ภาวะช่องกระดูกสันหลังแคบส่วนเอว

ที่มา : หนังสือ กระดูกสันหลังมันฟ้องว่าเจ็บ By SOOK สสส.


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ภาวะช่องกระดูกสันหลังแคบส่วนเอว thaihealth


ภาวะช่องกระดูกสันหลังแคบส่วนเอว เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัย 50-60 ปี เนื่องจากคนวัยนี้เริ่มมีการเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลัง และมักพบในกลุ่มคนที่มีการใช้งานและการเคลื่อนไหวของหลังที่มากขึ้น เช่น การทำงาน หรือทำกิจกรรมที่ต้องก้มหลังบ่อย ๆ การนั่งทำกิจกรรมบนพื้น เป็นต้น รวมถึงการมีน้ำหนักตัวมาก ก็ส่งผลให้การทำงานของหลังมากกว่าคนทั่วไป


โรคนี้มักทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดหลัง โดยอาจพบร่วมกับอาการปวดลงขาข้างเดียวหรือ 2 ข้างพร้อมกันก็ได้ หรือเดินแล้วขาอ่อนแรงหรือปวดจนต้องหยุดเป็นพัก ๆ ซึ่งเกิดจากการกดทับเส้นประสาทหรือภาวะการขาดเลือดของเส้นประสาท


สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะช่องกระดูกสันหลังแคบส่วนเอว


1. ภาวะเกิดการเสียหน้าที่ของกระดูกสันหลัง เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเกิดการตีบแคบ ของช่องกระดูกสันหลังส่วนเอวเพราะเมื่อกระดูกสันหลังเริ่มเสื่อมสภาพจากวัยที่มากขึ้น หรือผ่านการใช้งานมาพอควร ก็จะเริ่มเกิดการเสื่อมสภาพ ได้แก่ ข้อต่อกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งภาวะเหล่านี้ลดทอนประสิทธิภาพในการทำงานและเกิดการหลวมของข้อต่อเหล่านี้ และเกิดการขยับตัวของกระดูกมากกว่าปกติ เวลาขยับหลังมากหรือติดต่อนาน ๆ ก็จะเกิดอาการปวดหลัง


2. การสูญเสียความมั่นคงของกระดูกสันหลัง พอมีการหลวมของข้อต่อกระดูกสันหลังที่มากพอร่วมกับยังมีการใช้งานของหลังอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดการเสียสภาพการทำงานของข้อต่อกระดูกสันหลังอย่างถาวร


3. การกลับคืนสู่ความมั่นคงของกระดูกสันหลัง คือเมื่อเกิดการตีบแคบของช่องกระดูกสันหลังส่วนเอว ร่างกายจะเกิดกระบวนการซ่อมแซม และเสริมความมั่นคงให้กับกระดูกสันหลังคู่กันไป ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้เกิดความหนาตัวของเส้นเอ็น เยื่อหุ้มข้อต่อกระดูกสันหลัง และกระดูกงอกรอบ ๆ ช่องกระดูกสันหลังที่ภายในบรรจุเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของขา และการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ


วิถีชีวิตที่มีผลกับภาวะช่องกระดูกสันหลังแคบส่วนเอว


นอกเหนือจากความชราภาพของอวัยวะกระดูกสันหลังที่เกิดขึ้นตามวัยแล้ว ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้จะเป็นไปในลักษณะเดียวกับการเกิดภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนส่วนเอว เช่น กรรมพันธุ์ ความอ้วน การสูบบุหรี่ การทำงานเกี่ยวกับการก้มเงย หรือยกของหนัก การนั่งพื้นนานบ่อย ๆ เป็นต้น


ลักษณะอาการของภาวะช่องกระดูกสันหลังแคบส่วนเอว


มักมีอาการปวดหลังหลังทำกิจกรรมที่ต้องมีการขยับหลังมากกว่าปกติ เช่น ก้ม ๆ เงย ๆ ยกของ หรือเมื่อมีการเปลี่ยนท่าจากนอนเป็นนั่ง หรือนั่งเป็นยืน และเมื่อเข้าสู่ระยะที่เสียความมั่นคงของกระดูกสันหลังแล้ว จะเกิดอาการปวดหลังต่อเนื่องจนทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้


แต่ระหว่างที่เกิดการเสื่อมสภาพนี้ก็จะเกิดขบวนการซ่อมแซมกระดูกสันหลัง ซึ่งส่งผลให้เกิดการหนาตัวขึ้นที่เส้นเอ็นและข้อต่อกระดูกสันหลัง ทำให้ของกระดูกสันหลังส่วนเอวที่ภายในบรรจุเส้นประสาทอยู่นั้นตีบแคบลง เวลาเดินไปสักพัก ก็อาจเกิดอาการปวดร้าวลงขา ขาชา หรือขาอ่อนแรง และหากการตีบแคบยังเกิดต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ผู้ป่วยก็จะเดินได้เป็นระยะทางที่สั้นลงเรื่อย ๆ และอาจเกิดอาการขาชา ขาอ่อนแรงตลอดเวลา กระทั่งกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ในที่สุด


หากเป็นแล้วต้องดูแลตัวเองอย่างไร


1. ลดการขยับและการทำงานของหลัง เช่น การก้มลง การนั่งทำกิจกรรมต่าง ๆ บนพื้นหรือเก้าอี้เตี้ย การยกของหนัก ฯลฯ


2. ใส่รองเท้าไม่มีส้น เพราะส้นสูง ๆ จะทำให้เกิดการแอ่นของกระดูกสันหลังส่วนเอวมากขึ้น


3. ปรับท่ายืนหรือเดินเพื่อลดอาการ ของเส้นประสาทขาดเลือด หากต้องยืนเป็นเวลานาน ๆ เช่น ยืนทำ อาหาร ยืนอาบน้ำ ควรหาที่พักขา เช่น ม้านั่งเตี้ย คานบริเวณขาโต๊ะ จะช่วยให้ช่องกระดูกสันหลังกว้างขึ้น อาการที่เกิดจากช่องกระดูกสันหลังแคบและเส้น ประสาทขาดเลือดก็จะดีขึ้น


4. ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง จะช่วยลดการขยับตัวของกระดูกสันหลังส่วนเอว เวลาร่างกายเคลื่อนไหว จะช่วยลดการเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลังส่วนเอว และการมีกล้ามเนื้อหน้าท้องที่แข็งแรงจะช่วยลดการแอ่นตัวของกระดูกสันหลังส่วนเอวที่มากเกินไป และปรับให้โครงสร้างกระดูกบริเวณนั้นเป็นแบบแอ่นปกติ หรือแอ่นน้อยกว่าปกติ


วิธีป้องกันภาวะช่องกระดูกสันหลังแคบส่วนเอว


1. ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม คือ เมื่อคำนวณน้ำหนักหน่วยเป็นกิโลกรัมต่อส่วนสูงเป็นตารางเมตรแล้วไม่ควรมีค่ามากกว่า 25


2. ไม่สูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวได้เร็วขึ้น และเกิดการตีบแคบของช่องกระดูกสันหลังตามมา


3. สำหรับผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับการยกของหนัก ควรศึกษาท่าที่เหมาะสมในการทำงานเช่นเดียวกับ ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนส่วนเอว และฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังเพื่อลดการบาดเจ็บ (ตั้งหัวข้อด้านบน)


4. เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น จากนั่งพื้นเป็นนั่งเก้าอี้ การทำงานบ้านเปลี่ยนจากก้มถูพื้นเป็นใช้ไม้ถูพื้น เป็นต้น

Shares:
QR Code :
QR Code