“ภาษีเจริญ” ลดข้อจำกัดพื้นที่ได้ สุขภาวะก็ตามมา
‘ภาษีเจริญ’ พื้นที่สุขภภาวะ ชาวบ้านร่วมใจสร้างสุขรอบชุมชน
แฟ้มภาพ
มีงานวิจัยบอกชัดเจนว่า เมื่อไหร่ที่เส้นทางคมนาคมเจริญ เมื่อนั้นถนน เส้นทาง และผู้คนจะตามมา เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานครในวันนี้ เบื้องหน้าคือตึกระฟ้าที่สวยงามและความสะดวกของเส้นทางคมนาคมที่ได้รับการยกระดับแบบลอยฟ้า แต่เบื้องหลังชีวิตของคน กทม.บางกลุ่มกลับยังมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ได้เจริญหรือสวยงามเหมือนฉากหน้าที่เห็น การเป็นเมืองหลวงที่มีประชากรทั้งเป็นคนพื้นเพเดิมและคนต่างจังหวัดที่เข้ามาพำนักอาศัยอย่างหนาแน่น ขณะเดียวกันหลายพื้นที่กำลังได้รับ ผลกระทบจากปัญหาโครงสร้างเมืองที่กำลังขยายการพัฒนา ทำให้คนเมือง กทม.ต้องประสบปัญหาเชิงลบ ด้านสุขภาวะหลายประการไม่น้อยกว่าคนในพื้นที่อื่น เมื่อมีรถไฟฟ้า คอนโดมิเนียมก็เริ่มตามมา ราคาที่ดินก็พุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงยิ่งทำให้โอกาส ของการมีพื้นที่สุขภาวะใน กทม.ยิ่งถูกจำกัดมากขึ้น ไปอีก
ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม และ เลขาธิการมูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน ให้ข้อสังเกตถึงปรากฏการณ์ "คนกรุงหนีจากเมือง ไปต่างจังหวัดทุกวันหยุด" ว่า ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการหรือโหยหาพื้นที่ธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ลึกๆ ของคนเมืองนั่นเอง
"เดิมเขาเคยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีๆ มาก่อน แต่ด้วยความเจริญของการพัฒนา เริ่มทำให้พื้นที่ชุมชนเกิดความแออัดมากขึ้น ตอนนี้เราจึงพยายามทำให้พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่เอื้อต่อสุขภาวะและเมืองน่าอยู่"
ผศ.ดร.กุลธิดา เอ่ยว่าคนกรุงเทพฯเอง มีปัญหา สุขภาวะไม่แตกต่างจากในพื้นที่อื่นในประเทศ แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ เรื่องข้อจำกัดบางประการ อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องพื้นที่สุขภาวะของคนเมืองเป็นเรื่องที่พูดถึงมาหลายสิบปี แต่ในทางปฏิบัติกลับได้รับการขับเคลื่อนไปช้ามาก ทำให้ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม จึงได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ (Healthy Space) โดยนำร่องในพื้นที่เขตภาษีเจริญ เป็นเขตแรกใน กทม.
โครงการเริ่มตั้งแต่ปี 2555 โดยปีแรกเน้นที่การขยายแนวคิดสู่ชุมชน โดยใช้กระบวนการทำงานในเชิงรุก เข้าไปเชิญชวนให้คนในพื้นที่มีความเข้าใจการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ ด้วยการจัดการข้อจำกัดที่จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสุขภาวะของพี่น้องในชุมชน "เรามีการพยายามทำความเข้าใจ อธิบายให้ชุมชนตระหนักถึงปัญหาของตัวเอง ว่ามีปัญหาเชิงพื้นที่อย่างไรบ้าง ใช้ทั้งกระบวนการพูดคุย เชิญชวน ทั้งท้าทายเขาว่า คุณจะปล่อยให้ชีวิตลูกหลานคุณอยู่กับน้ำเน่า กับกองขยะแบบนี้หรือ เขาคือคนที่ต้องอยู่ที่นี่ไปอีกนานนะ"
โดยส่วนใหญ่ชุมชนประสบปัญหาคือการขาดพื้นที่ส่วนกลางในการออกกำลังกาย ปลูกผักหรือพืช ชาวบ้านต้องอยู่กับน้ำเน่า และมีถนนคอนกรีตเล็กๆ เป็นเส้นทางสัญจร โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนแออัดชุมชนบ้านเช่า จึงมีการร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อสร้างกิจกรรมด้านสุขภาวะด้วยกัน เช่น สร้างสรรค์อาหารปลอดภัย ด้วยการส่งเสริมให้ชาวชุมชนปลูกผักรับประทานเอง
"แนวคิดของเราคือ เราไม่จำกัดว่าเราจะอยู่ตรงไหน หรือพื้นที่อะไร เราก็มีสุขภาวะที่ดีได้ ดังนั้นเมื่อไม่มีผืนดินให้ปลูกผัก เราก็พยายามทำให้เขาเห็นว่า พื้นที่ไม่ใช่ข้อจำกัด เพราะสามารถปลูกผักตามรั้วบ้าน หรือตรงไหนก็ได้ หรือชุมชนใดที่ไม่มีพื้นที่ส่วนกลางเลย ก็ไปดูพื้นที่ใต้สะพาน ซึ่งเคยเป็นแหล่งเสื่อมโทรม จะถูกนำมาแปรสภาพเป็นพื้นที่สุขภาวะแทน มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างเส้นทางจักรยาน เป็นต้น"
"บางแห่งผู้เช่าอยากทำ แต่เจ้าของบ้านไม่ยอม เราก็ต้องไปทำความเข้าใจใช้วิธีเชิดชูให้เขาชุมชนบ้านเช่าต้นแบบ จนปัจจุบันพื้นที่เล็กๆ ข้างบ้านเช่าสามารถปลูกผักไว้บริโภคสำหรับคนที่มีรายได้น้อย
"เราพยายามเปลี่ยนวิธีคิดทุกฝ่าย ปรับความคิด ปรับพฤติกรรม และปรับความร่วมมือไม่ใช่ต่างคนต่างทำ พอมันอยู่ในใจเขาแล้วเชื่อว่าจะต้องยั่งยืน"
เมื่องานสร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างมีบูรณาการของหลายฝ่าย ปีที่สองโครงการจึงขยายเครือข่ายทั้งภายในและ นอกชุมชน ความร่วมมือได้ขยายวงไปสู่ภาคีด้านต่างๆ ทั้งด้านวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง และหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งหน่วยงานของ กทม.
