‘ภาวนา’ ส่งเสริมการเกื้อกูลชุมชนและสังคม

การภาวนาไม่ใช่แต่เพียงการสวดมนต์ หรือเป็นพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น หากแต่การภาวนาคือ วิถีชีวิตที่เกื้อกูลชุมชมและสังคม


'ภาวนา' ส่งเสริมการเกื้อกูลชุมชนและสังคม thaihealth


พระอาจารย์ปราโมทย์ มาโมชโช กล่าวถึงภาวนาไว้ว่า คือ การเรียน รู้ตัวเอง ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงตัวเอง รู้กายลงไป รู้ใจลงไป ดูของจริงในกาย ในใจ  นั้นหมายความว่าการพัฒนาจิต การริเริ่มโครงการภาวนาคือชีวิต วิถีชีวิตที่เกื้อกูลชุมชนและสังคม โดย ดร.ธรรมนนท์ กิจติเวชกุล จากสถาบันบ่มเพาะจิตสู่การเปลี่ยนสังคม ภายใต้มูลนิธิการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสื่อสารให้สังคมเข้าใจการภาวนาไม่ใช่เพียงการสวดมนต์ หรือเพียงพิธีกรรมทางศาสนาที่สังคมเข้าใจ


"มองว่าการภาวนาคือการดูแลจิตใจของเรา ให้ชีวิตเราไม่ให้วูบวาบแทนทีจะสุขก็สุข แต่เมื่อทุกข์ก็ดิ่งลง แต่การภาวนามีหลักเหมือนสัตว์ที่ถูกล่ามแล้วตอกหลักไว้ เมื่อวิ่งไปจะวิ่งไม่ไกลเพราะมีหลักอยู่ แม้ความคิดจะสั่งให้หนีจากความทุกข์ แต่ถ้าเราทนอยู่กับมันได้อย่างไม่ทรมาน มีความรู้สึกตระหนัก เศร้าก็ รู้โกรธก็รู้เราก็จะมีความสุข"   พี่นิตย์ หรือ ดร.ธรรมนนท์ ขยายความเรื่องจิตภาวนา


พี่นิตย์มุ่งหวังให้โครงการภาวนาคือชีวิตเป็นพลังส่งให้กลุ่มที่ทำงานเพื่อสังคม กลุ่มทำงานจิตสาธารณะมีการตระหนักรู้ทุกข์รู้สุข โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มอบทุนสนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งโครงการนี้ได้ทำต่อเนื่องมาแล้ว 1 ปีครึ่ง เพราะเข้าใจกลุ่มคนที่ทำงานกับชุมชน เช่นคนทำงานที่ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม การเสนอเกษตรทางเลือกท่ามกลางเกษตรอุตสาหกรรม เป็นตัวตัดสินใจที่ทำให้ชาวบ้านเลี่ยงยาก ขณะที่คนทำงานก็ท้อถอย  การทำงานลักษณะนี้มีทั้งหมด 15 กลุ่ม เป็นเป้าหมายการทำงานของพี่นิตย์เพื่อเข้าไปสร้างวิธีที่จะตระหนักรู้กับปัญหาที่วนเวียนเข้ามา


"การตระหนักรู้ต้องเกิดจากข้างในก่อน ทำให้เราเห็นได้เอง ช่วยดึงพลังออกมาเพราะเราเป็นผู้เลือก เช่นเมื่อเราเติบโตมาในยุคของการกินไก่ทอด พิซซ่า เป็นสรณะ การกินข้าวมันทรมาน แต่ถ้าเราได้ตระหนักรู้ทำให้เรากินอาหารที่หลากหลายขึ้น กินผักเพื่อสุขภาพ เพราะความตระหนักอยู่ข้างใน ตระหนักรู้สูงส่งกว่าความรู้ มันมีความเป็นหัวใจอยู่" พี่นิตย์เปรียบเทียบ


