ภูมิปัญญาท้องถิ่น งอกงามใน รพ.สต.

มูลนิธิสุขภาพไทย หนุนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพมีส่วนช่วยสนับสนุนระบบสุขภาพในชุมชน เริ่มตั้งแต่การสนับสนุนกลุ่มชาวบ้านใช้ภูมิปัญญาในการดูแลตนเอง และหมอพื้นบ้านที่มีอยู่ในชุมชนให้กลับมามีบทบาทในการดูแลสุขภาพให้กับชาวบ้านทั่วไป

ภูมิปัญญาท้องถิ่น งอกงามใน รพ.สต.สถานีอนามัย ในอดีตได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ด้วยเป้าหมายให้เป็นหน่วยที่ “ดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ” หรือ primary care ซึ่งมีความหมายตามชื่อใหม่ คือส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น แต่พบว่ารพ.สต.จำนวนมากยังรับบทบาท “รักษาพยาบาลเบื้องต้น” หรือมุ่งเน้นทำหน้าที่ “คัดกรองผู้ป่วย” หรือ “บริการตรวจผู้ป่วยนอกสถานที่”

ในความเป็นจริงก็มีความสำคัญไม่น้อย แต่หลักการสำคัญของการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ (primary care) ต้องการมุ่งทำงานโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (community – based) การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (holistic care)และควรเป็นการดูแลสุขภาพให้คนในชุมชนอย่างต่อเนื่องและผสมผสาน (integrated and continuity of care) แนวทางดังกล่าวจึงเป็นรากฐานที่สำคัญของการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ

ภูมิปัญญาท้องถิ่น งอกงามใน รพ.สต.ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพมีส่วนช่วยสนับสนุนระบบสุขภาพในชุมชน ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิได้อย่างเป็นรูปธรรม เริ่มตั้งแต่การสนับสนุนกลุ่มชาวบ้านใช้ภูมิปัญญาในการดูแลตนเอง มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ตรวจสอบ เผยแพร่ และการสนับสนุนหมอพื้นบ้านที่มีอยู่ในชุมชนให้กลับมามีบทบาทในการดูแลสุขภาพให้กับชาวบ้านทั่วไป

ซึ่งหมอพื้นบ้านจำนวนหนึ่งได้รับการยอมรับให้มาปฏิบัติหน้าที่ที่ รพ.สต. หรือในบางกรณีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่งต่อผู้ป่วยไปถึงบ้านหมอพื้นบ้านด้วย กระบวนการดูแลสุขภาพ และองค์ความรู้ที่ได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น มีความสอดคล้องกับหลักการสำคัญของระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ คือ มีชุมชนเป็นฐาน ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม และมีความสามารถดูแลได้อย่างต่อเนื่องและใช้การผสมผสานความรู้ต่างๆ

เป็นที่น่ายินดีว่า ปัจจุบันมี รพ.สต.หลายแห่ง ที่ทาง “แผนงานสร้างเสิมระบบสุขภาพชุมชน ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ” มูลนิธิสุขภาพไทย ได้ดำเนินการด้วยภายใต้แนวทางระบบสุขภาพปฐมภูมิ ได้แก่ รพ.สต. แม่สุก จ.พะเยา, รพ.สต.ไหล่หิน  รพ.สต.จอมปิง และ รพ.สต.นาแส่ง จ.ลำปาง ,รพ.สต.สำโรงโคกเพชร จ.สุรินทร์ ,รพ.สต.โรงช้าง จ.เชียงราย ,รพสต.จอมศรี จ.อุดรธานี ,รพ.สต.สี่ร้อย จ.อ่างทอง

ในโอกาสต่อไปจะได้นำเสนอเรื่องราวของชุมชนเดินหน้า ผ่านการดำเนินงานของแผนงานสร้างเสริมระบบสุขภาพชุมชน ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นสุขภาพ ซึ่งเป็นการเดินไปข้างหน้าด้วยองค์ประกอบที่เกื้อกูลกันอย่างสำคัญอันได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหมอพื้นบ้าน เพื่อการพึ่งตนเองด้านสุขภาพของชุมชน

ที่มา: มูลนิธิสุขภาพไทย

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