ภูมิปัญญางอกงาม บนฐานทรัพยากรอันอุดม พบผู้คนหัวใจงามที่ “บางคนที”

 

ภูมิปัญญางอกงาม บนฐานทรัพยากรอันอุดม พบผู้คนหัวใจงามที่ “บางคนที”

 

“…ไม่ลืม น้ำใจไมตรี สาวงามบ้านบางคนที เอื้ออารี เรียกร้องให้ดื่มน้ำตาล พร้อมกับยิ้มหวานของนวลละออง ก่อนลาจากสาวแม่กลอง เราร่วมปิดทองงานวัดบ้านแหลม…”

หากใครได้มาเยือนชุมชนที่เต็มไปด้วยลำคลองลัดเลาะผ่านสวนมะพร้าวร่มครึ้มของอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม บรรยากาศของที่นี่ อาจทำให้ “มนต์รักแม่กลอง” เพลงเปี่ยมมนต์ขลังของ ศรคีรี ศรีประจวบ ดังขึ้นในความทรงจำของใครหลายคน แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่าสี่ทศวรรษนับจากวันที่ศรคีรีได้ทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงอมตะ แต่บางคนทีในวันนี้ ยังคงบรรยากาศเดิมไว้ได้ ด้วยการผสานสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่อย่างสมดุล

สิ่งที่เรารับรู้ในปัจจุบันคือ สมุทรสงคราม – โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อัมพวา” ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ และนำความเปลี่ยนแปลงมากมายมาสู่พื้นที่โดยรอบ สิ่งที่เกิดขึ้นกับอัมพวา จึงมีส่วนทำให้ทิศทางการพัฒนาของบางคนที ได้รับการทบทวน

เรณู เล็กนิมิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที ซึ่งในวันนี้ดูแลพื้นที่ตำบลบางคนที 8 หมู่และตำบลยายแพง 5 หมู่ ตอบคำถาม เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ของ อบต.บางคนทีว่า

“…ถ้าถามถึงสถานที่ท่องเที่ยว ขอเรียนว่าเรามีน้อย แต่เรามีเสน่ห์ที่ใครมาแล้วมีความสุข พวกเราทุกคนในพื้นที่อยากให้ใครที่มาที่นี่แล้วกลับไปมีความสุข เราจะคิดกันว่า จะทำให้คนที่มาที่นี่มีความสุขได้อย่างไร อาทิเช่น ถ้าเราทำน้ำพริกปลาทูเราก็ต้องทำให้เต็มที่ทำให้ดี ทำให้เขามีความสุขที่ได้ทาน แต่เรื่องหลักที่เราพยายามทำคือเรื่องของการอนุรักษ์คูคลอง เพื่อไปสู่การท่องเที่ยวทางน้ำ ซึ่งอนาคตอยากจะผลักดันเรื่องนี้ให้ได้ ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชน ดังนั้น อันดับแรกเลยคือต้องปูพื้นฐานเรื่องทำคูคลองให้สะอาดก่อน ทางเราได้คุยกับสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนว่า ต่อไปเขาอาจจะมาช่วยในด้านวิชาการ ส่วนของเราก็จะเป็นด้านปฏิบัติการ เช่น เราอาจจะอยากให้มีตลาดนัดสักเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อชวนคนมาเที่ยวจะทำอย่างไร หรือมีการสอนพายเรือ ให้คนที่มาเที่ยวได้พายเรือเที่ยวไปตามลำคลองเพื่อดูวิถีชุมชน อยากให้มาดูวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านจริงๆ เพราะอย่างตลาดน้ำดำเนินสะดวกที่เราเห็นมาตั้งแต่เล็กจนโต ก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไร พื้นที่เราน่าอยู่กว่าอีก น้ำสะอาด คูคลองเราก็มี ต่อไปก็น่าจะรองรับได้ทุกระบบ…” นายก อบต. กล่าว

คำกล่าวของ นายกฯ อบต.บางคนที พิสูจน์ได้จากการดำเนินโครงการที่ชื่อ “ลงแขกลงคลอง” อย่างต่อเนื่อง และได้ผลที่น่าชื่นชม

