ภาวะสายตาเลือนราง VS ตาบอด

ที่มา : คู่มือการดูแลผู้สูงวัย : ไม้เท้าช่วยมอง โดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ภาวะสายตาเลือนราง VS ตาบอด thaihealth


คนพิการหรือบุคคลที่บกพร่องทางการมองเห็น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือคนตาบอดกับคนสายตาเลือนราง โดยพิจารณาจากความสามารถในการเห็นตามระยะต่าง ๆ และความกว้างของลานสายตา


ซึ่งตรวจได้โดยเข้ารับการตรวจมองที่แผ่นตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ที่เรียกว่า “สเนลเลนชาร์ต” (Snellen chart) เพื่อวัดความสามารถด้านการเห็นในระยะต่าง ๆ และใช้เครื่องตรวจวัดลานสายตา เรานิยามคนตาบอดและคนสายตาเลือนรางได้ดังนี้


คนตาบอด หมายถึง คนที่มองเห็นได้น้อยมาก หรือยังพอเห็นแสงได้บ้างไปจนถึงผู้ที่มองไม่เห็นเลย เมื่อการมองเห็นไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จึงต้องใช้ประสาทสัมผัสอื่นแทนนั่นคือการสัมผัส


คนสายตาเลือนราง หมายถึง ผู้ที่ยังพอมองเห็นได้อยู่ โดยการมองเห็นที่บกพร่องจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันต่างกันตามความบกพร่องที่เกิดขึ้น การมองเห็นของคนสายตาเลือนรางอาจมีได้หลายลักษณะ ดังนี้


1. ภาพมัวหรือบิดเบี้ยวตรงบริเวณจุดกลาง พบในผู้ที่จอประสาทตาเสื่อมหรือมีรูขาดแถวจุดศูนย์กลางจอประสาทตา ผู้มีสายตาแบบนี้จะมีปัญหาในการอ่าน


2. ภาพมัวทั่ว ๆ ไป พบในผู้ที่เป็นโรคกระจกตาหรือโรคจอประสาทตาบางชนิด


3. ลานสายตาแคบ ลักษณะการมองเห็นจะเหมือนมองผ่านอุโมงค์ พบได้ในคนที่เป็นต้อหินและผู้ที่จอประสาทตาเสื่อมจากกรรมพันธุ์ ผู้มีสายตาแบบนี้จะมีปัญหาในการเดิน อาจเดินสะดุดหกล้มง่าย หากลานสายตาแคบกว่า 10 องศา จะมีปัญหาในการอ่านหนังสือ โดยอ่านได้ช้าลงและตาล้าได้ง่าย


4. ลานสายตาเสียครึ่งซีก อาการนี้เกิดได้จากโรคทางสมองหรือเส้นเลือดในตาตีบ ทำให้ภาพมัวครึ่งบนหรือครึ่งล่าง จนอ่านหนังสือและเดินได้ลำบากมาก

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