ภาวะสมองเสื่อม

ที่มา : คู่มือป้องกันในวัยผู้สูงอายุ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ภาวะสมองเสื่อม thaihealth


ภาวะสมองเสื่อม (Dementia Syndrome) เป็นภาวะที่สมองเริ่มถดถอยการทำงานด้านใดด้านหนึ่งลงไป เช่น ด้านความจำ ด้านภาษา ด้านการประมวลผล และด้านสมาธิ โดยจะเริ่มสูญเสียเซลล์สมองจากส่วนหนึ่งแล้วค่อยลุกลามไปยังสมองอีกส่วนหนึ่งอย่างช้าๆ เมื่อเวลาผ่านไปนานเป็นสิบปี ความผิดปกติเหล่านี้จะปรากฏชัดเจนในตัวผู้มีอาการจนคนรอบข้างเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ทีละน้อย


อาการเตือนภาวะสมองเสื่อม 10 ประการที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรระวัง


1.สูญเสียความจำโดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น


2.ทำกิจวัตรประจำวันที่คุ้นเคยไม่ได้เหมือนเดิม หรือทำได้แต่ก็ยากลำบากเต็มที


3. มีปัญหาในการใช้ภาษา เช่น ลืมคำศัพท์ง่ายๆ ใช้ศัพท์ผิดความหมาย


4. สับสนวันเวลาและสถานที่ เช่น หลงวัน เวลา บอกที่อยู่บ้านตนเองไม่ได้


5. มีการตัดสินใจอย่างไม่เหมาะสม เช่น เปิดพัดลมแรงทั้งที่อากาศเย็นมาก


6. มีปัญหาเกี่ยวกับความคิดรวบยอด เช่น ไม่ เข้าใจค่าของตัวเลข บวกลบคูณหารไม่ได้ เหมือนก่อน


7. เก็บสิ่งของผิดที่ผิดทาง เช่น เก็บเตารีดในตู้เย็น เก็บนาฬิกาในโถน้ำตาล


8. อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่ายภายในเวลาไม่นาน


9. บุคลิกภาพเดิมเปลี่ยนไป เช่น กลายเป็นคนช่างสงสัยหรือหวาดกลัวง่ายกว่าเดิมมาก


10. ชอบเก็บตัว ขาดความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต เลือกที่จะนั่งหรือนอนทั้งวัน ไม่อยากพบเจอผู้คน


ระดับความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อม


ระยะที่ 1 ภาวะสมองเสื่อมระดับเล็กน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการหลงลืม โดยเฉพาะลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น จำไม่ได้ว่าวางของใช้ไว้ที่ใด ไม่สามารถจำชื่อสถานที่ที่คุ้นเคยได้ ไม่ค่อยมีสมาธิ เหลือเพียงความจำส่วนที่เกี่ยวข้องกับอดีตที่ยังดีอยู่ เริ่มมีความบกพร่องในการทำกิจกรรมต่างๆและการใช้ชีวิตในสังคม แต่ยังสามารถอยู่คนเดียวได้ ช่วยเหลือตนเองได้ และยังมีการตัดสินใจที่ค่อนข้างดี


ระยะที่ 2 ภาวะสมองเสื่อมระดับปานกลาง ในระยะนี้ความจำเริ่มเสื่อมลงมากขึ้น มีความบกพร่องในเรื่องความเข้าใจ ความสามารถในการเรียนรู้ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ เช่น ความสามารถในการคำนวณ การกะระยะทาง ไม่สามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดได้ทั้งที่เคยทำได้มาก่อน ทำอาหารที่เคยทำไม่ได้ ลืมชื่อสมาชิกในครอบครัว ช่วงท้ายระยะนี้อาจมีอาการทางจิต เช่น ประสาทหลอน ดังนั้นการปล่อยให้ผู้มีอาการเหล่านี้อยู่ตามลำพังอาจเป็นอันตรายจึงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด


ระยะที่ 3 ภาวะสมองเสื่อมขั้นรุนแรง ผู้ป่วยจำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย สูญเสียความจำอย่างรุนแรง จำญาติพี่น้องไม่ได้หรือแม้แต่ตนเองก็อาจจำไม่ได้ด้วย มักเดินหลงทางในบ้านตนเอง มีความผิดปกติต่างๆ เช่น บุคลิกภาพเปลี่ยนไป เคลื่อนไหวช้า เดินช้า และอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

Shares:
QR Code :
QR Code