“ลงแขกลงคลอง” เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในพื้นที่ โดยเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันทำความสะอาดลำคลอง ทั้งเก็บขยะ เก็บเศษไม้ที่อยู่ในลำคลอง ตัดต้นไม้ที่ล้มขวาง ทำให้ลำคลองสะอาด น้ำไหลผ่านสะดวก ซึ่งชาวบ้านมักจะร่วมกันทำในโอกาสสำคัญ เช่น วันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ แต่เมื่อ อบต.ได้เข้ามาช่วยจัดการ การลงแขกลงคลองจึงกลายเป็นโครงการที่ดำเนินการอย่างจริงจังเดือนละหนึ่งครั้ง ไล่ไปตามหมู่ต่างๆ ตามลำคลองสายหลักในพื้นที่ และมีชาวบ้านมาช่วยกันครั้งละหลายสิบคน

“…เมื่อก่อนเราลงแขกลงคลองกันตอนวันสำคัญๆ บางทีวันเกิดตัวเอง ก็ชวนเพื่อนฝูงมาช่วยกันทำ คือทำความสะอาดคลองมันก็ยากนะ อย่างต้นมะพร้าวล้ม เราก็ต้องช่วยกันตัดช่วยกันยกออก ทำแต่ละครั้งก็ได้ระยะทางไม่มาก ต้องค่อยๆ ทำไปทีละหมู่ ทีนี้พอเรามาช่วยกันทำเดือนละครั้งมันก็เห็นผลนะ คือคลองมันจะสะอาดขึ้นมาก น้ำในคลองก็ไหลสะดวก พายเรือได้สบาย เดี๋ยวนี้พอมีลงแขกลงคลองที คนมาช่วยกัน 60-70 คน ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ งมกุ้งแม่น้ำกันได้ทีละเป็นกิโลๆ สนุกสนานกัน คลองบ้านเราก็ดีขึ้นด้วย…” ไพบูลย์ เจริญสมบัติ สมาชิก สภาฯ อบต.และ สนธิยา สายทองคำ ร่วมให้ข้อมูล

เรื่องการเกษตรของที่นี่ ยังมีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกล จากโครงการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ ที่รวมหุ้นชาวบ้านปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 600 หุ้น หุ้นละ 100 บาท เพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพใช้กันเอง ทำให้ลดปริมาณการซื้อปุ๋ยลงไปได้เรื่อยๆ ทั้งปุ๋ยเคมี และปุ๋ยชีวภาพยี่ห้อต่างๆ โครงการนี้ ไปได้ดีมาก ชาวบ้านให้ความสนใจใช้ปุ๋ยที่ทำเองอย่างคึกคัก ทำให้รถของบริษัทปุ๋ยที่เคยเข้ามาเป็นประจำ ค่อยๆ หายไปในที่สุด ดังนั้น จึงคาดหวังได้ว่า พื้นที่ อบต.บางคนที จะกลายเป็นพื้นที่ปลอดสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ในอนาคต

ไม่เพียงแค่ลำคลองสะอาดน่าพายเรือท่องเที่ยวและการเกษตรซึ่งมุ่งไปสู่ความยั่งยืนเท่านั้น อบต.บางคนที ยังมีของดีขึ้นแท่นโชว์มาหลายงานอย่าง “ลูกประคบพาสเจอไรซ์ในกระป๋อง” เก็บไว้ได้นานนับปี หนึ่งกระป๋องมีสองลูก และหนึ่งลูกใช้ได้นานถึงสิบห้าครั้ง ซึ่งสินค้าประจำตำบลตัวนี้ โดดเด่นจนได้รับเครื่องหมาย otop

อรวรรณ เต็มเปี่ยม ประธานกลุ่มสมุนไพรบ้านสวน บางคนที เล่าถึงที่มาและสถานะปัจจุบันของกลุ่มว่า

