ภูเก็ตพัฒนาอาสาสมัคร รณรงค์ลดละเลิกแอลกอฮอล์

 

ภูเก็ตพัฒนาอาสาสมัครเยาวชนในการรณรงค์ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
   
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ห้องจามจุรี โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครเยาวชน ในการรณรงค์ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งทางสถาบันประชาคมภูเก็จ จัดขึ้น เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งมีสิ่งยั่วยุค่อนข้างมาก จึงจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเยาวชน เพื่อจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขต่างๆ รวมถึงการใช้วันสำคัญทางศาสนาในการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมสร้างกุศล ด้วยการลด ละเลิก อบายมุขต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวมีความสุข โดยมีนายสุพจน์ สงวนกิตติพันธุ์ ประธานสถาบันประชาคมภูเก็จ คณะทำงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ เข้าร่วม เจริญ รุ่งเรืองต่อไป
 
ภูเก็ตพัฒนาอาสาสมัครเยาวชนในการรณรงค์ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
 
นายสุพจน์ สงวนกิตติพันธุ์ ประธานสถาบันประชาคมภูเก็ต กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถาบันประชาคมภูเก็ต เครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดภูเก็ต และเครือข่ายทั่วประเทศได้จัดทำ โครงการรณรงค์หยุดเหล้าเข้าษา (พรรษา) พาลูก พาหลานไปวัด เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ เพราะอันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ
 
ทั่วโลกต่างประจักษ์แล้วก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในด้านปัญหาด้านสุขภาพ พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดโรคต่างๆ รวมแล้วมากกว่า 60 โรค จนองค์กรอนามัยโลก (world health organization : who) ประมาณการว่าผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์แล้วกว่า 76.3 ล้านคนทั่วโลก
 
ทั้งนี้ ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์เสียชีวิต 1.8 ล้านคนต่อปี หรือราวชั่วโมงละกว่า 2,100 คน ในจำนวนนี้ยังไม่ได้นับรวมตัวเลขผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ ในด้านความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อันเนื่องมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังส่งผลให้เกิดปัญหาและผลกระทบทางด้านสังคมตามมาอีกจำนวนมาก ทั้งปัญหาอุบัติเหตุจราจร (เมาแล้วขับ) ปัญหาการทะเลาะวิวาทและการทำร้ายร่างกายผู้อื่น ปัญหาการฆ่าตัวตาย ปัญหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดจากการขาดสติของแรงงานในการใช้เครื่องจักรกล เป็นต้น ซึ่งมูลค่าความสูญเสียในกลุ่มนี้มีไม่ต่ำกว่าพันล้านบาทต่อปีเช่นกัน
 
ในขณะที่สถิติการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย ถูกจัดลำดับว่ามีผู้บริโภคสุรามากเป็นอันดับ 5 ของโลก และมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็ก เยาวชนและสตรี ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเป็นนักดื่มหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่มีอายุ 15-19 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 50%
 
 
 
 
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ
Shares:
QR Code :
QR Code