ภารกิจสำคัญกับการเป็นเจ้าภาพ ประชุมกิจกรรมทางกาย
ในเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยได้รับหน้าที่สำคัญ ในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016 : ISPAH 2016 Congress) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่การประชุมนี้ได้ถูกจัดขึ้นในเอเชียและประเทศไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยมีกระทรวงสาธารณสุขและกทม.เป็นเจ้าภาพร่วม โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 19 พ.ย. 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ความพิเศษของการประชุมนี้คือ มีผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายระดับโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน จากกว่า 80 ประเทศ ซึ่งจะมีบทคัดย่องานวิจัยส่งเข้าร่วมกว่า 600 เรื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจในสถานการณ์และความสำคัญของกิจกรรมทางกายในระดับโลก ซึ่งการจัดประชุมดังกล่าวจะช่วยให้ทราบปัญหาสถานการณ์ และนำไปสู่การนำเสนอนโยบายกิจกรรมทางกายในระดับประเทศต่อไป
เพื่อให้เข้าใจในเรื่องความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกาย ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการประชุม ISPAH 2016 Congress ให้ความกระจ่างว่า นับวันปัญหาสาธารณสุขปัจจุบันที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ พฤติกรรมของคนปัจจุบัน ที่กินอยู่ด้วยความเสี่ยง ที่สำคัญ คือ พบว่า คนยุคนี้ถูกตรึงไว้กับหน้าจอ จนเกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง แต่ละวันพบว่าคนจะใช้เวลาติดจอ 6-7 ชั่วโมง โดยรวมแล้วมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง 13.42 ชั่วโมง
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังพบว่า ประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลกประมาณ 1 ใน 4 ยังมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน ส่วนในเด็กที่ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน ก็พบว่าเด็กอายุ 12 – 13 ปี ยังมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ซึ่ง WHO คาดคะเนว่า ถ้าคนเรามีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ จะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกถึงร้อยละ 5.5 หรือประมาณ 3.2 ล้านรายต่อปี
ทำให้แต่ละปีประชากรโลก 35 ล้านคน ต้องเสียชีวิตไปเพราะโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ความดัน มะเร็ง เบาหวาน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมของเราเองทั้งการบริโภคอาหารไม่เหมาะสม ความเครียดสะสม สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ
คำว่า “กิจกรรมทางกาย” จึงเป็นคำที่เริ่มรู้จักมากขึ้น จากเดิมที่เน้นว่า คนเราต้องออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที แต่กิจกรรมทางกาย กล่าวง่ายๆ ก็คือ ทุกกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เพราะทางวิชาการพบข้อมูลสำคัญจากผลการวิจัยจากต่างประเทศพบว่า การอยู่นิ่งๆ เกิน 2 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการนั่งดูทีวี เรียนหนังสือ หรือ ทำงาน เป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคต่างๆ ซึ่งทางการแพทย์ยังพบว่าเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งลำไส้อย่างชัดเจน
กิจกรรมทางกาย (Physical Activity) จึงมีคำจำกัดความว่า คือ “การเคลื่อนไหวอะไรก็ได้ที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่” แบ่งได้เป็น 3 ระดับ
ระดับเบา : การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นระดับการเคลื่อนไหวน้อยมาก เช่น การยืน การนั่ง การเดินระยะทางสั้นๆ
ระดับปานกลาง : การเคลื่อนไหวออกแรงที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มีความหนักและเหนื่อยในระดับเดียวกับการเดินเร็ว ขี่จักรยาน การทำงานบ้าน มีชีพจรเต้น 120-150 ครั้ง ระหว่างที่เล่นยังสามารถพูดเป็นประโยคได้ และมีเหงื่อซึมๆ
ระดับหนัก : การเคลื่อนไหวร่างกายที่มีการทำซ้ำและต่อเนื่อง โดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การวิ่ง การเดินขึ้นบันได การออกกำลัง มีระดับชีพจร 150 ครั้งขึ้นไป จนทำให้หอบเหนื่อย และพูดเป็นประโยคไม่ได้
โดยได้ระบุเวลาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละวัย คือ เด็ก อายุ 6-17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายวันละ 60 นาที หรือ 420 นาที ต่อสัปดาห์ ผู้ใหญ่ อายุ 18-64 ปี ควรมีกิจกรรมทางกาย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ กิจกรรมระดับเหนื่อยมาก 75 นาที และผู้สูงอายุ อายุเกินกว่า 64 ปี ควรมีกิจกรรมทางกาย 150 นาทีต่อสัปดาห์ควบคู่กับการฝึกการทรงตัว
เป้าหมายในการลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั้น ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ได้ถูกบรรจุอยู่ 1 ใน 9 ประเด็นที่ WHO ได้กำหนดเป็นเป้าหมายใหญ่ที่ทั้งโลกจะขับเคลื่อนไปร่วมกัน เพื่อให้ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งลงให้ได้ ร้อยละ 10 ภายในปี 2025 หรืออีก 9 ปี ซึ่งแต่ละประเทศเริ่มมีนโยบายเรื่องการเพิ่มกิจกรรมทางกายขึ้น
ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่ได้เริ่มกำหนดเป้าหมายการทำงานวาระนี้แล้วเช่นกัน สสส. โดยแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย มียุทธศาสตร์การทำงานที่สำคัญ ด้วยการผลักดันให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 คนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ต้องมีกิจกรรมทางกายไม่น้อยกว่าร้อยละ 80และภายในปี 2562 ลดความชุกของภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ10
“การจัดประชุมนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายจากทั่วโลกเข้าร่วม เป็นการส่งสารออกไปทั่วโลกให้เกิดการตื่นตัวและเข้าใจมิติใหม่ของกิจกรรมทางกาย ในส่วนของประเทศไทย เชื่อว่าจะมีผลอย่างมากต่อการผลักดันยุทธศาสตร์ชาติด้านกิจกรรมทางกาย เกิดการขับเคลื่อนในประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับหลายๆประเทศทั่วโลก ที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว” ดร.นพ.ไพโรจน์ เผย
การจะขับเคลื่อนกิจกรรมทางกายต้องอาศัยการมีส่วนร่วมเป็นอย่างมากเพราะต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง โดยเฉพาะการทำให้มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้คนหันมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง และคนรอบข้าง จึงจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในที่สุด