ภาษีบาปช่วยสังคมปลอดอบายมุข
ให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
การคิดเอาภาษีจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่คนนิยมเรียกว่า “สินค้าบาป” ก็คือสินค้าพวกเหล้า บุหรี่ เป็นต้น ย้อนกลับมาสร้างประโยชน์ให้สังคมถือว่าเป็นความคิดที่น่าชื่นชม
วันนี้ความคิดดังกล่าวเป็นรูปธรรมปรากฏต่อสังคมมากมายจากการได้มีการแบ่งเอาภาษีจากสินค้าบาปกลับไปทำประโยชน์ให้สังคมได้จริงๆ แล้ว เป็นรูปธรรมให้ได้เห็นกันจะจะติดต่อกันมานับแต่ได้จัดตั้งองค์กรที่ดูแลนำภาษีดังกล่าวไปบริหารจัดการ
นั่นคือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เหล้าตลอดจนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจนกระทั่งบุหรี่แม้จะเป็นที่นิยมของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่คำนึงถึงผลเสียทั้งแก่ตัวเองและสังคม แต่ถ้าย้อนกลับไปมองผลที่เกิดขึ้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่จึงถือว่าเป็นอบายมุขที่ร้ายกาจอย่างหนึ่งคือทางนำไปสู่ความหายนะ ผู้เสพหายนะครอบครัวผู้เสพพลอยหายนะ แล้วคนเสพมักจะพลอยทำให้สังคมหายนะไปด้วย
อย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คนเสพไม่เพียงเสียเงินในกระเป๋าที่อาจจะเป็นเงินที่จำเป็นต้องใช้ในครอบครัว เงินลงขวดเหล้าไปแล้วตัวเองก็เดือดร้อน ครอบครัวก็เดือดร้อน
คนเสพเมาไม่มีสติดูแลตัวเองไม่ได้อาจจะนำปัญหาต่างๆ นานามาถึงตั้งแต่ปัญหาในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุการทะเลาะวิวาทไปจนถึงโรคภัยไข้เจ็บเสียเงินเสียทองครั้งแล้วครั้งเล่า เรื่อยไปจนกระทั่งเสียงานเสียเกียรติเสียความน่าเชื่อถือ
บุหรี่ก็ก่อปัญหาสูญเสียไม่เบาเช่นกันที่ร้ายสุดสุดก็คือสุขภาพ บุหรี่พาโรคภัยไข้เจ็บมาเยือน เช่น โรคถุงลมโป่งพองมิหนำซ้ำ ยังทำร้ายคนรอบข้างด้วยควันมือสองอีก เป็นที่รังเกียจของสังคม
นี่เป็นตัวอย่างความเลวร้ายส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์บาปที่ก่อปัญหาให้สังคมแม้จะอ้างว่าได้เสียภาษีเป็นการชดเชยให้แล้วก็ตาม
หลังจากการแบ่งภาษีบาปส่วนหนึ่งเพื่อย้อนกลับไปช่วยเหลือสังคม วันนี้ผลพวงแห่งภาษีที่นำไปรณรงค์ให้คนได้ตระหนักถึงผลร้ายอันเกิดจากการหมกมุ่นในอบายมุขเข้าใจรู้ซึ้งถึงผลร้ายทำลายสังคมเพิ่มมากขึ้น
ทำให้ประชาชนที่หมกมุ่นในอบายมุขมีจำนวนลดลงเป็นจำนวนมากอย่างน่าพอใจ
ผลพวงอันเกิดจากการนำภาษีบาปไปรณรงค์กระตุ้นให้เห็นโทษของการเสพอย่างเช่น การผลักดันให้เกิดกฎหมายห้ามโฆษณา ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ห้ามขายห้ามดื่มในวัดในศาสนสถาน ในสถานศึกษา กระทั่งตั้งร้านขายใกล้สถานที่ดังกล่าวไม่ได้ในกำหนดกี่เมตร เป็นต้นก็เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง
ในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ปีใหม่เข้าพรรษา สงกรานต์ องค์กรอย่าง สสส.ในฐานะผู้บริหารงบประมาณจากภาษีบาปได้จัดทุนสนับสนุนการรณรงค์เมาไม่ขับเป็นต้น
รวมไปถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงโทษแห่งการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งดื่มด้วยความสนุกสนานทั้งดื่มดับกลุ้มก็ล้วนแต่เป็นโทษทั้งสิ้น อย่างโฆษณาชุด “เครียดกลุ้ม กินเหล้า” หมดตัวอย่างเดียวไม่มีโอกาสพอมีพอกินได้เลย แต่พอ “ขยันไม่ดื่มเหล้า หายกลุ้ม” ก็รวยอย่างเดียวเช่นกันถึงไม่รวยวัตถุแต่ก็รวยความสุขเป็นคุณที่เห็นได้ชัดๆ
การร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา รณรงค์ให้เยาวชนนักศึกษาห่างไกลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมหลายๆ อย่างเช่นรับน้องใหม่ กิจกรรมกีฬามหาวิทยาลัยเป็นต้น ก็ได้ผล
การรณรงค์กระตุ้นให้มีการออกกฎหมายจำกัดบริเวณพื้นที่สูบบุหรี่การห้ามโฆษณา การวางขายที่ไม่ประเจิดประเจ้อตามร้านสะดวกซื้อสะดวกขายเป็นต้น นี่ก็ยิ่งได้ผล
มีสถิติภาพรวมในแต่ละปีสำหรับประชาชนที่เสพแอลกอฮอล์ บุหรี่ที่เป็นตัวชักนำไปสู่อบายมุขอื่นๆ ลดลงมากมาย
ความสูญเสียในเชิงสาธารณะลดลงการสูญเสียในครอบครัวลดลง เฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวแตกแยกเพราะแอลกอฮอล์มีสถิติลดลงมาก
คนเป็นโรคตับแข็งลดลง ถุงลมโป่งพองก็ลดลง
สำคัญที่สุดครอบครัวมีความพออยู่พอกิน มีความรักความสามัคคี มีความสุขอย่างยั่งยืนในครอบครัวเพิ่มขึ้น
ภาษีบาปที่กลับไปสร้างประโยชน์สร้างสำนึกให้พ้นไกลไปจากอบายมุขจึงทำให้คนไทยห่างสภาพหายนะอย่างเห็นได้ชัด
แต่การดำเนินการดังกล่าวอาจจะขัดใจคนบางกลุ่มอยู่บ้างเพราะการไปขัดผลประโยชน์ เลยพาลหาว่าใช้งบประมาณแบบฟุ่มเฟือย ก็ไม่ว่ากัน เพียงแต่อยากให้มองอย่างเป็นธรรมอย่าอคติ ลองเอาผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการรณรงค์ผ่านโครงการต่างๆ โดยประชาชนทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่เยาวชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับ กองทุน สสส.ไปบวกลบคูณหารดูก็จะเห็นว่าเงินภาษีบาปทุกบาททุกสตางค์ใช้ไปอย่างมีค่าที่สุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
Update: 22-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: อารยา สิงห์สวัสดิ์