ภาคประชาชน พบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คนใหม่

 

          ประเดิมข้อเสนอเชิงนโยบาย วอนสานต่อนโยบายยุคมหาดไทย หนุนห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วงเทศกาลสำคัญ และร้องเรียนการละเมิดกฎหมายของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฝ่าฝืนโฆษณาที่ปรากฏภาพขวด….ชงปัญหาร้านขายเหล้าเบียร์ เหล้าปั่น สถานบันเทิง แหล่งอบายมุขรุมล้อมโรงเรียนพื้นที่ กทม.

 

          เครือข่ายภาคประชาชน 264 องค์กร ซึ่งดำเนินการรณรงค์ลด ละ เลิก การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำโดยเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ จับมือศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าและองค์กรภาคี เข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิมอยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนุนนโยบายของ ร.ต.อ.เฉลิม ซึ่งเคยดำริไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่จะกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสำคัญๆ อาทิ สงกรานต์ ลอยกระทง หรือปีใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความต้องการส่วนใหญ่ของประชาชน โดยศูนย์วิจัยเอแบคโพล ด้าน นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ให้ข้อมูลสนับสนุนว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทางบกจากการเมาสุรา ในช่วงปีใหม่หรือสงกรานต์ โดยเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง400500 คน และ บาดเจ็บเกือบ 5,000 คน ในแต่ละเทศกาล นั่นคือ มีคนเสียชีวิต 1 คน ทุก 20 นาที และบาดเจ็บ 1 คน ในทุกๆ 2 นาที เกิดความสูญเสียคนวัยหนุ่มสาวซึ่งเป็นกำลังผลิตที่สำคัญต่อครอบครัวและประเทศชาติ อาจเกิดภาระหนี้สินหรือปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของครอบครัวตามมา ทั้งนี้มีหลักฐานยืนยันทางวิชาการว่า มาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบางวันจะมีประสิทธิผลมาก

 

          ด้านนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ ได้ยื่นข้อร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงผลการสำรวจของเครือข่ายที่พบว่าธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ที่ห้ามมิให้มีการโฆษณาที่ปรากฎภาพผลิตภัณฑ์หรือ บรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นการสำรวจในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 7-13 ก.ค. 2551 บนถนนสายหลัก เช่น ลาดพร้าว รามคำแหง รามอินทรา เกษตร-นวมินทร์เป็นต้น พบการฝ่าฝืนโฆษณาภาพผลิตภัณฑ์ ถึง 23 ยี่ห้อ ผ่านสื่อในรูปแบบดังนี้ 1.ป้ายตู้ไฟ 2.ธงราว/ธงญี่ปุ่น 3.แบนเนอร์ 4.บิลบอร์ด 5.ผ้าปูโต๊ะ โดยพบสื่อโฆษณาภาพบรรจุภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายถึง 394 กรณี นายคำรณ กล่าวว่า เป็นเวลา ประมาณ 7 เดือนแล้ว ที่พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ ซึ่งน่าจะเพียงพอ ที่บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะปรับตัวทำตามกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงเราพบการทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย จงใจละเมิด พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างรุนแรง โฆษณามีภาพขวดเกลื่อนเมือง เราจึงหวังว่ารัฐมนตรีว่า คนใหม่ซึ่งมีความเด็ดขาดเป็นทุน จะกล้าลงดาบกับธุรกิจที่ทำผิดกฎหมาย

 

          ในขณะที่มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา โดย นายเจกะพันธ์ พรหมมงคล ได้นำเสนอข้อมูลจากการสำรวจซึ่งพบว่า มีแหล่งมอมเมา ยั่วยุ ตั้งรายล้อมอยู่รอบๆโรงเรียน ในพื้นที่กรุงเทพ จำนวนมากเช่น ร้านเหล้าปั่น ร้านเหล้าเบียร์ สถานบันเทิง ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ รวมไปถึงป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อยู่ในรัศมี 500 เมตรจากโรงเรียน ซึ่งขัดมติ ครม.อย่างชัดเจน เราต้องการให้รัฐมนตรีแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนกลางร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสรรพสามิต เป็นต้น

 

           ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนได้ยื่นข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการ เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และลดปัญหาผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตชองชาติ ดังนี้ 1) ขอให้เดินหน้านโยบายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่นสงกรานต์ ลอยกระทง หรือปีใหม่ โดยใช้อำนาจตามมาตรา 16 (3) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 2) ขอให้นำข้อมูลการร้องเรียนทั้งหมดประกอบการพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย กับบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณาละเมิดกฎหมาย โดยเร่งสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ 3) ขอให้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาบรรดาร้านเหล้าเบียร์ ร้านเหล้าปั่น สถานบันเทิง รวมถึงป้ายโฆษณาเหล้าเบียร์ ที่อยู่ใกล้โรงเรียนจนเกินไป ทั้งๆที่ในเรื่องป้ายโฆษณา มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดเขตปลอดการโฆษณาเหล้าเบียร์ ไว้แล้วอย่างชัดเจน 4) ขอให้เร่งรัดให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเร็ว โดยเฉพาะการแต่งตั้งกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในส่วนของผู้แทนองค์กรเอกชน ตามมาตรา 10 (4) นายคำรณกล่าว

 

 

 

 

 

รายชื่อเครือข่ายภาคประชาชน

เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และองค์กรภาคี 264 องค์กร

เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายวิชาการความปลอดภัยทางถนน

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาแอลกอฮอล์ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา

เครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อนหญิง

เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา

เครือข่ายพลังชุมชน กทม. ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครือข่ายละครรณรงค์งดเหล้า เครือข่ายหัวกะทิสร้างสร้างสรรค์

เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์รู้ทันแอลกอฮอล์ และองค์ก รภาคี

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

 

 

 

Update 07-10-51

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code