"จากนั้นเราเริ่มใช้สื่อเข้ามาเป็นเครื่องมือ ตั้งแต่การประกวดหนังสั้น ประกวดถ่ายรูปลงโซเชียล มีเดีย แสดงละคร ขณะเดียวกันก็สอดแทรกเนื้อหาสุขภาวะลงไปเพื่อให้เขาเรียนรู้ เราเชื่อว่าพอเขาได้เป็นหนึ่งในตัวละคร เขาจะสนใจพื้นที่สุขภาวะมากขึ้น" จากเดิมที่คิดว่าความเป็นเมืองจะได้รับความร่วมมือยากกว่า แต่ปีต่อมาชุมชนที่เคยปฏิเสธเริ่มเข้ามาขอเข้าร่วมโครงการ และขยายเป็น 54 ชุมชน หลังการดำเนินงานต่อเนื่องตลอด 4 ปี
ผศ.ดร.กุลธิดาบอกว่าการบูรณาการที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการนี้เป็นสิ่งที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น ผลจากการดำเนินงานเกิดการเปลี่ยนแปลง เชิงพื้นที่ ทำให้พื้นที่รกร้าง และสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาวะ กว่า 3,891 ตารางวา กลับกลายเป็นพื้นที่ที่สร้างสรรค์ต่อสุขภาวะทั้งด้านการออกกำลังกาย ด้านอาหารและการปรับภูมิทัศน์ การจัดการขยะ น้ำเน่า เมื่อคิดมูลค่าตามราคาการประเมินที่ดินพบว่า หากต้องใช้เงินซื้อพื้นที่ที่รกร้างเหล่านี้กลับคืนมาเพื่อใช้ประโยชน์ ต้องใช้เงินกว่า 159 ล้านบาท
แต่ที่สำคัญที่สุดไม่ใช่แค่ตัวเงิน ชาวบ้านได้รู้จักคุยกัน เมื่อก่อนอยู่ข้างบ้านกันไม่เคยคุยกัน นั่นคือมูลค่าที่นับไม่ได้ ปัจจุบันใต้สะพานหลายแห่ง ยังกลายเป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชน และชุมชนกับชุมชน บางชุมชนเริ่มมีการรวมตัวกันเองอย่างไม่เป็นทางการ
ล่าสุด เพื่อสร้างความยั่งยืนเชิงนโยบาย โครงการจึงได้ร่วมกับสำนักงานเขตภาษีเจริญเพื่อเปิด "หน่วยบูรณาการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเขตภาษีเจริญ" ซึ่งเป็นการสานพลังร่วมกันขับเคลื่อน กระบวนทัศน์ใหม่ของการทำงาน ที่สอดรับกับบริบทความเป็นเมือง
โฆษิต อักษรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตภาษีเจริญ กล่าวว่า การร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะมาอย่างต่อเนื่องในภาษีเจริญจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมได้ เกิดจากความเข้มแข็งจากการหนุนเสริมของทุกฝ่ายการทำงานของทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนตัวชุมชนเอง ทำให้เขตภาษีเจริญเห็นความสำคัญและได้ยกระดับสู่นโยบายระดับเขต ซึ่งจะเป็นการเคลื่อนการทำงานต่อยอดขยายผลการเรียนรู้จากการดำเนินงานต่อไป
โดยผลสรุปจากการทำงาน ทำให้ได้ข้อเสนอต่อการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมในระดับเขต ภายใต้คณะทำงานระดับเขต 7 เรื่อง ได้แก่ การบูรณาการแผนเชิงยุทธศาสตร์ การจัดระบบข้อมูลข่าวสารให้ทั่วถึงทุกชุมชน การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในภาษีเจริญและ กทม. การเพิ่มช่องทางจักรยานและทางเดินเท้า การปรับภูมิทัศน์เพื่อความปลอดภัย การผลักดันให้เขตภาษีเจริญและกทม.เป็นเขตปลอดขยะ การจัดการตลาดกลางรองรับผัก ผลไม้ปลอดภัยจากผลผลิตของคนภาษีเจริญและคนกทม. เอง โดยปัจจุบันภาษีเจริญมีแบรนด์ผักสุขภาพราคา 15 บาททุกรายการเป็นต้นแบบของอาหารปลอดภัยในอนาคต ผศ.ดร.กุลธิดาตั้งเป้าว่า จะขับเคลื่อนข้อเสนอดังกล่าวให้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายของกรุงเทพมหานครต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก