปลายเปิดพบว่า ควรมีผู้นำที่ดี ความมั่นคงในการทำงาน สวัสดิการและผลตอบแทน รวมทั้งกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายจึงได้เกิดการดำเนินกิจกรรมระยะที่ 2 ภายใต้กิจกรรม  “การออกแบบกิจกรรมสร้างองค์กรสุขภาวะ” เป็นการสืบเนื่องจากกิจกรรมระยะที่ 1 ของโครงการฯ


มข.ร่วม ม.ภาคอีสานตอนบน 'ออกแบบกิจกรรมสร้างองค์กรสุขภาวะ' thaihealth


ผศ.ลิขิต อมาตยคง รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีบุคลากร 9,000 คน คณาอาจารย์ 2,000 คน รวมกว่า 11,000 คน การสร้างความสุขแก่คนทำงานจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ การออกแบบกิจกรรมสร้างองค์กรสุขภาวะถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันให้มีความสอดคล้องกับบุคลากรและโครงสร้างการบริหารงานของคณะหน่วยงาน นำไปสู่กลยุทธ์และแนวทางในการปรับปรุงนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานบริบทองค์กรของมหาวิทยาลัย และพัฒนาไปสู่องค์กรที่มีวัฒนธรรมแห่งการสร้างความสุขของบุคลากรในอนาคตได้อย่างยั่งยืนตามเสาหลักที่ 1 Green Smart Campus องค์กรที่มีการบริหารจัดการบุคลากรอย่างชาญฉลาด โดยสร้างความสุขแก่คนทำงาน นำไปสู่ความสำเร็จ


“ถ้าคนทำงานมีความสุของค์กรก็มีความสุขและผลผลิตจากการทำงานย่อมมีคุณภาพและได้มาตรฐานดังแนวคิด smart life to smart people”


รศ.ดร.ดุษฎี อายุวัฒน์ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวว่า โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะของคนในองค์กรและพัฒนากระบวนการและรูปแบบการสร้างสุขระดับย่อย 8 ประการภายใต้บริบทที่หลากหลายของมหาวิทยาลัยฯ กิจกรรมดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 โดยกิจกรรมที่ 1 คือกิจกรรมรู้จักความสุขคน มข. ผ่านการประชุมระดมสมองและกิจกรรมการสำรวจภาวะความสุขในกลุ่มคณะวิชาต่างๆ รวมทั้งวิทยาเขตและศูนย์สถาบันสำนักส่งผลให้ทราบข้อมูลที่ดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างสุขขององค์กรและพัฒนารูปแบบอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมในวันนี้เป็นกิจกรรมระยะที่ 2 คือการออกแบบกิจกรรมสร้างสุของค์กรสุขภาวะเป็นการบริการจัดการองค์ความรู้สู่ความสุขในการทำงาน (R2R) เพื่อให้คณะทำงานขับเคลื่อนองค์กรสู่องค์กรสุขภาวะทั้งระดับคณะหน่วยงาน ภายใต้โครงการพัฒนากระบวนการและรูปแบบการสร้างสุขระดับองค์กรสู่องค์กรสุขภาวะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย และวิทยากรสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


กิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วยการเขียนแผนปฏิบัติการสร้างสุข (Happiness Action Plan) โดยแบ่งกลุ่ม 6 คนเขียนแผนการเพิ่มค่าความสุขในแต่ละมิติทั้ง 8 ด้าน และกล่าวถึงตัวชี้วัดความสำเร็จของกิจกรรม เพื่อขับเคลื่อนโครงการไปสู่ความสำเร็จจนเกิดเป็นองค์กรสุขภาวะ บรรยากาศเต็มไปด้วยความร่วมมือและความสุขของบุคลากรผู้ร่วมงาน

Shares:
QR Code :
QR Code