ภาษารักเพิ่มกำลังใจ ลดเครียดปัญหาโควิด
ที่มา : เว็บไซต์บ้านเมืองออนไลน์
แฟ้มภาพ
การแก้ปัญหาความเครียด ซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในทุกช่วงวัย ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ต้องอาศัยความเข้าใจ คอยรับฟังและให้กำลังใจ อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยแนะวิธีให้กำลังใจด้วยภาษารัก ช่วยลดความเครียดจากปัญหาโควิดได้
รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน เอกวรางกูร อาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากงานวิจัยเชิงพื้นที่พบว่าปัญหาในชุมชนมีทั้งการฆ่าตัวตาย ครอบครัวแตกแยก เด็กและผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง เด็กและเยาวชนพบพฤติกรรมกลั่นแกล้ง รังแก (Bully) การตั้งครรภ์ไม่พร้อม การทะเลาะวิวาท การใช้สารเสพติด การขาดแรงบันดาลใจในชีวิตและการเรียนรู้ การลาออกจากการเรียนกลางคัน และอื่นๆ ส่งผลกระทบระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของทั้งพ่อแม่และเด็ก และ
ล่าสุดพบปัญหาผู้ใหญ่วัยทำงาน มีภาวะเครียดจากการตกงาน ไม่มีรายได้ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ผู้สูงอายุเผชิญกับภาวะพึ่งพิง โดดเดี่ยวมีภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายมากขึ้น โดยปัจจุบันโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข ของประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เมื่อวัดจากจำนวนปีที่สูญเสียไป เนื่องจากความพิการและความเจ็บป่วยพบว่า โรคซึมเศร้าก่อให้เกิดความสูญเสียเป็นอันดับที่ 1 ของหญิงไทย อันดับที่ 3 ของชายไทย และเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายสำเร็จ
ในภาวะดังกล่าว “การดูแลใจ” ระหว่างวัยโดยการสร้างพลังบวกจากเด็กและเยาวชน เพื่อดูแลจิตใจของผู้สูงอายุให้คลายภาวะซึมเศร้า ขณะที่ผู้สูงอายุสามารถส่งต่อประสบการณ์ชีวิต เพื่อดูแลเด็กและเยาวชนที่เป็นบุตรหลานได้มากขึ้น ทำให้ผู้ใหญ่วัยทำงาน ไม่ต้องกังวลกับการดูแลเด็กและผู้สูงอายุในบ้าน สามารถทำงานดูแลครอบครัวได้อย่างเต็มกำลัง
รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน กล่าวอีกว่า สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์และภาคีเครือข่าย จึงได้ลงพื้นที่ทำงานดูแลใจ เริ่มต้นจากการอบรมเชิงปฏิบัติการให้เด็กและเยาวชน เรียนรู้เครื่องมือที่บูรณาการ 2 แนวคิด คือภาษารัก 5 รูปแบบของแกรี่ แชปแมน (Gary Chapman) กับแนวคิดและเทคนิคทางจิตวิทยาของเวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (VirginiaSatir)
โดยภาษารัก 5 รูปแบบได้แก่ (1) คำพูดด้วยการบอกรัก ให้กำลังใจ ชื่นชม ขอบคุณ ขอโทษหรือการสอบถามทุกข์สุขซึ่งกันและกัน (2) การสัมผัส เช่น การสลามในมุสลิมการกอดการจับมือ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน (3) การดูแลใส่ใจบริการ เช่น การยกข้าวยกน้ำให้ผู้สูงอายุให้พ่อแม่ การช่วยทำงานบ้าน และการช่วยเหลืออื่นๆ (4) การให้ของขวัญของฝาก โดยไม่จำเป็นต้องรอเทศกาลหรือวันสำคัญ ไม่จำเป็นต้องเป็นของมีค่าราคาแพง และ (5) การใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน เช่น การพูดคุยกันระหว่างรับประทานอาหาร แทนการเล่นมือถือ หรือดูทีวี
โดยเครื่องมือ 5 ภาษารักนี้ สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกันในครอบครัว ช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถดูแลจิตใจตนเองให้มีความรัก ยอมรับและเห็นคุณค่าในตนเอง และสามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวกับผู้สูงอายุ พ่อแม่ เพื่อน และบุคคลรอบข้างได้ และการใช้เครื่องมือนี้จะเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อใช้ 3 เทคนิคทางจิตวิทยาของเวอร์จิเนีย ซาเทียร์ เข้ามาช่วย คือ
1. การเชื่อมโยงพลังด้านบวกกับตนเองและผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า หรือพ่อแม่ด้วยการสบสายตาในลักษณะที่เข้าไปถึงหัวใจ เข้าอกเข้าใจ ใช้ท่าทีเป็นมิตร จริงใจ ใส่ความปรารถนาดีต่อกัน
2. การใช้คำถามลงสู่หัวใจ ด้วยการถามความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง หรือความต้องการ
3. การฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจ
ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยพบว่า การดูแลใจด้วยแนวคิดทั้ง 2 ส่วนทำให้เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า เห็นคุณค่าในตนเอง มีพลังกายและพลังใจ ในการดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเข้าใจกัน