การปฏิบัติภาวนายังคงแก่นสาระที่ใช้ในการพัฒนาคน ที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะในสังคมตะวันตกที่ใช้การภาวนามารับมือสุขภาพ (ทั้งกายและจิต) ดังจะเห็นได้จาก จอน คา บาทซิน  (Jon Kabat-Zinn)พัฒนากระบวนการที่เรียกว่า "การใช้สติเพื่อลดความเครียด"  หรือจอนห์ แมคคอนเนล ได้ใช้การเจริญสติภาวนากับงานสันติวิธีมาอย่างต่อเนื่อง และได้เผยแพร่หนังสือที่ได้รับการแปลเป็นไทยว่า คลายเครียดด้วยลมหายใจ


ดร.ธรรมนันท์ บอกว่า การเริ่มต้น กิจกรรมภาวนาคือชีวิตฯ เริ่มจากสุขภาพ อาทิ นำเอาธรรมชาติบำบัดของหมอเขียวเข้ามาดูแลกายและใจ  นอกจากนั้นยังเน้นการเจริญสติภาวนาทั้งในรูปแบบและนอกรูปแบบ ตั้งแต่การเดินและเคลื่อนไหว 14 จังหวะตามแนวทางหลวงพ่อเทียน การใช้จิตตลีลา (ยูริทมี่) โยคะ การวาดภาพระบายสีมานดาลา การเคลื่อนไหวประกอบดนตรีตามแนนีโอฮิวแมทิส  เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้และมีประสบการณ์ในการเจริญสติภาวนา จนตระหนักว่าเป็นส่วนสำคัญของชีวิต


สราวุฒิ พลตื้อ หรือ "ครูตู้" จากโรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ผู้บุกเบิก โครงการจักรยานคุณธรรม ตั้งแต่ปี 2551 ได้เข้าร่วมโครงการภาวนาคือชีวิต เล่าว่าได้รวมกลุ่มเด็กมัธยม จ.กาฬสินธุ์ ที่มีจิตอาสาทำโครงงานขึ้นมา  โดยเอาจักรยานเป็นตัวตั้ง  พร้อมตั้งโจทย์ว่าเมื่อปั่นจักรยานไปยังสถานที่ต่าง ๆ จะเกิดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เน้นปั่นในพื้นที่ชุมชน ให้จักรยานที่ใช้เป็นจักรยานมือ 2 ของญี่ปุ่น ซึ่งแรกเริ่มเป็นจักรยานของครูตู้ ต่อมาเมื่อคนเริ่มเห็นกิจกรรมก็บริจาคมา


ครูตู้บอกว่า จักรยานให้ประสบการณ์กับเด็กมาก อย่างแรกคือเขาได้รู้วิธีที่จะซ่อมแซมจักรยาน ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นที่เขาอยู่ ซึ่งเส้นทางปั่นจะเน้นให้ปั่นแบบวงกลมเพื่อให้เด็กได้ความรู้สึกตื่นเต้น ระยะทางการปั่นแต่ละครั้งราว 20 กม.


จนกระทั่งในปี 2555 ได้นำภาวนาคือชีวิตเข้าไปในกิจกรรมด้วย ให้เด็กรู้จักคำว่า ภาวนาที่ไม่ใช่เพียงการสวดมนต์ทำได้โดยผ่านศิลปะ เช่นการทำมานดาลา เป็นศิลปะแบบทิเบตเพื่อให้รู้จักดึงสติให้กลับมาอยู่กับตัวเอง เมื่อปั่นจักรยานเสร็จก็มาย้อนเล่าความรู้สึกของแต่ละคนว่าเหนื่อยตรงไหน เห็นอะไร รู้สึกอย่างไรก็พูดไปอย่างนั้น ทำบ่อย ๆ เข้าทำให้เด็กกล้าพูดกล้าแสดงความรู้สึก


"กิจกรรมของเราจะไม่แตะเรื่องการเรียนของเขาแต่จะเพิ่มทักษะการพูด การเขียน การฟังอย่างตั้งใจ เด็กนำไปรับไปใช้ในการเรียนของเขา มีเด็กบางคนที่มาร่วมกิจกรรมแม้เรียนในระดับมัธยมศึกษาแต่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ แต่เมื่อได้ผ่านกระบวนการที่เราทำทำให้เขามีความพยายามตอนนี้เขาก็สามารถอ่านออกเขียนได้" ครูตู้เล่า


พลังแห่งภาวนานั่นก่อให้เกิดความมหัศจรรย์ให้กับชีวิตได้


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์


 

Shares:
QR Code :
QR Code