“…คือลูกประคบนี่ชาวบ้านก็ทำใช้เองมานานแล้ว เราก็เริ่มจากการมารวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่ม แล้วก็รับซื้อสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาทำ ตอนแรกที่เราทำก็เป็นแค่ลูกประคบธรรมดาเหมือนที่อื่น เราก็พยายามคิดค้นที่จะให้เก็บได้นาน ไม่ขึ้นรา ในที่สุดก็ได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการ ให้ทำการพาสเจอไรซ์แล้วเก็บใส่กระป๋อง ซึ่งก็สามารถเก็บได้นานเป็นปี ใช้เสร็จแต่ละครั้งก็แช่ตู้เย็นไว้ ลูกหนึ่งก็ใช้ได้ถึงสิบห้าครั้ง ตอนนี้แต่ละเดือนก็มีออร์เดอร์พอสมควร แต่กำลังการผลิตเราไม่มาก แล้วเราก็ไม่อยากขยายกำลังการผลิตมาก เพราะเกรงว่าจะควบคุมคุณภาพไม่ได้ ที่สำคัญคือเราอยากให้ชุมชน อยากให้ชาวบ้านมีรายได้แบบพอเพียง เดินไปหลังบ้าน เก็บของหลังบ้านมาขายก็ได้แล้วร้อยสองร้อยบาท เราไม่ได้ต้องการทำโรงงานใหญ่โต อีกอย่างคือชาวบ้านก็มีสุขภาพที่ดีด้วย เพราะเราพูดได้ว่า ผู้สูงอายุในพื้นที่ใช้ลูกประคบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์…”

เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ ภูมิปัญญาจำนวนมากจึงยังคงมีอยู่ ใช้งานได้จริง และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชุมชน อาทิ กลุ่มทำกระทงใบตองแห้ง,กลุ่มเครื่องจักสาน,กลุ่มมะพร้าวขาว ตลอดจนโครงการของ อบต.ที่ตั้งใจจะให้เป็นศูนย์เรียนรู้ในอนาคต เช่น การสอนการแกะสลักหนังใหญ่ และการอนุรักษ์เรือพาย

“…คนในพื้นที่เราจะมีเสน่ห์อยู่ตรงที่ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการมีส่วนร่วมของชาวบ้านก็สูง ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่เราทำความเข้าใจกับแกนนำชาวบ้านเป็นอย่างดี ให้เขาไปสื่อสารกับชาวบ้านอีกต่อหนึ่ง ก็จะได้รับความร่วมมือดี บางเรื่องก็ทำให้เขาเห็น อย่างเรารณรงค์เรื่องการเก็บขยะคูคลอง การไม่ทิ้งขยะ เขาก็จะเกิดความกระดาก ไม่กล้าทิ้ง แล้วก็จะค่อยๆ ชินไปเอง หรืออย่างกิจกรรมลงแขกลงคลอง ถามว่าทำเพื่ออะไร ลองไปดูได้ คลองใหญ่ที่เราทำจะสะอาด ขณะที่คลองเล็กที่ไม่ได้ทำจะสกปรกมาก คือเราอยากจะปลูกฝังจิตสำนึกไว้ มีผู้ใหญ่เป็นตัวอย่าง เด็กๆ ก็จะทำตาม เราอยากให้เด็กๆ รักถิ่นกำเนิด ในการประชาคมทุกครั้ง ก็จะพูดตลอดว่า ชุมชนของเราน่าอยู่มาก อยากให้เก็บเอาไว้ให้ลูกหลานได้อยู่ อย่าเพิ่งขายที่กันจนหมด ถ้าจำเป็นก็แบ่งขายให้แค่พอปลูกบ้าน อย่าไปแบ่งขายให้เขาทำโรงงานหรือทำอะไรที่จะมีผลกระทบกับเรา ก็จะใช้เวทีประชาคมเพื่อขับเคลื่อนตรงนี้ ถึงแม้วันนี้มันอาจจะยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันยังต้องเดินทาง แต่มันก็ได้รับการจุดประกายขึ้นมาแล้ว มองเห็นภารกิจแล้ว งานแต่ละอย่างไม่ได้ใช้เวลาแค่วันสองวัน แต่มันต้องเดินต่อไปเรื่อยๆ…” นายกฯ อบต.บางคนที กล่าว

ในวันที่การพัฒนาตามแนวทางวัตถุนิยมรายล้อมเข้ามารอบด้าน อบต.บางคนที ยังยืดหยัดที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์เรียนรู้ ในโครงการตำบลสุขภาวะ “ชุมชนน่าอยู่” โดยการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

แม้วันนี้ “สาวงามบ้านบางคนที”อาจจะหายากสักหน่อย เพราะหนุ่มสาวส่วนใหญ่จะต้องไปเรียนหนังสือในเมืองแต่บางคนทีก็มีสิ่งสวยงามอีกมากมายที่ผู้มาเยือนจะได้พบเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำใจ” ของชาวบางคนทีนั้น งามจริงๆ

 

 

ที่มา : ปันสุข

Shares:
QR Code :
QR Code